xs
xsm
sm
md
lg

หัวใจของประชาธิปไตยและพลังงานอยู่ที่เดียวกัน!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

สัปดาห์นี้ผมมีสองเรื่องที่จะนำเสนอครับ เรื่องแรกว่าด้วยหลักการสำคัญหรือหัวใจของประชาธิปไตยและหัวใจของพลังงานซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องที่สองอาจเป็นเรื่องส่วนตัวเล็กน้อย คือเรื่องหนังสือรวมบทความเล่มใหม่ที่ผมเขียน พูดง่ายๆ ก็คือผมอยากจะขายหนังสือ

เอาเรื่องแรกก่อนนะครับ

ในโอกาสที่ “มวลมหาประชาชน” ภายใต้การนำของ กปปส.ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทย จนถึงขั้นทวงอำนาจอธิปไตยของประชาชนคืนมาจากนักการเมืองด้วยการปฏิรูปครั้งใหญ่ในหลายๆ ด้าน

ขณะเดียวกันก็ได้เกิดกระแสสังคมที่สนใจประเด็นพลังงานได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานพร้อมไปในคราวเดียวกัน

ความจริงแล้วกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปพลังงานได้เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมออนไลน์และสื่อเล็กๆ อย่างเอเอสทีวีผู้จัดการ เป็นต้น

ถ้ากล่าวในนามองค์กรภาคประชาชน บทบาทสำคัญก็น่าจะได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีการฟ้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) การหยุดการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จนถึงการออกเอกสาร “พลังงานไทย พลังงานใคร?” ของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผมแล้ว ผมเห็นว่า คำว่า “พลังงาน” ในทุกการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่ได้ครอบคลุมเรื่องทั้งหมดของ “พลังงาน” เพราะไปมุ่งเน้นที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และเน้นเฉพาะ 2 เรื่อง คือ (1) ความเป็นธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ และ (2) ความเป็นธรรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ปตท. (มหาชน) จำกัด เช่น ราคาน้ำมันแพง การขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอย่างมีเงื่อนงำและผูกขาด ซึ่งประชาชนก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดีจนกลายเป็นกระแสสังคมในระดับหนึ่ง

ผมเองเห็นด้วยและรู้สึกยินดีกับผู้เคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ผมมี 2 อย่างสำคัญที่ผมเห็นว่าควรจะเสริมให้เกิดความสมบูรณ์ในการเคลื่อนไหวทางความรู้ดังกล่าว คือ (1) ผลกระทบของพลังงานที่มาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ผมขอจัดให้เป็นกลุ่มพลังงานฟอสซิลซึ่งรวมถ่านหินเข้าไปด้วย) และ (2) การปิดกั้นหรือกีดกันเชิงนโยบายในการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งได้แก่พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวลและพลังงานน้ำขนาดเล็ก

ผมเคยพูดกับแกนนำพันธมิตรประชาชนชนเพื่อประชาธิปไตย (รุ่นสอง) ท่านหนึ่งว่า “ในฐานะที่เป็นอาจารย์ ถ้าคุณสามารถเอา ปตท.ซึ่งได้ถูกแปรรูปไปแล้ว กลับคืนมาเป็นของรัฐได้ ผมจะให้คุณได้เกรดบีเท่านั้น” เมื่อผู้ฟังรู้สึกงงๆ ผมจึงเสริมว่า

“ถ้าคุณอยากได้เกรดเอ คุณต้องเอาสิทธิที่เคยเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนในการใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์ แล้วได้ถูกพ่อค้าพลังงานปล้นไป กลับคืนมาด้วย”


เรื่องสิทธิที่เท่าเทียมของมนุษย์ทุกคนเป็นหลักการสำคัญในข้อแรกของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (2492) ได้ประกาศว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาอย่างอิสระ มีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”

เรื่องความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีเป็นเรื่องเชิงสังคม ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่ในเรื่องความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิ ผมเห็นว่าธรรมชาติได้จัดสรรมาให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทะเล ภูเขา และสิทธิที่เรามักจะมองข้ามไปโดยไม่รู้ตัว ก็คือสิทธิจะได้ใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์ ซึ่งถ้าจะกล่าวเทียบกับสิทธิในการเลือกตั้งที่ว่า “หนึ่งคน หนึ่งเสียง” พระอาทิตย์ก็ได้ให้สิทธิที่เท่ากันกับทุกผู้ทุกนามคือ “ทุกหัวอย่างเท่ากันและเพียงพอ” แต่ทำไมสิทธิในการใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์ของมนุษย์จึงได้ถูกกลุ่มพ่อค้าพลังงานปล้นไปเฉยเลยละ!

สหประชาชาติเองก็ไม่ได้สนใจที่จะรักษาสิทธิของมนุษยชาติที่ตนเองได้ประกาศไปเมื่อ 65 ปีมาแล้ว เพราะตนเองก็ใช่ว่าจะเป็นอิสระ แต่นับวันได้ถูกกลุ่มพ่อค้าพลังงานครอบงำอยู่เช่นกัน และมากขึ้นทุกขณะ

อย่าว่าแต่คำประกาศเมื่อ 65 ปีก่อน แม้แต่หลักปฏิบัติร่วมกันเพื่อลดสภาวะโลกร้อนซึ่งมีพยานหลักฐานจริงเชิงประจักษ์ว่าสภาวะสิ่งแวดล้อมของโลกได้เลยจุดวิกฤตมามาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติเลย ทั้งๆ ที่ได้ตกลงร่วมกันว่าจะปฏิบัติในปี 2548 และประเทศที่ไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโตดังกล่าวก็คือสหรัฐอเมริกาซึ่งมีกลุ่มพ่อค้าพลังงานขนาดยักษ์อยู่เบื้องหลังนั่นเอง

ทำไมผมจึงได้กล่าวว่า “หัวใจของประชาธิปไตยและหัวใจของพลังงานอยู่ที่เดียวกัน!”

ถ้าเราเชื่อว่าหัวใจของ “ประชาธิปไตย” คือการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น หัวใจของ “พลังงาน” ก็คือการกระจายแหล่งพลังงานและการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงานของประชาชน

พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่รวมศูนย์ มันอยู่ลึกลงไปจากผิวดิน ผิวน้ำนับหลายพันเมตร ดังนั้น จึงมีคนไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ แต่พลังงานหมุนเวียนจากดวงอาทิตย์มันอยู่แค่ศีรษะเรานี่เอง ทุกคนสามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย แต่ทำไมเราจึงถูกกีดกันไม่ให้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งมีค้นทุนในการผลิตต่ำลงมาก

พลังงานฟอสซิลจึงเป็นพลังงานที่เป็นเผด็จการ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่เป็นประชาธิปไตย

คนไทยใช้พลังงานปีละประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่มีการจ้างงานในภาคธุรกิจพลังงาน (ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า) เพียงไม่เกิน 1% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ ในขณะที่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างเดียวในประเทศเยอรมนีมีการจ้างงานถึงเกือบ 4 แสนคน เรื่องพลังงานจึงเป็นเรื่องของการจ้างงานและความเหลื่อมล้ำซึ่งกำลังเป็นปัญหาหลักของประเทศและของโลกด้วย

นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนประมาณ 72% มาจากการเผาพลังงานฟอสซิล ซึ่งมนุษย์สามารถหลีกไปใช้พลังงานหมุนเวียนได้ โดยที่ต้นทุนในหลายชนิดกลับถูกกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว

กระทรวงพลังงานของไทย โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้เปิดโครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านจำนวน 100 เมกะวัตต์ แต่มีกติกาหยุมหยิมจนแทบไม่มีใครสนใจ ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้ติดตั้งไปแล้ว (เช่น อาคารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) กลับไม่ได้รับการส่งเสริม ทั้งๆ ที่มีเหตุผลหนึ่งของโครงการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหลังคาบ้านอาคารและช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ในด้านผลกระทบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นักวิทยาศาสตร์ได้คาดหมายว่าอีกไม่นานโลกจะเข้าสู่ “3-6-9 หายนะโลก” กล่าวคือ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส (จากยุคก่อนอุตสาหกรรม ขณะนี้สูงแล้ว 1.2 องศา ) และ “การสูญเสียสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ครั้งที่ 6” (ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อ 65 ล้านปีมาแล้วซึ่งเกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนโลก) และ “ประชากรโลกถึง 9 พันล้านคน” (ซึ่งจะเกิดในปี 2050 ปัจจุบันมีประชากร 7 พันล้านคน)

ทุกครั้งที่โลกสูญเสียสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ สาเหตุมาจากนอกโลก แต่ครั้งหน้าคือครั้งที่ 6 จะเกิดจากน้ำมือของคนในโลกเรานี้เอง

ยังไม่มีใครตอบได้ว่า “3-6-9 หายนะโลก” จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่จากการศึกษาพบว่า ภายในปี 2050 สิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์อีกไม่น้อยว่า 1 ล้านชนิด (สปีชีส์) อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัวนะครับ อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ถึงกับกล่าวว่า

“ถ้าผึ้งหายไปจากโลกในวันนี้ อีกไม่เกิน 4 ปี มนุษย์จะสูญพันธุ์ตามไปด้วย เพราะว่า 1 ใน 3 ของธัญพืชที่มนุษย์ใช้บริโภคเกิดจากการผสมเกษรโดยผึ้ง”

ผมได้พยายามนำเสนอเรื่องพลังงานหมุนเวียนมายาวนาน แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร แม้กระทั่งในกลุ่มคนที่สนใจพลังงานด้วยกัน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะผมนำเสนอไม่ดี หรือเพราะว่าเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป บางท่านบอกว่าผมเสนอในสิ่งที่เป็นอุดมคติเกินไป

จะว่าเรื่องที่ผมนำเสนอเป็นเรื่องไกลตัวเกินไปก็ไม่ใช่ เพราะในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2013) ที่เสนอโดยข้าราชการและนักเมืองโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ได้กำหนดจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ (มากกว่า 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน) ส่วนใหญ่จะก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหารทะเลและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก

ที่น่าแปลกกว่านั้นก็คือ ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งนักการเมืองได้ไปซื้อเหมืองถ่านหินไว้แล้ว เราต้องใช้พลังงานไปขุด ไปขนส่งไกลข้ามโลก ในขณะที่พลังงานแสงแดดไม่ต้องขนส่ง ไม่ก่อมลพิษ

อ้อ ยังมีประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเปิดโอกาสให้มีการใช้พลังงานถ่านหินซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่และรวมศูนย์ โรงไฟฟ้าแต่ละโรงมีมูลค่า 4-5 หมื่นล้านบาท จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองสามารถคอร์รัปชันได้มาก และได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่พลังงานแสงแดดถึงมีการโกงก็ได้ไม่มากนัก

ในขณะที่ประชาชนในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ก็ร่วมกันคัดค้านจนรัฐบาลต้องประกาศทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าและงดสร้างโรงใหม่นับ 100 โรง แม้แต่รัฐบาลพม่าซึ่งเราเชื่อว่าเขาเป็นเผด็จการ แต่เขาก็ประกาศยกเลิกถึง 4 พันเมกะวัตต์เมื่อประชาชนคัดค้าน

ถ้าไม่เอาถ่านหินแล้วจะเอาอะไร

ผมได้เรียนมาหลายครั้งแล้วว่า ทั้งๆ ที่ประเทศเยอรมนีมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่รัฐบาลประเทศเยอรมนีได้สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างแข็งขัน กล่าวคือ ถ้าสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้านในเยอรมนีมาใช้ในบ้านเรา จะสามารถใช้ได้ถึง 17 จังหวัดภาคเหนือและ 14 จังหวัดภาคใต้รวมกัน

นี้ยังไม่นับว่าพิษภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ทำลายสุขภาพและแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านและแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร

ในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ในตอนกลางคืนจะเอาแสงแดดที่ไหนมาผลิตไฟฟ้า หรือในช่วงที่ฝนตกหนักติดต่อกัน 3-4 วันจะทำอย่างไร

ขณะนี้ได้มีการผลิตโรงไฟฟ้าจากแสงแดด โดยใช้กระจกรับแสงให้ไปรวมกันเพื่อต้มน้ำให้เกือบเดือด จากนั้นก็ใช้เกลือชนิดหนึ่งเติมลงไป จะทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นถึง 500 องศาเซลเซียส และสามารถเดือดอยู่ได้นานหลายวัน

โดยสรุปก็คือ ในเชิงเทคโนโลยีแล้ว การผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์สามารถนำไปแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 7 วันในสัปดาห์ ทั้งนี้มีตัวอย่างที่เป็นจริงแล้วในหลายประเทศ โดยที่ต้นทุนการผลิตอาจจะยังสูงอยู่บ้างเล็กน้อย แต่นับวันจะมีราคาลดลง (ประมาณ 10% ต่อปี) ในขณะที่ต้นทุนพลังงานฟอสซิลจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2% ต่อปี

จึงไม่ต้องห่วงครับ ที่น่าห่วงก็คือเรื่องทำนองนี้ได้ถูกปิดกันไม่ให้ประชาชนรับรู้ โดยสื่อที่รับเงินจากพ่อค้าพลังงานฟอสซิล

ขอมาเรื่องที่สองคือเรื่องหนังสือเล่มใหม่ของผมครับ

เล่มบนสุดเป็นเล่มที่เพิ่งพิมพ์ใหม่เป็นการรวมบทความที่ส่วนใหญ่ได้ลงในเอเอสทีวีผู้จัดการ บางส่วนจากประชาชาติธุรกิจ

ในรูปเป็นหนังสือที่ผมเขียน 3 เล่มครับ สองเล่มล่างหมดไปนานแล้วครับ คือ “ปิโตรธิปไตย : การครอบงำโลกด้วยปิโตรเลียม” และ “พลังยกกำลังสาม : พลังใจ พลังพลเมือง สร้างนโยบายพลังงาน” ผมถ่ายรูปมาให้ดูก็เพื่อสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของผม

เล่มล่าสุดและกำลังนำมาประชาสัมพันธ์อยู่ในขณะนี้ ผมตั้งชื่อว่า “หนึ่งล้างสมองสองปล้น: รหัสลับแผนพัฒนาใต้เงาโลกภิวัตน์” (คำนิยมโดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ)

ผมเข้าใจว่าเป็นการตกผลึกทางความคิดที่ผ่านโลกมานานกว่า 64 ปีของผม ทั้งในฐานะลูกชาวนาและอาจารย์มหาวิทยาลัยในหัวเมืองปักษ์ใต้ที่มีหน้าที่ส่วนหนึ่งต้อง“บริการวิชาการต่อชุมชน”

ผมนำบทความจำนวน 30 ชิ้น มีทั้งเรื่องพลังงาน การศึกษา การปล้นทรัพยากรเมื่อ 30-40 ปีมาแล้ว ตลอดจนการปล้นสิทธิในการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร “กัญชายารักษามะเร็ง” ของบริษัทยาข้ามชาติ

แรงบันดาลใจของผมในการเขียนหนังสือดังกล่าว มาจากคำพูดของหญิงชราคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในช่วงที่มีการก่อสร้างท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อสิบกว่าปีก่อน เธอพูดอย่างเสียงดังฟังชัดและแว่วอยู่ในหูผมตลอดมาว่า

“พวกฉันเป็นชาวบ้าน พวกฉันไม่มีความรู้ อาจารย์เป็นคนมีความรู้ อาจารย์อย่าเอาแต่นอน อาจารย์ช่วยหาความรู้มาให้พวกฉัน แล้วพวกฉันจะคิดเอง”

ผมได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจำนวน 7 หมื่นบาทจาก “ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา” ในฐานะที่ร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน โดยประชาชนมีส่วนร่วม เงินจำนวนนี้สามารถเปลี่ยนมาเป็นหนังสือ (ขนาด 240 หน้า) ได้จำนวน 500 เล่ม (ราคาเล่มละ 150 บาท) มีเงินเหลืออีกเล็กน้อยเก็บไว้เป็นค่าส่งให้ห้องสมุด

เนื่องจากจำนวนหนังสือมีน้อยเกินไป ประกอบกับค่าสายส่ง 40% ของราคาปก ผมจึงตัดสินใจจำหน่ายเองโดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ท่านที่สนใจกรุณาสั่งจองพร้อมโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย “นายประสาท มีแต้ม” รหัสสาขา 1207 เลขที่ 981-2-14706-3 สาขาเดอะวอล์ค ราชพฤกษ์ โดยแจ้งที่อยู่ของท่านมาที่อี-เมล prasart2552@yahoo.co.th หรือที่เฟซบุ๊ก “ประสาท มีแต้ม” ในราคาเล่มละ 150 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์แล้ว) หากมีรายได้พอสมควร ผมจะนำไปพิมพ์เล่มใหม่ว่าด้วย “ทำไมต้องปฏิรูปพลังงาน”

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติติดตามอ่านผลงานของผม และขออภัยที่นำเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นส่วนตัวมากล่าวถึงในที่นี้ แต่ก็เพื่อประโยชน์ของสาธารณะนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น