xs
xsm
sm
md
lg

ดิจิตอลหั่นโฆษณา50%สู้ฟรีทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “พีพีทีวี”จัดเต็ม ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ลุยดิจิตอลทีวีเต็ม 24ชั่วโมง ดีเดย์ 7เม.ย.นี้ โชว์โรดแมพที่แตกต่างด้วยเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มปราสาททองโอสถ มั่นใจเดูดเม็ดเงินโฆษณาได้ง่ายขึ้น หวัง3ปี กวาดรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

“พีพีทีวี” ถือเป็นกลุ่มธุรกิจบรอสคาสติ้งล่าสุด จากกลุ่มปราสาททองโอสถ ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จากก่อนหน้านี้มีธุรกิจหลักอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่จัดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนอันดับ1 ของเอเชีย และอันดับสามของโลก 2. สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่จัดอยู่ในสายการบินเอกชนอันดับ 3 ของโลก ซึ่งนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มีความใฝ่ฝันต้องการเข้ามาดำเนินธุรกิจด้านบรอดคาสติ้งมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบันนี้มีช่องพีพีทีวีแล้ว

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (BMB) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง PPTV HD ช่อง36 เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มทดลองออกอากาศทางทีวีดาวเทียมมาบ้างแล้ว และหลังจากประมูลดิจิตอลทีวี ประเภท HD วาไรตี้ ช่อง 36 มาได้ ช่องPPTV จึงได้รวมเข้ากับช่อง อิน แชนแนล โดยจะพร้อมออกอากาศในวันที่ 7 เม.ย. นี้ แบบ 24 ชั่วโมง และรีรันเพียงวันละ 2 ชั่วโมง วางตำแหน่งเป็นสถานีโทรทัศน์พรีเมียมแมส จับกลุ่ม 19-50 ปี ด้วยคอนเซ็ปต์ช่อง Fun Knowledge & Activity

อย่างไรก็ตาม PPTV ถือเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่อุตสาหกรรมบรอดคาสติ้งไทย จึงต้องสร้างจุดขายที่แตกต่างและต้องแข่งขันกับรายอื่นๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมฯไม่ต่ำกว่า 100 ช่อง ประกอบด้วย ดิจิตอลทีวี 24 ช่อง ฟรีทีวี 6 ช่อง และทีวีดาวเทียมอีก 100 กว่าช่องให้ได้ โดยPPTV มีจุดแข็งในเรื่องของเครือข่าย จากธุรกิจในเครือทั้งกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่จะมีการติดตั้งจอโทรทัศน์เพิ่ม และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่จะมีจอโทรทัศน์ทั้งบนภาคพื้นและภายในเครื่องบินด้วยเช่นกัน จะเป็นดิสทริบิวชั่นที่ดีช่วยเพิ่มจำนวนอายส์บอล หรือจำนวนผู้ชม และเรื่องการทำมาร์เก็ตติ้งแคมเปญที่จะมีทั้งการทำแคมเปญแบบออนแอร์ และออนกราวด์ได้เป็นอย่างดี จากการซื้อสื่อโฆษณาที่เปลี่ยนไป ขายแบบแพกเก็จมากขึ้นแทนการขายสปอตโฆษณาแต่เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ PPTV ได้วางนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน 3 ปีแรก โดยจะเน้น 6 เรื่องหลัก คือ 1.การสร้างโพซิชั่นนิ่งและคาเรคเตอร์ ของสถานี 2.การบริหารคอนเทนต์ และผังรายการ 3. การวางโครงสร้างองค์กรและบุคลากร เน้นทักษะ มัลติ สกิล 4.นำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาสนับสนุนการออกอากาศ 5.เฟ้นหาคอนเทนต์ พาร์ทเนอร์ ทั้งไทยและต่างประเทศ และ 6.วางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด

โดยในปีแรกนี้พร้อมใช้งบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.บริหารคอนเทนต์ 1,000 ล้านบาท และ 2.สตูดิโอ/เครื่องมือ ที่เป็นต้นทุนคงที่อีก 1,000 ล้านบาท เชื่อว่าจากเดิมปีแรกน่าจะมีรายได้เข้ามา 1,000 ล้านบาท แต่จากความล่าช้าในหลายๆเรื่อง จึงน่าจะอยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยยังคงตั้งเป้าใน 3 ปีจะขึ้นเป็น 1ใน 2 ของอุตสาหกรรมทีวีรวมในทุกแพลทฟอร์มได้ ด้วยเรตติ้งผู้ชมที่ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีรายได้ในปีที่ 3 ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมคืนทุนใน 5 ปี

ส่วนรูปแบบผังรายการระยะแรก จะเน้นผลิตเอง 50% และจ้างผลิต/ซื้อคอนเทนต์ 50% โดยขณะนี้มีผู้ผลิตรายการเข้าร่วมกว่า 20 รายการ ส่วนใหญ่เป็นรับจ้างผลิต เช่น ทีวีบูรพา 7 รายการ, เน็ก แอนด์ เดอะซิตี้ 2 รายการ เป็นต้น โดยทางสถานีฯจะเป็นผู้หารายได้เองทั้งหมด ภายใต้เรตราคาโฆษณาที่ตั้งไว้เบื้องต้น ช่วงไพร์มไทม์หลังเวลา 20.00 น. ราคา 2.5 แสนบาท/นาที ต่ำกว่าฟรีทีวี 50% และนอนไพร์มไทม์อยู่ที่ 1.2 แสนบาท/นาที ต่ำกว่าฟรีทีวี 50% เช่นกัน

นายเขมทัตต์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมธุรกิจวิทยุโทรทัศน์มูลค่า 100,000 ล้านบาทนั้น ภายใน 5 ปีเมื่อรวมกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โฮมช้อปปิ้ง, สตูดิโอ, ผลิตรายการ, เซท ท็อปบ็อกซ์ น่าจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาท แต่เฉพาะธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ เชื่อว่าจะขยับเพิ่มเป็น 1.2-1.5 แสนล้านบาทได้ และใน 5 ปียังมองว่า ดิจิตอลทีวีจะเหลือเพียง 7 กลุ่มใหญ่เท่านั้น จากทั้งหมด 24 ช่อง ใน 4 ประเภทรายการ
กำลังโหลดความคิดเห็น