xs
xsm
sm
md
lg

ทางสองแพร่ง “ประชาธิปัตย์” ลงเลือกตั้ง 2 ก.พ. หรือบอยคอต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ในช่วงวันนี้การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่จับตามามองมากที่สุด ว่าสุดท้ายจะส่งคนลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 นี้หรือไม่ หรือจะมีมติบอยคอยไม่ส่งคนลงเลือกตั้งเหมือนเมื่อปี 2549

ตอนแรกหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาไม่กี่วัน ประชาธิปัตย์บอกพร้อมลงเลือกตั้งแถมบอกเสร็จสรรพนโยบายหาเสียงจะไม่เน้นประชานิยมแบบทำลายประเทศ แต่พอเวทีราชดำเนินชูกระแสปฏิรูปประเทศก่อนถึงค่อยเลือกตั้ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีจากหลายฝ่ายแม้แต่กับภาคธุรกิจ ท่าทีของประชาธิปัตย์ ก็เลยโลเลโยนให้เป็นเรื่องกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะคัดเลือกกันวันนี้ 17 ธ.ค.เป็นผู้ตัดสินใจ

ยังไม่ชัดว่าบทสรุปของพรรคประชาธิปัตย์จะได้ความชัดเจนกันทันทีหลังได้รักษการกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 17 ธ.ค. 56 เพราะก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ว่าพอเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กันแล้วกรรมการบริหารพรรคก็อาจบอกว่า

ขอใช้เวลาไปพิจารณาตัดสินใจก่อนว่าจะเอาอย่างไรเนื่องจากยังพอมีเวลาเหลืออยู่ แม้จะไม่มาก

เนื่องจากวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคมนี้ก็จะมีการรับสมัครผู้ลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อกันแล้วอีกทั้งก็ยังต้องเตรียมตัวสำหรับการรับสมัคร ส.ส.ระบบเขตในสัปดาห์ถัดไปรวมถึงการเตรียมหาเสียงเลือกตั้งเช่นการวางแคมเปญต่างๆ หากกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ชักช้าก็อาจไม่ทันการกับการทำโผปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค หากยังไม่ฟังธงในวันนี้ก็คาดว่าประชาธิปัตย์คงใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

คนในพรรคประชาธิปัตย์อย่าง กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคก็บอกว่า หลังได้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 17 ธ.ค.กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะมีมติหรือข้อสรุปที่ชัดเจนทันทีในวันเดียวกันว่า ปชป.จะส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากประชาธิปัตย์เปิดห้องคุยกันทั้งในระดับกรรมการบริหารพรรคและพวกอดีต ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทั้งปาร์ตี้ลิสต์และระบบเขตเพื่อมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง วงประชุมคงได้ถกกันดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน

เนื่องจากกระแสข่าวที่ออกมาตอนนี้ก็เห็นชัดว่า เสียงแตกกันพอสมควรคือกลุ่มที่เห็นว่าพรรคไม่ควรส่งก็มีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะพวกอดีต ส.ส.สายใต้ มีทั้งอยู่ในสายของสุเทพ เทือกสุบรรณอดีตเลขาธิการพรรคและไม่ใช่สายสุเทพที่เห็นว่าพรรคไม่ควรส่งคนลงสมัคร

เพราะหากประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งก็อาจจะทำให้เป็นการสร้างแรงกดดันให้เพื่อไทยและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำต้องหาทางออกเช่น อาจยอมเสนอพระราชกฤษฎีกาเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนสักระยะ หรือยอมถอยมากกว่านี้เพื่อหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ดูแล้วคงยากพอสมควร แต่ก็ยังยืนไม่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์เดินคนละทางกับสุเทพ-กปปส.และมวลชนเพราะมวลชนส่วนใหญ่ที่หนุนหลังสุเทพที่เสนอว่ายังไม่ควรมีการเลือกตั้ง ก็มีคนใต้อยู่จำนวนมาก

ดังนั้น หากพรรคไปส่งคนลงเลือกตั้งจะอธิบายกับคนในพื้นที่ได้ยากจะถูกมองว่าทิ้งเพื่อน ละทิ้งแนวทางปฏิรูปประเทศ ตั้งสภาประชาชน

ความคิดแบบนี้ก็ไม่ได้มีแค่กับพวกอดีต ส.ส.ใต้ของประชาธิปัตย์เท่านั้นแต่ก็มีข่าวว่าพวกอดีต ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์หลายคนก็เห็นด้วยเพราะก็เห็นอยู่แล้วว่าพวกกองเชียร์สุเทพ-กปปส.ไม่ว่าจะเป็นที่เวทีราชดำเนิน-ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ-สามเสน กลุ่มหลักที่ไปร่วมชุมนุม เป็นคนกรุงเทพฯเสียส่วนใหญ่และกระแสเวลานี้ คน กทม.ไม่น้อยก็เห็นด้วยกับการที่ว่าต้องปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง

เลยทำให้พวกอดีต ส.ส.กทม.หลายคนที่ใจจริงก็อยากเป็น ส.ส.แต่ก็กลัวว่าหากพรรคส่งคนลงเลือกตั้ง ก็จะมีปัญหาแฟนคลับประชาธิปัตย์ในพื้นที่ซึ่งก็เป็นกองเชียร์เวทีราชดำเนินด้วยอาจจะไม่เห็นด้วย การหาเสียงจะลำบากต้องตอบคำถามประชาชนมากมาย สุดท้ายอาจมีผลทำให้ที่คิดว่าจะชนะเห็นๆ ได้ไม่ยากในพื้นที่ กทม. ถึงวันเลือกตั้งขึ้นมาประชาชนจะพลอยไม่ออกมาหย่อนบัตรหรือโนโหวตเสียเลย

เพราะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์หักหลังมวลชนที่ออกมาร่วมต่อสู้และสนับสนุนกปปส.สุดท้ายมันจะยุ่งโดยเฉพาะหากเวทีราชดำเนินหรือกลุ่ม กปปส.อย่างพวกเครือข่ายนิสิตนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) มีการรณรงค์ให้ประชาชน “โนโหวต” ก็จะสร้างปัญหาในการหาเสียงของปชป.ได้

ยังมีเรื่องน่าห่วงก็คือ ในพื้นที่ กทม.ก็ต้องมีอดีต ส.ส.กทม.ที่ก็กลัวขาลอย หากสุดท้ายประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งแล้ว เพื่อไทย ไม่สนใจ เดินหน้าให้มีการเลือกตั้ง จนผลเลือกตั้งออกมาเพื่อไทยยึดสนาม กทม.ได้ อดีต ส.ส.กทม.หลายคน ที่ไม่อยากให้ตัวเองเสียสถานภาพการเป็น ส.ส.และต้องเสียพื้นที่ไปให้กับคู่แข่งคงจะโวยพรรคแน่

ส่วนฟากหนุนให้พรรคส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งก็เชื่อว่าจริงๆ แล้วก็มีพอสมควรในพรรคเพียงแต่ไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาแสดงความเห็นต่างก็สงวนท่าทีเอาไว้ เพราะเกรงจะไปออฟไซด์ผู้ใหญ่ในพรรคอีกทั้งเกรงว่าแสดงความเห็นไปแล้วหากขัดกับมติพรรคที่จะประกาศออกมาคือไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะยิ่งทำให้กลายเป็นปัญหาขึ้นในพรรค หลายคนจึงสงวนท่าทีกันไปหมด

ที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครกล้าแสดงความเห็นผ่านสื่อว่าควรต้องส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ก็เพราะเกรงใจมวลมหาประชาชนที่ออกมาร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส.ทำให้ก็เลยรอไปคุยกันในที่ประชุมพรรควันเดียวจบ

แม้แต่พวกปากกล้าอย่างอลงกรณ์ พลบุตร รอบนี้ก็ยังบอกต้องรอมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคอย่างเดียวเท่านั้น

โดยแนวความคิดของกลุ่มหลังก็อย่างที่รู้ๆกันคือมองว่า หากหากพรรคไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง จะทำให้ถูกเพื่อไทยซัดให้เสียหลักการทางการเมืองได้ว่าเป็นพรรคการเมือง มีเลือกตั้งแต่กลับบอยคอย และมัวแต่เล่นการเมืองนอกกติกา

รวมถึงเห็นว่าสถานการณ์เวลานี้กับตอนที่พรรคบอยคอตเลือกตั้งเมื่อปี 49 สถานการณ์ต่างกันสิ้นเชิงตอนนั้นหลายพรรคเอาด้วยกับประชาธิปัตย์ แต่เวลานี้ก็เห็นชัดว่าทุกพรรคการเมืองต่างประกาศส่งคนลงเลือกตั้งหมดภูมิใจไทย อดีตแนวร่วมฝ่ายค้านวันนี้ก็เปิดตัวชัดว่ารอเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

กลุ่มที่หนุนให้พรรคส่งคนลงเลือกตั้งจึงมองว่าหากพรรคไม่ส่งคนลงเลือกตั้งก็จะเป็นแค่พรรคเดียวที่ไม่เอาด้วย ยิ่งมีข่าวลือต่างๆ ว่าทักษิณ ชินวัตรและแกนนำเพื่อไทยเตรียมแผนรับมือหาก ปชป.บอยคอตไว้แล้วเพื่อให้การเลือกตั้งเดินหน้าต่อไปได้การที่ ปชป.ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร จึงควรส่งลงเลือกตั้ง แล้วให้เวทีราชดำเนินขับเคลื่อนกันไปส่วนจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ 2 ก.พ. 57 ก็เป็นเรื่องของอนาคต

ประชาธิปัตย์จะเอายังไงจะบอยคอตเลือกตั้งหรือจะร่วมสังฆกรรม มองกันตามสภาพก็ต้องยอมรับว่าไม่ว่าตัดสินใจแบบไหน มีได้-มีเสีย ด้วยกันทั้งสิ้น แต่หากจะยืนข้างมวลชนและจริงใจต่อการปฏิรูปประเทศจริง หลายเสียงของมวลชนก็เห็นพ้องตรงกัน ประชาธิปัตย์ต้องไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง

ช่างเป็นการตัดสินใจที่ยากมากที่สุดครั้งหนึ่งของพลพรรคเสื้อสีฟ้าจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น