xs
xsm
sm
md
lg

ประมุขสงฆ์40ประเทศทั่วโลก ร่วมน้อมส่ง“สมเด็จเกี่ยว”สู่สุคติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในหลวง โปรดเกล้าฯ สมเด็จพระเทพฯเสด็จแทนพระองค์ พระราชทานเพลิงสมเด็จพระพุฒาจารย์ ขบวนเชิญพระโกศศพ “สมเด็จเกี่ยว” ยิ่งใหญ่ มีประมุขสงฆ์ 40 ประเทศทั่วโลก พุทธศาสนิกชนทุกสารทิศน้อมส่งสู่สุคติในสัมปรายภพ

วานนี้ (9 มี.ค.) เมื่อเวลา 07.00 น. ที่ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ มีพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ก่อนจะเชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ขึ้นรถวอจัตุรมุข ไปเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อประกอบพิธีพระราชทานเพลิงในเวลา 17.00 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชทานเพลิงศพ

โดยช่วงเช้ามีพิธีบำเพ็ญกุศลสวดอภิธรรมศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป จากนั้นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 100 รูปพิจารณาผ้าไตรบังสุกุล พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูปถวายพรพระ จบแล้วรับพระราชทานฉัน จากนั้นมีการถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสามเณร 500 รูป พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่สวดอภิธรรมศพสมเด็จพระพุฒาจารย์อยู่นั้น เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมรถขบวน และรถวอจัตุรมุขเชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ให้มีความพร้อมก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินฯ ในเวลา 13.00 น.เป็นอันเสร็จพิธีช่วงเช้า ส่วนบรรยายกาศตั้งแต่ช่วงเช้ามีคณะพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจำนวนมาก และศิษยานุศิษย์ พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนแต่งชุดขาว ทยอยเดินทางเข้ามาสักการะศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ และวางดอกไม้จันทน์บริเวณลานจอดรถ หน้าศาลาการเปรียญ อย่างเนื่องแน่น

เมื่อเวลา 12.30น. เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ขึ้นรถวอจัตุรมุข และเวลา 13.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวนโดยขบวนเชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประกอบด้วย 1.ขบวนหลวง มีรถพระนำ 2 คัน ขบวนรถโบราณเชิญพัดยศ ตามด้วยรถวอจัตุรมุขเชิญโกศ รถโบราณเชิญเครื่องทองน้อย รถผู้อัญเชิญเครื่องยศ–อัฐบริขาร ประกอบด้วย พระสุพรรณบัฏ ขันน้ำมีฝาชีหุ้มผ้าขาว คนโฑ กาน้ำทรงกระบอก กระโถนเล็กทรงกระทาย ถาดล้างหน้า กระโถนปากแตร พานหมาก หีบตราจักรี และบาตร โดยในขบวนนี้มีข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และข้าราชการกองทัพบก ร่วมเดินในขบวน

2.ขบวนเกียรติยศ นำโดยพุทธศาสนิกชนชุดขาว ถือพานพุ่มสายสิญจน์ พานดอกบัว เครื่องทองน้อย พานปักพัดยศสมเด็จ กรวยกระทงดอกไม้ พานพุ่มดอกไม้จันทน์ จากนั้นเป็นขบวนพระสงฆ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ถือดอกไม้จันทน์ ตามด้วยรถพระพุทธรูป รถหลวงพ่อ ซึ่งมีหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์นั่งบนเก้าอี้ด้วย ต่อด้วยขบวนพระสงฆ์จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ พระธรรมฑูตจากวัดต่างๆทั่วโลก ผู้นำสงฆ์ ประธานสงฆ์จากนิกายต่างๆ ซึ่งแต่งกายและห่มจีวรตามแบบฉบับของแต่ละนิกายเต็มยศ ตามพุทศาสนิกชน ร่วมเดินขบวนด้วย โดยเส้นทางเชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น ใช้เส้นทางจากวัดสระเกศฯ เลี้ยวขวาสี่แยกแม้นศรี ตรงไปตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวขวาแยกกษัตริย์ศึก ไปถนนกรุงเกษม เลี้ยวขวาแยกนพวงศ์ ตรงไปตามทางถนนหลวง ก่อนเลี้ยวขวาเข้าวัดเทพศิรินทราวาส ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ ซึ่งขบวนเชิญโกศศพไปตามเส้นทางดังกล่าว ตลอดสองข้างทางได้มีพุทธศาสนิกชนยืนพร้อมพนมมือไหว้ น้อมส่งสมเด็จพุฒาจารย์สู่สุคติในสัมปรายภพ

เมื่อขบวนเชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์มาถึงยังเมรุหลวงฯ ได้มีการปรับขบวนเหลือเพียงขบวนหลวง จากนั้นเคลื่อนขบวนวนซ้ายเมรุหลวงฯ 3 รอบก่อนที่จะเชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ขึ้นตั้งบนจิตกาธาน เมรุหลวงฯ ทั้งนี้บรรยากาศภายในงานมีพุทธศาสนิกเฝ้ารอเข้าร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นจำนวนมาก ภายในงานได้แจกของที่ระลึก อาทิ หนังสือภาพเล่าเรื่องประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ พร้อมด้วยพระผงหลวงพ่อดวงดี และล็อคเก็ตรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้แก่พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมงานด้วย ส่วนบรรยากาศภายในวัดเทพศิรินฯ มีประชาชนและศิษยานุศิษย์จำนวนมาก เดินทางมาวางดอกไม้จันทน์ ซึ่งมีการจัดไว้ทั้งหมด 3 จุดคือ 1.บริเวณเมรุหลวง 2.บริเวณเมรุเล็ก และ3.ที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ

สำหรับพิธี วันที่ 10 มี.ค. เวลา 07.00 น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 3 รูป พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล และรับพระราชทานภัตตาหารสามหาบในการเก็บอัฐิ จากนั้นเวลา 08.00 น. เชิญอัฐิสมเด็จพระพุฒาจารย์ กลับยังวัดสระเกศฯ โดยใช้เส้นทาง ถ.หลวง ผ่านห้าแยกพลับพลาไชย แยกโรงพยาบาลกลาง เลี้ยวขวาสี่แยกวรจักร เคลื่อนขบวนไปตามถ.วรจักร ผ่านสี่แยกแม้นศรี ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าสู่วัดสระเกศฯ

พระพรหมสุธี (เสนาะ ปัญญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) กล่าวว่า ช่วงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 10 มี.ค.จะมีพิธีเชิญอัฐิสมเด็จพระพุฒาจารย์ จากเมรุหลวงฯ กลับยังวัดสระเกศฯ โดยหลังจากมีการสวดพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิเสร็จแล้วจะมีการนำอัฐิของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ไปเก็บไว้ยังตำหนักสมเด็จฯ โดยตั้งไว้เคียงคู่กับอัฐิของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) อดีตสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ซึ่งเป็นคำสั่งของสมเด็จพระพุฒาจารย์เองที่เคยพูดกับตนเมื่อ10 ปีก่อน ว่าหากว่ามรณภาพเมื่อใด ไม่ต้องสร้างเจดีย์ ให้นำอัฐิไปวางไว้ใกล้ๆ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งเป็นทั้งพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์

พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวว่า ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น มีสังฆราชและผู้นำสงฆ์จากนิกายมหายานและเถรวาทจากประเทศต่างๆ กว่า 120 รูป/คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก เดินทางมาร่วมพิธีเพื่อร่วมแสดงความอาลัยแด่สมเด็จพระพุฒาจารย์ อาทิ อัครสังฆราช เทพวงศ์ จากกัมพูชา พระธรรมทานาจารย์ จิงสิน ไต้หวัน พรธรรมทานาจารย์ ก๊กกวง จากฮ่องกง พระอาจารย์มหาผ่อง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และยังมีคณะสงฆ์จากมหายาน อาทิ พระอาจารย์จีนปัญญาประชานุสิฐ (เจียง) วัดเฉาอิน (เฉาอินซึ ) ไต้หวัน พระอาจารย์จีนราชธรรมานุสิฐ (ฝ่าจ้าว) วัดพระเขี้ยวแก้ว สิงคโปร์ พระอาจารย์จีนวิเทศศาสนานุสิฐ (หยิง ซุน) วัดหงฝ่าซื่อ เซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน พระอาจารย์จีนวิเทศศาสนานุศาสน์ (หุ้ยสง) วัดวิหารมหาวีระกราหาผู่สัก อินโดนิเซีย พระอาจารย์โอโนะ วัดโอทาคาจิ เมืองอิบารากิ ญี่ปุ่น นอกจากนี้มีพระธรรมทูตไทยจาดวัดต่างทั่วโลก เช่นพระธรรมทูตไทยสายสหรัฐอเมริกา สายยุโรปและสแกนดิเนเวียร์ สายออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ สายอินเดีย-เนปาล สายสิงคโปร์-มาเลเซีย-พม่า-ญี่ปุ่น สายตะวันออกกลาง-แอฟริกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ ที่เดินทางมาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงสมเด็จพระพุฒาจารย์ ต่างให้ความสนใจและเข้าแถวรับแจกของที่ระลึกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางวัดจัดเตรียมไว้แจก ได้แก่ 1.พระไตรปิฎก ฉบับที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีบัญชาให้ชำระโดยมหาเถรสมาคม (มส.) จัดพิมพ์พระไตรปิฎก ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี ฉบับเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 2.หนังสือภาพเล่าเรื่องประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ 3.หนังสือประวัติวัดสระเกศฯ และประวัติพระบรมสารีริกธาตุ 4.หนังสือเย็นหิมะในรอยธรรมเป็นหนังสือที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ สะท้อนถึงแนวคิดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ 5.สมันตปาสาธิกา เป็นผลงานแปลของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยหนังสือสมันตปาสาทิกา เป็นคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายขยายความพระวินัยปิฎกและสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้แปลไว้ตั้งแต่ปี 2497 เมื่อครั้งเป็นครูสอนบาลีประโยค ป.ธ. 7 และได้ถูกนำมาตีพิมพ์ เป็นหนังสือที่ระลึกในวาระออกพระเมรุ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) เมื่อปี 2508 ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเรียนบาลีประโยคป.ธ. 7 เป็นอย่างมาก นอกจาก
นี้กลุ่มศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันจัดทำ วัตถุมงคลเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนอีก 4 รายการ กว่า 300,000 องค์ ได้แก่ พระผงหลวงพ่อดวงดี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาส 85 ปี สมเด็จพระพุทฒาจารย์ 100,000 องค์ ล็อคเก็ตรูปสมเด็จพระพุทฒาจารย์ 100,000 ชิ้น เหรียญสมเด็จพระพุฒาจารย์ที่ระลึกวันออกเมรุ 50,000 องค์ และพระผงสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่ระลึกวันออกเมรุ 50,000 องค์ อย่างไรก็ตามของที่ระลึกได้แจกหมดตั้งแต่เวลา 12.00 น.

ด้าน นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลและภาพในพระราชทานเพลิงสมเด็จพระพุฒาจารย์ ระหว่างวันที่ 7-10 มีนาคม หลังจากเสร็จพิธีทั้งหมดสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จะร่วมกับวัดสระเกศฯ จัดทำเป็นจดหมายเหตุสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพราะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ ที่จะให้คนรุ่นหลังศึกษาและเรียนรู้ เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีประชาชนเคารพนับถือจำนวนมาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น