xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของทหาร

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากไม่ต้องการการเลือกตั้ง มีข่าวว่าที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนลำดับหนึ่งได้เพียง 18 คะแนน ดังนั้นการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงมีปัญหาและอาจเป็นโมฆะได้ และเมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว ก็คงจะคาดคะแนได้ว่ากว่าจะได้ ส.ส.ครบ คงใช้เวลาอีกนาน และอาจถึงปีด้วยซ้ำไป

การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่สำหรับเมืองไทยแล้วนับวันผู้คนก็ยิ่งหมดศรัทธาในระบบการเลือกตั้งมากขึ้น แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น แม้จะมีข้อเสนอให้มีการเลือกกลุ่มอาชีพก็ตาม เรื่องที่ประเทศไทยมีไม่เหมือนใครก็คือ การบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และให้พรรคมีอำนาจมากถึงขั้นขับไล่สมาชิกได้ เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยปี 2516-2517 ที่ผมเข้าไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อยเพราะเวลานั้นมีความต้องการให้พรรคมีความเข้มแข็ง ต่อมาจึงเห็นข้อเสียว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นายทุนของพรรคสามารถคุม ส.ส.ได้ ในระยะหลังๆ เราจึงไม่ค่อยเห็นความคิดอิสระของ ส.ส.

ไปๆ มาๆ พรรคที่ไม่เห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้งก็ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ส่วนประชาชนจำนวนหนึ่งก็ไปเลือกตั้ง แต่กาช่องที่ว่าไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ผู้ใด หลายคนเขียนลงในบัตรว่า “อีโง่” และถ้อยคำหยาบคายอื่นๆ อีกมากมาย

วันก่อนผมไปประชุมกับท่านผู้อาวุโส ผมเองก็อายุ 70 แล้ว แต่ท่านอื่นๆ ที่ไปอายุ 92 บ้าง 80 กว่าๆ บ้าง ทำให้ผมกลายเป็นเด็กที่สุด เราไปเสวนาทางวิชาการกันว่า สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ จะช่วยกันหาทางออกอย่างไร ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ย้ำว่า รัฐธรรมนูญของเรามีบทบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ทำให้ผมคิดเลยเถิดไปว่า แม้จะไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่หรือไม่ เวลานี้ ส.ส.ไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้เท่าใด เพราะกระแสพรรคเพื่อไทยมาแรงมาก การเข้าสังกัดพรรคจึงมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

วันที่ไปเสวนากัน คำถามจึงมุ่งไปที่บทบาทของคณะทหาร วันนั้นมีอดีต ผบ.ทบ. 1 ท่าน อดีต ผบ.ทอ. 1 ท่าน และอดีต ผบ.ทร. 1 ท่าน รวมทั้งอดีตเสนาธิการทหารเรือด้วย คำถามใหญ่ก็คือ เมื่อใดที่ทหารควรเข้ามาดำเนินการช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเข้ามาทำการปฏิวัติรัฐประหาร แต่เข้ามามีบทบาทในการเป็นคนกลางพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การนิ่งเฉยของทหารเท่ากับเป็นการสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งก็รู้กันทั่วไปว่าเป็นตัวแทนของทักษิณ คนมองในแง่ร้ายก็คิดว่าทหารถูกซื้อไปแล้ว โดยมีการพูดถึงการพบปะกันที่กรุงวอชิงตัน ส่วนคนมองในแง่ดีก็เห็นว่าทหารไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่จำเป็นต้องระมัดระวังตัว

ในเวลานี้มีเหตุผลเพียงพอที่จะมีการขับไล่รัฐบาลออกไป เหตุผลสำคัญ 2 เหตุผลไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ แต่เป็นเรื่องร้ายแรงที่รัฐบาลปล่อยให้มีคนเอากองกำลังต่างชาติเข้ามาทำร้ายคนไทย อีกเรื่องหนึ่งที่ร้ายแรงพอๆ กันก็คือ ผลที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการรับจำนำข้าว ซึ่งถือว่ารัฐบาลประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะไม่มีเงินมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา รัฐบาลต้องรับผิดชอบในกรณีนี้ซึ่งหมายความว่าต้องลาออกไป แต่รัฐบาลก็ยังดื้อด้านอยู่ มีคนบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร จึงนิ่งเฉยอยู่อย่างนี้ แล้วใครจะไปบอกนายกฯ เพราะคนนับล้านออกมาต่อต้านก็ยังเฉย ด้วยเหตุนี้เองคนจึงมองไปที่กองทัพ แต่กองทัพก็จะคอยดูว่าจะเกิดความรุนแรงหรือไม่แล้วจึงจะตัดสินใจ ซึ่งก็อาจจะสายเกินไปแล้ว

เราไม่อาจมีรัฐบาลรักษาการ และการชุมนุมประท้วงแบบนี้ไปได้ตลอด เพราะทำให้ไทยเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน ทหารจึงควรคิดพิจารณาว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ควรเข้ามาเป็นกรรมการได้หรือยัง ไม่ได้หมายความว่าผมจะยุให้ทหารทำการปฏิวัติ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ทหารมีภารกิจที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทางตันทางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น