xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายชี้เลือกตั้งใหม่ 23 ก.พ.ขัดกม. ส่อโมฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4ก.พ.) สภาทนายความ ออกแถลงการณ์ เรื่องความชอบด้วยกฏหมายของการเลือกตั้ง มีข้อความ ว่า แม้รัฐบาลรักษาการและกกต.จะได้พยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ก็ไม่ครอบคลุมได้พร้อมกันทั้งประเทศ และมีประเด็นข้อขัดแย้งมากมายเกี่ยวกับความชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีข้อเท็จจริงที่ควรนำมาประกอบพิจารณากับข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งสภาทนายความเห็นสมควรที่จะเผยแพร่ให้เป็นที่ทราบกัน ดังนี้
1. การเลือกตั้งนั้นโดยหลักการแล้วจะต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศครั้งเดียว ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เขียนไว้อย่างชัดเจน แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่อาจจะจัดให้มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ และวันเลือกตั้งนั้น ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ดังนั้นไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการคัดค้านหรือการลาออกของกกต. ทำให้มีหน่วยเลือกตั้งไม่ครบทั้งประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา อาจไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตาม มาตรา 107 ของรธน.
2. ประเด็นเรื่องการจัดการเลือกตั้ง กรณีให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร กรณีดังกล่าวนี้ กกต. ก็ไม่อาจทำให้การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักร ได้ครบสมบูรณ์ จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และได้ลงทะเบียนไว้กว่า 2 ล้านคนนั้นเสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งได้ ประการสำคัญ การนับคะแนนในกรณีของการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรนั้น จะต้องเอาบัตร เลือกตั้งล่วงหน้าดังกล่าว ส่งไปนับพร้อมกันในเขตที่ผู้มีชื่อมีสิทธิเลือกตั้งมีภูมิลำเนาอยู่ ดังนั้นหากมีการนับคะแนนโดยไม่พร้อมกัน จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยเฉพาะการที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตใหม่ เพราะทราบคะแนนที่ผู้สมัครแพ้หรือชนะแล้ว ประเด็นที่สำคัญที่จำเป็นต้องให้ศาลรธน.วินิจฉัย คือความชอบด้วยกฎหมายของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือเรื่องของการนับคะแนนในขณะที่การเลือกตั้งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งตามข้อกฎหมายไม่อาจทำได้ เพราะมีข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญของการพิจารณาคือ ผู้ที่ได้แสดงความจำนงว่ามีความประสงค์จะขอเลือกตั้งนอกเขต แต่ยังไม่สามารถเลือกตั้งได้นั้น ยังไม่มีสิทธิกลับไปเลือกตั้งในเขตอีก จนกว่าจะแจ้งขอไปใช้สิทธิในเขตภูมิลำเนาของตนเอง และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเอง จึงยังไม่อาจรวมบัตรตามเขตนับคะแนนได้ หากจะถือว่าเป็นบัตรเสีย เพราะส่งมาไม่ทันตาม มาตรา 102 วรรคสอง หรือมีเหตุจำเป็นตามที่กกต.กำหนด ตามมาตรา 102 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ. 2550 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 กกต.ก็ต้องให้เหตุผลที่ชอบด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม และสุจริต
3. อนึ่ง ความในมาตรา 150 ของพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. ยังห้ามเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกในระหว่างเวลา 7 วันก่อนเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการลงคะแนน การที่จัดการเลือกตั้งไม่พร้อมกัน โดยที่มีการนับคะแนนแม้ไม่ปิดประกาศคะแนนเป็นทางการ แต่ผู้ที่ไปดูการนับคะแนน สามารถจดคะแนนไปรวมกันเองได้ และในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง มีตำรวจรักษาความปลอดภัยจด คะแนนของผู้สมัครส่งไปให้ศูนย์รวมคะแนนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้สามารถรู้คะแนนของผู้สมัคร ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ผิดมาตรา 150 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเท่ากับการเผยแพร่เกี่ยวกับการลงคะแนน ซึ่งในเขตที่ยังไม่สามารถเลือกตั้งได้ มีจำนวนเป็นล้านคะแนน ซึ่งเป็นช่องทางทำให้คะแนนแปรปรวนได้
การที่ กกต. แถลงข่าวว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่ ในวันที่ 23 ก.พ.57 จึงขัดกับกฎหมายเลือกตั้ง เพราะในเขตบางเขตได้ทำการเลือกตั้งไปแล้ว จึงไม่ใช่การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตอีกต่อไป จึงไม่สามารจัดให้มีการเลือกล่วงหน้านอกเขตในเขตที่มีการเลือกตั้งไปแล้วได้อีก ในเมื่อไม่สามารถเลือกตั้งนอกเขตได้อีก จึงเป็นการตัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญข้างต้น จะเป็นเหตุที่จะต้องมีการพิจารณาว่า การเลือกตั้งซึ่งทำให้มีการใช้งบประมาณ 3,825 ล้านบาทไปนั้น เท่ากับเป็นการสูญเปล่า เพราะเหตุที่ว่า ได้มีการฝ่าฝืนกฎกติกา ข้อกฎหมายที่สำคัญ และหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น