xs
xsm
sm
md
lg

“วีรพัฒน์” แจง กมธ.รอง ปธ.วุฒิฯ ทำหน้าที่ถอดถอนได้ ยกเป็นบทบัญญัติเฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ(แฟ้มภาพ)
กมธ.กิจการองค์กรตาม รธน.พิจารณาข้อ กม.ส.ว.เลือกตั้งสิ้นสมาชิกภาพ เชิญ “วีรพัฒน์” ให้ความเห็น ชี้ ม.117 วรรค 3 ให้ ส.ว.อยู่ครบวาระอยู่ต่อจนมี ส.ว.ใหม่ แนะควรยึดเอาวันที่ กกต.รับรอง และปฏิญาณตนต่อที่ประชุมวุฒิสภาถึงเป็น ส.ว.ใหม่สมบูรณ์ ยัน รอง ปธ.วุฒิฯ ทำหน้าที่แทน ปธ.วุฒิฯ เพื่อพิจารณาถอดถอน ตามมาตรา 132 ที่ ป.ป.ช.ชงได้ ระบุ เป็นบทบัญญัติเฉพาะที่ให้ ส.ว.ทำได้ ไม่ขัด ม.273 แต่อย่างใด

วันนี้ (25 มี.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มี นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย กรณี ส.ว.เลือกตั้งสิ้นสุดสมาชิกภาพ เมื่อถึงคราวออกตามวาระ โดยมีเชิญ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ เข้าให้ความเห็นทางกฎหมายและตอบคำถามข้อซักถามของคณะ กมธ.โดย นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับการตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 117 วรรคสาม เมื่อ ส.ว.เลือกตั้งสิ้นสุดสมาชิกภาพ แล้วจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งตามความเห็นของตน ตามมาตรา 117 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติเชิงบังคับให้ ส.ว.ที่อยู่ครบวาระ หรือสิ้นสมาชิกภาพต้องดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่สืบเนื่องต่อไปจนกว่าจะมี ส.ว.ขึ้นใหม่ ซึ่งการตีความเช่นนี้เป็นการตีความที่สอดคล้องกันกับเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์พื้นฐานของรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะจะต้องตีความให้สืบเนื่องกับสถาบันทางการเมืองไม่ใช้ที่ตัวบุคคล เพราะความเป็น ส.ว.ไม่ได้ผูกติดอยู่ที่ตัวบุคคล แต่ต้องถูกกำหนดไว้ที่สถาบันทางการเมือง แม้ว่าจะไม่มีตัว ส.ว.อยู่ แต่วุฒิสภายังถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่ดำรงคงอยู่ต่อไป

นายวีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อต้องการให้การสืบทอดอำนาจไม่มีการสะดุด แต่ก็มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามสถาบันนั้นๆ ด้วย ซึ่งการมีมาตรา 117 ก็เพื่อไม่ต้องการให้การใช้อำนาจต้องสะดุดหยุดลงหรือเกิดช่องว่างแต่อย่างใด แต่ปัญหาเกิดขึ้นก็คือ ตามมาตรา 117 ไม่ได้กำหนดว่า ส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งมาใหม่จะมีสภาชิกภาพเป็น ส.ว.เมื่อใด จึงต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือสมาชิกภาพที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันเลือกตั้งแล้ว ซึ่งเป็นสภาวะทางกฎหมาย แต่ต้องอาศัยสภาวะข้อเท็จจริงประกอบด้วย ซึ่งต้องอาศัยแนวจารีตและประเพณีตามกฎหมายที่สืบต่อกันมา ซึ่งตามประเพณีที่ผ่านๆมา ตามความเห็นตนนั้น ควรยึดเอาวันที่ กกต.ประกาศรับรอง แล้วไปกล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมวุฒิสภาถึงจะปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.ได้โดยสมบูรณ์

จากนั้น คณะ กมธ.ได้สอบถามกรณีที่ ป.ป.ช.จะส่งหนังสือถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญตาม โดยมีประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยุบสภา อีกทั้ง ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานวุฒิสภา หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีผู้ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ แล้วจะจัดการอย่างไร

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ตามมาตรา 132 เป็นบทบัญญัติเฉพาะเจาะจงที่นำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรอยู่หรือถูกยุบไป ซึ่งจะเหลือแต่วุฒิสภาเหลืออยู่ ซึ่งตามความในมาตรา 132 ก็เปิดช่องให้วุฒิสภาสามารถประชุมเองได้ โดยมีการกำหนดเรื่องจำเป็นสำคัญไว้ 3 กรณี แม้จะเป็นการประชุมนอกสมัยประชุมก็ตาม ซึ่งการพิจารณาเพื่อมีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็น 1 ใน 3 กรณีที่ มาตรา 132 กำหนดไว้ ซึ่งการตีความเช่นนี้เป็นการตีความเพื่อการสอดคล้องเชื่อมโยงประหนึ่งเป็นข้อยกเว้นพิเศษของกรณีทั่วไป ดังนั้น แม้จะประธานวุฒิสภาจะถูกชี้มูลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งยังดำเนินการได้ตามมาตรา 132(3) เพราะเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจวุฒิสภาเป็นการเฉพาะในกรณีนี้ไว้แล้ว ไม่เกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ดังนั้นตามความเห็นของตนคิดว่าในกรณีนี้ รองประธานวุฒิสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาได้ แต่ก็มีคำถามตามมาว่ากรณีดังกล่าวจะไปขัดแย้งต่อมาตรา 273 หรือไม่ ซึ่งตนคิดว่า มาตรา 273 เป็นกรณีที่ใช้เป็นการทั่วไป แต่ถูกยกเว้นได้ในกรณีเฉพาะตามมาตรา 132 ไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น