xs
xsm
sm
md
lg

4องค์กรวิชาชีพสื่อต้านพรก. อ้างเหตุลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22ม.ค.) 4องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อ โดยมีเนื้อหาระบุว่า
การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ อ้างเหตุการชุมนุมที่เกินขอบเขต ก่อความรุนแรง โดยกลุ่มผู้ที่ไม่ประสงค์ดี จนประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต อีกทั้งการเสนอข้อมูลข่าวสารในสื่อต่างๆ ในทางที่ยุยง บิดเบือน สร้างความแตกแยก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ นับเป็นการส่งสัญญาณที่รัฐบาลอาจออกข้อกำหนด ในลักษณะที่เป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน เช่น การห้ามนำเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้ออ้างว่าสื่อมีเจตนาบิดเบือนข้อมูล ข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 4 องค์กร มีความเห็นร่วมกันว่า การใช้อำนาจเช่นนี้ ยิ่งจะสร้างความขัดแย้งให้สังคมมากขึ้น และอาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
เมื่อเหตุที่รัฐบาลอ้างในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีข้อโต้แย้ง ยังมีข้อสงสัยว่าเป็น “สถานการณ์ที่มีความร้ายแรงอย่างยิ่ง”หรือไม่ ข้ออ้างดังกล่าว จึงยังไม่เพียงพอที่รัฐบาลจะอาศัยเป็นข้อยกเว้น ในการจำกัดเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่ให้การรับรองว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้”
ดังนั้น การดำเนินการใดๆของรัฐบาล ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พึงต้องระมัดระวัง มิให้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน แต่ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ต้องระมัดระวังในการใช้เสรีภาพภายในขอบเขตความรับผิดชอบด้วย
รัฐบาลอ้างเหตุการทำหน้าที่ของสื่อ ที่อาจสร้างความแตกแยก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขยายความถึงความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อำนาจแบบครอบจักรวาลเช่นนี้ หากผู้ใช้อำนาจไม่มีความเที่ยงธรรม หรือใช้อำนาจโดยไม่สุจริต ใช้อำนาจโดยเลือกปฏิบัติแล้ว ก็จะก่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารแต่เพียงด้านเดียว เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน โดยอาศัยกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือ จัดการสื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติเท่านั้น โดยเฉพาะสื่อของรัฐ ที่รัฐบาลได้ใช้เป็นสื่อในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง พูดข้างเดียว โดยไม่เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับฝ่ายอื่นๆในอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐ หรือเอกชน ประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในท่ามกลางสถานการณ์อันเปราะบางของบ้านเมือง ความอ่อนไหวในเรื่องของอารมณ์ และความรู้สึกของประชาชนทุกฝ่ายในขณะนี้ คือการถ่ายทอดวาทกรรม การกระทำซ้ำ ที่สร้างและสั่งสมความเกลียดชัง หรือ hate speech ที่แม้มิได้ส่งผลกระทบในทันที แต่ในระยะเวลาหนึ่งจะนำมาสู่ความโกรธแค้น และลงมือกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่งด้วยความรุนแรงในที่สุด
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ใช้ความละเอียด รอบคอบ ในการตราข้อกำหนดใดๆ ในลักษณะที่จะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ และประชาชน รัฐบาลพึงต้องตระหนักว่า เสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงมิอาจแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทุกกรณี ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องใส่ใจในบทบาท การแถลง หรือเผยแพร่ข้อมูลใดๆ จากรัฐบาล หรือหน่วยงานในกำกับ จะต้องไม่บิดเบือน ยั่วยุ สร้างความโกรธแค้น ไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชน ผู้ชุมนุมก็ไม่ควรกระทำการยั่วยุ หรือสุ่มเสี่ยงให้เกิดการเผชิญหน้า เช่นเดียวกับสื่อมวลชนทุกแขนง ก็ต้องระวังไม่รายงานข่าวที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง ต้องรับผิดชอบและช่วยสร้างสังคมให้มีสติ ร่วมกันหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น