ASTVผู้จัดการรายวัน - ชาวนาขนอีแต๋นบุก “พาณิชย์” ทวงเงินจำนำข้าว ขีดเส้นให้หาเงินมาจ่ายภายใน 3 วัน พร้อมกางมุ้งรอหน้ากระทรวง โดยม็อบชาวนา 5 จังหวัดภาคกลางจ่อเข้าสมทบในวันนี้ “พาณิชย์” ดิ้นหาเงินจ่าย ดึงโรงสีรับจำนำใบประทวน จ่าย 50% ของมูลค่า "ปู" โพสต์เฟซบุ๊ก อ้างเกมการเมืองนอกระบบ จ้องล้มล้างรัฐบาล จนส่งผลกระทบมาถึงโครงการจำนำข้าว ขณะที่ “เพื่อไทย” ดอดซื้อโฆษณาเต็มหน้า”มติชน-ข่าวสด”ยืนยันเดินหน้าจำนำข้าวต่อแม้จะล้มเหลวไม่เป็นท่า “นิวัฒน์ธำรง“ แจงยินดีนำข้าวสารจ่ายหนี้ค่าข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (6 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.50 น. กลุ่ม กปปส. นนทบุรี และเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้เดินทางมายังกระทรวงพาณิชย์ และปราศรัยโจมตีการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ด้านหน้าประตูทางเข้า จากนั้นได้มีกลุ่มชาวนาจากจังหวัดต่างๆ เดินทางมาสมทบอย่างต่อเนื่อง เดินทางมาโดยรถโดยสาร รถกระบะ และขนรถอีแต๋นใส่รถบรรทุกมาด้วย
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า การเดินทางมาชุมนุม เพื่อกดดันให้รัฐบาลเร่งหาเงินจ่ายให้ชาวนาไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหนก็ตาม เพราะกลุ่มชาวนารอเงินรับจำนำข้าวที่ค้างจ่ายกว่า 1.3 แสนล้านบาท จากรัฐบาลนานกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งจะขอเจรจากับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงพาณิชย์
หลังจากที่ชาวนาได้เดินทางมาถึงได้รวมตัวกดดันให้เปิดประตูกระทรวงพาณิชย์ จนในที่สุดได้มีการเปิดประตูให้ชาวนาเข้ามาด้านในช่วงบ่าย จากนั้นนายประสิทธ์และตัวแทนชาวนาได้เข้าหารือกับนายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายบุญฤทธิ์ กัลยาณมิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี โดยผลการหารือได้ข้อสรุปว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำข้อเสนอของชาวนาส่งต่อไปยังรัฐบาล ผ่านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพื่อดำเนินการต่อไป
นายประสิทธ์ กล่าวภายหลังหารือว่า ไม่พอใจกับการเจรจา เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถให้คำตอบในแนวทางระบายข้าวได้ และจะหาเงินมาคืนใหักับชาวนาอย่างไร โดยต้องการให้รัฐบาลหาเงินมาคืนให้ชาวนาภายใน 3 วัน และจะปักหลักชุมนุมด้านหน้ากระทรวงพาณิชย์ต่อเนื่อง 3 วัน หรืออาจจนกว่ารัฐบาลจะหาเงินมาจ่ายให้ได้
โดยจะมีชาวนาจ.อ่างทอง ชัยนาท สิงบุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี ประมาณ 1,000 คน ที่รวมตัวปิดถนนเอเซีย กม. 67 ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง รวมทั้งทางเข้าวัดไชโยวรวิหาร ได้นัดชุมนุมหน้ากระทรวงพาณิชย์ เวลา 08.30 น. วันนี้ (7 ก.พ.)
เช่นเดียวกับ ชาวนาอ.ดอกคำใต้ กว่า 200 คน นำโดยนายเกรียงไกร ไชยมงคล ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปถึงรัฐบาล ว่า จะให้เวลารัฐบาล 3 วันเท่านั้น หากไม่ได้คำตอบจะไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ พร้อมตั้งทีมกฎหมายฟ้องรักษาการนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง
***”พาณิชย์”ดึงโรงสีช่วยจ่ายเงินชาวนา
วันเดียวกันนี้ นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ได้หารือร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย เพื่อขอให้โรงสีเข้ามาช่วยเหลือชาวนา โดยการรับจำนำใบประทวน และใช้เงินของโรงสีจ่ายให้ชาวนาไม่เกิน 50% ของมูลค่าในใบประทวน คิดดอกเบี้ย 0-9% ซึ่งดอกเบี้ยในส่วนนี้รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สลักหลังในใบประทวนและเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน ธ.ก.ส. ก็จ่ายเงินส่วนหนึ่งให้โรงสี ส่วนที่เหลือจ่ายให้เกษตรกร
ทั้งนี้ จะเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาอนุมัติให้รัฐบาลใช้งบกลางจำนวน 1-1.2 พันล้านบาท มาจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์
นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสมาชิกแต่ละรายที่จะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ โดยเบื้องต้นจะเน้นจ่ายเงินให้กับชาวนาที่เป็นลูกค้าของโรงสี และอยากขอให้ ธ.ก.ส. ช่วยดูประวัติของชาวนาด้วยว่ามีภาระผูกพันหรือเป็นหนี้กับแบงก์มากน้อยแค่ไหน
***เร่งขายข้าวให้ผู้ส่งออกและโรงสี
นายยรรยง กล่าวว่า กระทรวงฯ จะเร่งระบายข้าวในสต๊อก โดยมีหลายวิธี ทั้งเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เปิดให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อมายื่นซื้อข้าว และจะเปิดให้โรงสีมายื่นประมูลเพื่อซื้อข้าวไปขายในประเทศด้วย ประมาณครั้งละ 5 แสนตัน ส่วนข้าวจีทูจีที่ขายไปแล้ว ก็จะเร่งให้มารับมอบและจ่ายเงิน เพื่อส่งเงินคืนให้กระทรวงการคลัง
** "ปู"โบ้ยม็อบทำชาวนาเดือดร้อน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กถึงการแก้ปัญหาของชาวนา วานนี้ (6 ก.พ.) ว่า สถานการณ์ปัจจุบัน เป็นสถานการณ์พิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วง 3-4 เดือน ที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การยุบสภาฯ และการเลือกตั้ง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลมีข้อจำกัดในการบริหารงาน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน มาตรา 181 และยังมีเกมการเมืองนอกระบบ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีจุดเป้าหมาย ล้มล้างรัฐบาล และช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ดำเนินการขัดขวางการทำงานของรัฐบาล แม้แต่โครงการจำนำข้าว ซึ่งตนก็ได้ได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินกู้ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย พร้อมๆกับที่กระทรวงพาณิชย์ ก็อยู่ระหว่างการเปิดประมูลเพื่อเร่งระบายข้าว
**ปชป.จวก"ปู"โกหกรายวัน
วันเดียวกันนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.ภาคกลาง และภาคตะวันตก ของพรรค นำโดยนายอรรถพร พลบุตร กรรมการบริหารพรรค นายกุลเดช พัวพัฒนกุล อดีต ส.ส.อุทัยธานี นายฉัตรพันธุ์ เดชกิจสุนทร อดีต ส.ส.กาญจนบุรี นายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง อดีต ส.ส.ปทุมธานี ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งเปิดโกดังข้าวเพื่อประมูลขาย หาเงินมาจ่ายให้ชาวนาโดยเร็ว หากรัฐบาลไม่มีปัญญาแก้ปัญหา ก็ขอให้คืนข้าวให้ชาวนาโดยเร็ว พร้อมค่าเสียโอกาส และดอกเบี้ย เพื่อให้ชาวนานำไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะขณะนี้ชาวนาเกิดวิกฤต เป็นหนี้สินจำนวนมาก และขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว
พร้อมทั้งขอประณาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ปัดความรับผิดชอบ โดยระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ล้มเหลว แต่เกิดจากการยุบสภา และ กกต.ไม่อนุมัติให้กู้เงิน ซึ่งเป็นการพูดไม่จริง เพราะโครงการรับจำนำข้าวล้มเหลวมาเป็นปี ก่อนมีการยุบสภา เพราะมีการทุจริตเกิดขึ้น
"น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล โกหกรายวัน เลื่อนวันจ่ายเงินจำนำข้าวตลอด จนชาวนาเดือดร้อนต้องกู้หนี้นอกระบบ ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลิกโกหกประชาชนได้แล้ว และเอาความจริงมาพูดให้ชัดว่า จะจ่ายเงินให้ชาวนาได้วันไหน" นายอรรถพร กล่าว
** จี้ป.ป.ช.เร่งตัดสินขายข้าว"จีทูจี" เก๊
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เดินทางไปที่ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่พรรคประชาธิปัตย์เคยยื่นต่อ ป.ป.ช. เอาไว้สมัยเป็นส.ส. รวม 3 เรื่อง ได้แก่ ได้แก่คำร้องกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 103 เกี่ยวกับการประกาศราคากลางในโครงการตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท คำร้องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ใน 2 ประเด็น คือ การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และโครงการข้าวสารบรรจุถุง และคำร้องถอดถอนกรณี พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับคำชี้แจงจากนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ว่า ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบใน 3 เรื่องดังกล่าวแล้ว หากป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
*** ชาวนายื่นป.ป.ช.ติดตามเงินจำนำข้าว
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนชาวนา จากจ.อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท จำนวน 30 คน นำโดยนายวินัย หลำหนู เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้เร่งดำเนินการตรวจสอบการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยมีวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. เป็นผู้รับหนังสือ
โดยนายวินัย กล่าวว่า มาเรียกร้องป.ป.ช. ให้ช่วยติดตามเงินให้ชาวนา ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ขณะนี้เป็นเวลา 4-5 เดือนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน ไม่ทราบว่าเงินไปตกหล่นอยู่ส่วนไหน มีการขายข้าวจริงหรือไม่ โดยได้นำหลักฐาน ประกอบด้วย ใบนัดรับเงินที่ไม่ระบุวันที่รับเงิน ใบประทวน และใบจำนำข้าว เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลผลัดผ่อนการจ่ายเงินให้ชาวนามา 8 เดือนแล้ว เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบโดยด่วน
**กมธ.เกษตรฯวุฒิแนะธกส.ปล่อยกู้ชาวนา
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า จากการสัมมนาหาแนวทางแก้ปัญหาการจ่ายเงินให้กับชาวนาที่ร่วมโครงการรับจำนำข่าวล่าช้า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า แนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนคือให้ธกส.ใช้แนวทางการให้เกษตรกรชาวนากู้เงิน โดยใช้ใบประทวนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยที่รัฐบาลต้องเป็นผู้รองรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนนี้เอาไว้ ปัจจุบัน ธกส.มีวงเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้ราว 2 แสนล้านบาท ขณะที่มีวงเงินที่ติดค้างชาวนา 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเพียงพอ ขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนมาก ต้องช่วยเหลือตรงนี้ก่อน ส่วนข้าวนาปรังฤดูกาลใหม่ที่จะมีออกมาอีกราว 8 หมื่นตัน รัฐบาลคงต้องเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือ
***พาณิชย์จะจ่ายเป็นข้าวสารแทนค่าข้าว
ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่มีวิพากษ์วิจารณ์ โครงการจำนำข้าวปี 56/57 ที่เริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2556-กุมภาพันธ์ 2557 โดยรายละเอียดจากธกส. ระบุว่าในการจ่ายเงิน โครงการจำนำจนถึงมกราคม 2557 อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน คิดเป็นยอดเงินประมาณ 177,200 ล้านบาท โดยจ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 60,515 ล้านบาท และยังค้างจ่ายอยู่ประมาณ 116,685 ล้านบาท ซึ่งยอดรับจำนำเดือนตุลาคม 22,830 ล้านบาท มีการจ่ายเงินครบแล้ว ส่วนในเดือนพฤศจิกายนมีการจ่ายเงินไปแล้ว 37,685 ล้านบาท จากจำนวน 61,280 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.5 ฉะนั้นยอดค้างหนี้อยู่ที่ 1-2 เดือนเท่านั้น ไม่ใช่ 6 เดือน อยู่ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์
สำหรับ ปัญหาที่เกษตรกรชาวนาเดินทางมาประท้วงเรียกร้องเงินค่าข้าวและปักหลักชุมนุม ที่กระทรวงพาณิชย์นั้น นายนิวัฒน์ธำรง ชี้แจงว่า ในขณะนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำความเข้า ใจกับชาวนา โดยให้ความมั่นใจกับชาวนาว่าจะเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด และยินดีจะจ่ายเป็นข้าวสารแทนเงินค่าข้าว ส่วนความคืบหน้าในการหาแหล่งเงินกู้ ต้องสอบถามทางนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกำลังทำงานอย่างเต็มที่
ส่วนกรณีที่ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าว ระบุว่า สัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐบาลจีนนั้น ต้องดำเนินการผ่านบริษัท คอบโกด์ เพียงบริษัทเดียวนั้น นายนิวัฒน์ธำรง ชี้แจงว่า สัญญาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งการทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจ เป่ย ต้า ฮวงเป็นการทำสัญญาจริง แต่เนื่องจากทางเป่ย ต้า ฮวงไม่สบายใจต่อการตรวจสอบในโครงการรับจำนำข้าวของปปช. จึงได้ยกเลิกสัญญาไปก่อน
นอกจากนี้ ในส่วนการระบายข้าว ทางกระทรวงจะยึดราคาตลาดเป็นหลัก ไม่ใช่ขายโดยยอมขาดทุน ซึ่งมีหลายแนวทางแต่อาจจะล้าช้าเพราะติดขัดในเรื่องระเบียบขั้นตอนทางราชการ ซึ่งในวันนี้ทางกระทรวงได้เริ่มแจงซองประมูลราคาในวันนี้เป็นวันแรกและให้ ยื่นประกวดราคาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ และเปิดซองในวันถัดไป
**พท.ซื้อโฆษณา“มติชน-ข่าวสด”
“ ASTVผู้จัดการรายวัน” ตรวจสอบพบว่า พรรคเพื่อไทยได้ซื้อโฆษณาสี่สีเต็มหน้าลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้าที่ 5 และหนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้าที่ 9 เพื่อโฆษณาและชี้แจงปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าวในปัจจุบัน โดยใช้หัวข้อว่า “จำนำข้าวเพื่อชาวนา โดยพรรคเพื่อไทย” ที่ระบุว่าระยะเวลา 3 ปีการผลิตของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีชาวนาเข้าร่วมโครงการโดยตรงประมาณ 3.26 ล้านครอบครัว ปริมาณข้าวในโครงการประมาณ 60% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ ซึ่งแม้โครงการดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และสกัดขัดขวางจากคนบางกลุ่มบางองค์กร แต่ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป
ส่วนกรณีปัญหาการเบี้ยวหนี้ชาวนาในขณะนี้นั้น พรรคเพื่อไทยระบุว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่ารัฐบาลเตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว แต่ติดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในการกู้เงินมาจ่ายค่าข้าว ทั้งยังมีปัญหาในการหาแหล่งเงินกู้ เพราะมีขบวนการสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สถาบันการเงินใดอนุมัติสินเชื่อจะเกิดความเสียหายร้ายแรง
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำอธิบายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่ กล่าวคือ ขณะที่กล่าวว่าก่อนยุบสภา "มีการเตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว" แต่ในประโยคต่อมากลับอ้างว่า "พบความยากลำบากในการหาแหล่งเงินกู้เพราะมีขบวนการสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิด" ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้มีการเตรียมการแต่อย่างใด
รวมทั้งละเลยการกล่าวถึงรายละเอียดของปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่มีมากมายมหาศาล ทั้งยังก่อให้เกิดการสูญเสียงบประมาณและภาษีหลายแสนล้านบาท ก่อให้เกิดปัญหาการบิดเบือนกลไกตลาดข้าวและสร้างผลเสียต่อการส่งออก ไม่นับรวมกับกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่งประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่การผิดนัดชำระหนี้ค่าข้าวให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2556 แล้ว
จากการตรวจสอบพบว่า อัตราค่าโฆษณาแบบสี่สีเต็มหน้า (Full Page Full Color) ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีมูลค่าหน้าละ 336,000 บาท (ราคาเต็ม) หรือรวมมูลค่าการซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้กว่า 672,000 บาท