xs
xsm
sm
md
lg

ทางสองแพร่ง “ประชาธิปัตย์” ลงเลือกตั้ง2ก.พ. หรือบอยคอต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ในช่วงวันนี้การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นที่จับตามามองมากที่สุด ว่าสุดท้ายจะส่งคนลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 นี้หรือไม่ หรือจะมีมติบอยคอต ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งเหมือนเมื่อปี 2549
ตอนแรกหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาฯไม่กี่วัน ประชาธิปัตย์บอกพร้อมลงเลือกตั้ง แถมบอกเสร็จสรรพนโยบายหาเสียงจะไม่เน้นประชานิยมแบบทำลายประเทศ แต่พอเวทีราชดำเนินชูกระแสปฏิรูปประเทศก่อนถึงค่อยเลือกตั้ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีจากหลายฝ่าย แม้แต่กับภาคธุรกิจ ท่าทีของประชาธิปัตย์ ก็เลยโลเล โยนให้เป็นเรื่องกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่จะคัดเลือกกัน วันนี้ (17 ธ.ค.) เป็นผู้ตัดสินใจ
ยังไม่ชัดว่า บทสรุปของพรรค จะได้ความชัดเจนกันทันที หลังได้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพราะก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ว่า พอเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กันแล้ว กรรมการบริหารพรรคก็อาจบอกว่า
**ขอใช้เวลาไปพิจารณาตัดสินใจก่อน ว่าจะเอาอย่างไร เนื่องจากยังพอมีเวลาเหลืออยู่ แม้จะไม่มาก
เนื่องจากวันจันทร์ที่ 23 ธ.ค.นี้ ก็จะมีการรับสมัครผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อกันแล้ว อีกทั้งก็ยังต้องเตรียมตัวสำหรับการรับสมัคร ส.ส.ระบบเขต ในสัปดาห์ถัดไป รวมถึงการเตรียมหาเสียงเลือกตั้ง เช่นการวางแคมเปญต่างๆ หากกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ชักช้า ก็อาจไม่ทันการ กับการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค หากยังไม่ฟังธงในวันนี้ ก็คาดว่าประชาธิปัตย์คงใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้
คนในพรรคประชาธิปัตย์อย่าง กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรค ก็บอกว่า หลังได้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 17 ธ.ค. กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะมีมติหรือข้อสรุปที่ชัดเจนทันทีในวันเดียวกันว่า ปชป.จะส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากประชาธิปัตย์ เปิดห้องคุยกันทั้งในระดับกรรมการบริหารพรรค และพวกอดีต ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัครส.ส. ทั้งปาร์ตี้ลิสต์ และระบบเขต เพื่อมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง วงประชุมคงได้ถกกันดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน
เนื่องจากกระแสข่าวที่ออกมาตอนนี้ ก็เห็นชัดว่า เสียงแตกกันพอสมควร คือกลุ่มที่เห็นว่าพรรคไม่ควรส่ง ก็มีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะพวกอดีตส.ส.สายใต้ มีทั้งอยู่ในสายของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค และไม่ใช่สายสุเทพ ที่เห็นว่าพรรคไม่ควรส่งคนลงสมัคร
เพราะหากประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง ก็อาจจะทำให้เป็นการสร้างแรงกดดันให้เพื่อไทย และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำต้องหาทางออกเช่น อาจยอมเสนอพระราชกฤษฏีกาเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนสักระยะ หรือยอมถอยมากกว่านี้ เพื่อหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ดูแล้วคงยากพอสมควร แต่ก็ยังยืนไม่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ เดินคนละทางกับ สุเทพ-กปปส. และมวลชน เพราะมวลชนส่วนใหญ่ที่หนุนหลังสุเทพ ที่เสนอว่ายังไม่ควรมีการเลือกตั้ง ก็มีคนใต้อยู่จำนวนมาก
** ดังนั้นหากพรรคไปส่งคนลงเลือกตั้ง จะอธิบายกับคนในพื้นที่ได้ยาก จะถูกมองว่าทิ้งเพื่อน ละทิ้งแนวทางปฏิรูปประเทศ ตั้งสภาประชาชน
ความคิดแบบนี้ก็ไม่ได้มีแค่กับพวกอดีตส.ส.ใต้ของประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ก็มีข่าวว่าพวกอดีตส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ หลายคนก็เห็นด้วย เพราะก็เห็นอยู่แล้วว่าพวกกองเชียร์สุเทพ-กปปส. ไม่ว่าจะเป็นที่เวทีราชดำเนิน-ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ-สามเสน กลุ่มหลักที่ไปร่วมชุมนุม เป็นคนกรุงเทพฯ เสียส่วนใหญ่ และกระแสเวลานี้ คนกทม.ไม่น้อย ก็เห็นด้วยกับการที่ว่าต้องปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง
เลยทำให้พวกอดีต ส.ส.กทม.หลายคนที่ใจจริงก็อยากเป็นส.ส. แต่ก็กลัวว่าหากพรรคส่งคนลงเลือกตั้ง ก็จะมีปัญหาแฟนคลับประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ซึ่งก็เป็นกองเชียร์เวทีราชดำเนินด้วย อาจจะไม่เห็นด้วย การหาเสียงจะลำบาก ต้องตอบคำถามประชาชนมากมาย สุดท้ายอาจมีผลทำให้ที่คิดว่า จะชนะเห็นๆได้ไม่ยากในพื้นที่กทม. ถึงวันเลือกตั้งขึ้นมาประชาชนจะพลอยไม่ออกมาหย่อนบัตร หรือโนโหวตเสียเลย
เพราะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์หักหลังมวลชนที่ออกมาร่วมต่อสู้ และสนับสนุนกปปส. สุดท้ายมันจะยุ่ง โดยเฉพาะหากเวทีราชดำเนินหรือกลุ่ม กปปส. อย่างพวกเครือข่ายนิสิตนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) มีการรณรงค์ให้ประชาชน“โนโหวต” ก็จะสร้างปัญหาในการหาเสียงของ ปชป.ได้
ยังมีเรื่องน่าห่วงก็คือ ในพื้นที่กทม.ก็ต้องมีอดีต ส.ส.กทม.ที่ก็กลัวขาลอย หากสุดท้ายประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งแล้ว เพื่อไทย ไม่สนใจ เดินหน้าให้มีการเลือกตั้ง จนผลเลือกตั้งออกมา เพื่อไทยยึดสนามกทม.ได้ อดีต ส.ส.กทม.หลายคน ที่ไม่อยากให้ตัวเองเสียสถานภาพการเป็นส.ส.และต้องเสียพื้นที่ไปให้กับคู่แข่ง คงจะโวยพรรคแน่
ส่วนฟากหนุนให้พรรคส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งก็เชื่อว่า จริงๆ แล้วก็มีพอสมควรในพรรคเพียงแต่ไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาแสดงความเห็นต่างก็สงวนท่าทีเอาไว้ เพราะเกรงจะไปออฟไซด์ผู้ใหญ่ในพรรค อีกทั้งเกรงว่าแสดงความเห็นไปแล้วหากขัดกับมติพรรคที่จะประกาศออกมาคือไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะยิ่งทำให้กลายเป็นปัญหาขึ้นในพรรค หลายคนจึงสงวนท่าทีกันไปหมด
ที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครกล้าแสดงความเห็นผ่านสื่อว่า ควรต้องส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ก็เพราะเกรงใจมวลมหาประชาชนที่ออกมาร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส. ทำให้ก็เลยรอไปคุยกันในที่ประชุมพรรควันเดียวจบ
**แม้แต่พวกปากกล้าอย่าง อลงกรณ์ พลบุตร รอบนี้ก็ยังบอกต้องรอมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคอย่างเดียวเท่านั้น
โดยแนวความคิดของกลุ่มหลังก็อย่างที่รู้ๆ กันคือ มองว่า หากหากพรรคไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง จะทำให้ถูกเพื่อไทยซัดให้เสียหลักการทางการเมืองได้ว่า เป็นพรรคการเมือง มีเลือกตั้งแต่กลับบอยคอต และมัวแต่เล่นการเมืองนอกกติกา
รวมถึงเห็นว่า สถานการณ์เวลานี้กับตอนที่พรรคบอยคอตเลือกตั้ง เมื่อปี 49 สถานการณ์ต่างกันสิ้นเชิง ตอนนั้นหลายพรรคเอาด้วยกับประชาธิปัตย์ แต่เวลานี้ก็เห็นชัดว่า ทุกพรรคการเมืองต่างประกาศส่งคนลงเลือกตั้งหมด ภูมิใจไทย อดีตแนวร่วมฝ่ายค้านวันนี้ ก็เปิดตัวชัดว่ารอเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
กลุ่มที่หนุนให้พรรคส่งคนลงเลือกตั้งจึงมองว่า หากพรรคไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง ก็จะเป็นแค่พรรคเดียวที่ไม่เอาด้วย ยิ่งมีข่าวลือต่างๆ ว่าทักษิณ ชินวัตร และแกนนำเพื่อไทย เตรียมแผนรับมือหากปชป.บอยคอตไว้แล้ว เพื่อให้การเลือกตั้งเดินหน้าต่อไปได้ การที่ ปชป.ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร จึงควรส่งลงเลือกตั้ง แล้วให้เวทีราชดำเนินขับเคลื่อนกันไป ส่วนจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ 2 ก.พ.57 ก็เป็นเรื่องของอนาคต
ประชาธิปัตย์จะเอายังไง จะบอยคอตเลือกตั้ง หรือจะร่วมสังฆกรรม มองกันตามสภาพก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าตัดสินใจแบบไหน มีได้-มีเสีย ด้วยกันทั้งสิ้น แต่หากจะยืนข้างมวลชน และจริงใจต่อการปฏิรูปประเทศจริง หลายเสียงของมวลชนก็เห็นพ้องตรงกัน ประชาธิปัตย์ ต้องไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง
**ช่างเป็นการตัดสินใจที่ยากมากที่สุดครั้งหนึ่งของพลพรรคเสื้อสีฟ้าจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น