xs
xsm
sm
md
lg

ยึดราชดำเนินไล่รัฐบาล ผบ.ตร.โยน"บิ๊กแจ๊ด"รับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ม็อบอุรุพงษ์" เคลื่อนขบวน ยึดถนนราชดำเนินนอก ยกระดับไล่รัฐบาล ส่วนที่ธรรมศาสตร์ ชุมนุมล้นลานปรีดี อัด "รัฐบาลปู" สร้างตราบาปต่อระบบรัฐสภา โกหกซ้ำซาก ก่อนเคลื่อนขบวนไปรัฐสภาจี้วุฒิฯคว่ำ ร่างนิรโทษฯ ขณะที่แยกอโศกรวมพลเรือนหมื่น เป่านกหวีดไล่รัฐบาล "ปู" พล่าน เรียกถกฝ่ายความมั่นคง ตั้ง 3 วอร์รูมรับมือ ก่อนจะแถลงเองเป็นรอบที่ 3 ยืนยันไม่ลักไก่เอา ร่าง กม.ฉาวเข้าสภาอีก ไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน และจะไม่ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ด้าน ผบ.ตร.โยนเผือกร้อนให้"แจ๊ด"

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)และภาคีเครือข่าย 77 จังหวัด ที่แยกอุรุพงษ์ เช้าวานนี้ (7พ.ย.) เป็นไปอย่างคึกคัก ผู้ชุมนุมได้ทยอยเข้าร่วม พร้อมเก็บสิ่งของเตรียมเคลื่อนตัวออกเดินทาง ตามที่ นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษาคปท. นัดเคลื่อนขบวนในเวลา 10.00 น. เพื่อยกยกระดับชุมนุมปลดปล่อยชาติออกจากระบอบทักษิณ โดยมีการแจกหมวก และหน้ากากกันแก๊สน้ำตา

เวลา 10.00 น. แกนนำ คปท.ได้นำเคลื่อนขบวนออกจากแยกอุรุพงษ์ เดินทางเข้าสู่ถนนเพชรบุรี เลี้ยวขวาเข้าไปถนนหลานหลวง เลี้ยวขวาเข้าถนนจักรพรรดิพงษ์ มุ่งหน้าไปที่ถนนราชดำเนิน จนเมื่อเวลา 11.05 น. ขบวนถึงถนนราชดำเนินนอก และหยุดตั้งขบวนที่แยกจปร. เพื่อที่จะมุ่งหน้าไปสะพานมัฆวานรังสรรค์

เวลา 12.00 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา คปท. และ นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงาน คปท.ได้เป็นตัวแทนในการเจรจากับ พ.ต.อ.ทรงพล วัธนะชัย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ( ผบก.น.1) เพื่อให้ตำรวจถอยแนวไปอยู่หลังแบริเออร์ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่ พ.ต.อ.ทรงพล แจ้งว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผุ้อำนวยการศูนย์รักษาควาทสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ไม่อนุญาตให้มีการร่นแถว และให้ตั้งแถวที่บริเวณหน้ายูเอ็น เช่นเดิม ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุม ยึดพื้นที่ถนนราชดำเนินนอก บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ห่างจากแนวตำรวจที่ตั้งแถวอยู่ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประมาณ 20 เมตร ตั้งเวทีปราศรัยโค่นล้มรัฐบาล หันหน้าเข้าทำเนียบฯ

นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานคปท. เปิดเผยว่า การยึดพื้นที่ถนนราชดำเนินนอกในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับอีกขั้นหนึ่ง ยืนยันว่าในวันนี้จะไม่มีการเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามพิเศษ บริเวณทำเนียบรัฐบาล แต่หลังจากนี้ จะใช้เวลา 1-2 วัน ประเมินการชุมนุม และยอมรับว่าจำนวนมวลชน เป็นปัจจัยหลักในการเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งจุดที่จะยกระดับต้องเป็นจุดที่สามารถกดดันนายกรัฐมนตรีได้

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว แต่เป็นขับไล่รัฐบาลจนถึงจุดแตกหัก และปฏิรูปประเทศไทย

** มธ.เคลื่อนพลจี้วิฒิฯคว่ำกม.นิรโทษฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกันนี้ กลุ่มประชาคมและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ได้รวมตัวกันที่ ลานปรีดี พนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงพลังต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และอาจารย์ มาร่วมงานจำนวนมาก จนล้นไปถึงสนามฟุตบอล มีการปราศรัยของอาจารย์และศิษย์เก่า อาทิ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และการแถลงการณ์ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีเนื้อหาสรุปว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สร้างตราบาปต่อระบบรัฐสภา ด้วยการใช้เสียงข้างมากทำสิ่งผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย เป็นการสร้างวิกฤติศรัทธา และวิกฤติความเชื่อมั่นต่อนักการเมืองและสังคมการเมืองไทยในสายตาประชาชนให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก เป็นการใช้อำนาจที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกเข้ามาอย่างผิดหลักนิติธรรมอย่างมหันต์ ด้วยการใช้อำนาจนั้นไปก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมอย่างเหลิงอำนาจ รัฐบาลมีพฤติกรรมโกหกหลายครั้ง หลายหน ไม่เฉพาะการ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ เพียงเพื่อเอาชนะทางการเมืองโดยอ้างความปรองดองบังหน้า

จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ในฐานะเสียงข้างมากในสภาว่า หากยังยืนยันที่จะบริหารประเทศต่อไป ต้องเร่งปฏิบัติตามสิ่งที่แถลงไว้โดยเร็วที่สุด อย่าทำเพียงเพื่อเอาชนะทางการเมือง อย่าตระบัดสัตย์ซ้ำเหมือนในกรณีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีก แต่หากไม่สามารถทำได้ ท่านหมดความชอบธรรม ในการบริหารประเทศอีกต่อไป

ต่อมาเวลา 10.00น. ได้ตั้งแถว เคลื่อนขบวนเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัย ด้านหอประชุมใหญ่ ผ่านถนนราชดำเนินไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภา ให้ทำตามคำแถลงที่ว่า จะคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนของธรรมศาสตร์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดที่บริเวณก่อนจะถึงหน้าอาคารที่ทำการสหประชาชาติ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ จึงได้เจรจากับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งตัวแทน 10 คน เข้าไปยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้คว่ำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษตามที่ได้ประกาศไว้

*** อโศกกระหึ่ม! มวลชนนับหมื่นรวมตัวเป่านกหวีด

เวลาประมาณ 12.30 น. บรรยากาศผู้ชุมนุมบริเวณทางเชื่อมต่อหน้าห้างสรรพสินค้า Terminal 21 หน้าแน่นด้วยกลุ่มนักศึกษาและพนักงานที่พร้อมใจกันเป่านกหวีด ทั้งนี้ยังมีกลุ้มนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประมาณ 300 คน เดินทางมาจาก มศว ประสานมิตร เพื่อไปรวมตัวกับกลุ่มประชาชนและพนักงานในบริเวณใต้บริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศก ทำให้ผิวจราจรเต็มพื้นที่

**บินไทยห้ามพนง.ชุมนุมในพื้นที่บริษัท

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยกองบริการสื่อสารภายใน ได้ออกหนังสือภายในแจ้งถึงพนักงานทุกคน เรื่องการใช้พื้นที่ของบริษัทฯ เพื่อชุมนุมหรือแสดงความเห็นทางการเมือง โดยระบุว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของบริษัท ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐวิสาหกิจ จึงใคร่ขอความร่วมมือพนักงานทุกท่านและบุคคลภายนอกใดๆ มิให้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบริษัทฯในการชุมนุมเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม ขอให้พนักงานกรุณาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ด้วยจักขอบคุณยิ่ง

ทั้งนี้หนังสือภายในดังกล่าว ได้ออกภายหลังสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกินการบินไทยได้ออกแถลงการณ์ถึงสมาชิกและพนักงานบริษัทฯ และสมาชิก ถึงจุดยืนในการคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเชิญชวนให้พนักงานบริษัท ร่วมแสดงพลังคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ขจัดความกลัว ต่อต้านความชั่ว รวมตัวแสดงพบังคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม...คนโกง บริเวณหน้าเสาธง ริมสระน้ำ บริษัท สำนักงานใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้

**"ปู"เรียกมั่นคงถกตั้ง 3 วอร์รูมสู้ศึก

ขณะที่การเคลื่อนไหวในส่วนของรัฐบาลนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่งดภารกิจ จ.ชลบุรี เดินทางกลับกรุงเทพฯ กลางดึกของคืนวันที่ 6 พ.ย. เพื่อเกาะติดสถานการณ์ การยกระดับการชุมนุมของกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่างๆ ในการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยนายกฯ เดินทางออกจากบ้านพัก เมื่อเวลา 09.17 น. ไปยังทำเนียบรัฐบาล และได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงทันที โดยมีพล.ต.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายวราเทพ รัตนากร นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายชัยเกษม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขา สมช. และนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วม โดยใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง

พล.ท. ภราดร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เป็นการประเมินสถานการณ์หลังกลุ่มมวลชนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยกระดับการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ สั่งตั้งทีมวอร์รูม 3 ชุด ประกอบด้วย 1. ชุดจัดระเบียบผู้ชุมนุม โดยมีรมว.มหาดไทย และผบ.ตร. ร่วมดูแล 2. ชุด ประมวลเนื้อหาประชาสัมพันธ์ มีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม ทำงานร่วมกับรมว.ไอซีที ที่จะดูในเรื่องสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านระบบโซเชียลมีเดีย และ 3. ทีมงานด้านกฎหมาย มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคณะทำงาน ซึ่งนายกฯ ย้ำผู้ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ และนายกฯพร้อมชี้แจงเองในเรื่องที่จำเป็น

**ผบ.ตร.โยนเผือกร้อนให้"แจ๊ด"

ด้านพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. ได้มอบหมาย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็น ผอ.กองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.) โดยใช้กองกำลังตำรวจ 49 กองร้อย (7,595 นาย) แบ่งเป็นปฏิบัติการในพื้นที่ 46 กองร้อย (6,900 นาย) เตรียมพร้อม ณ ที่ตั้ง 3 กองร้อย (450 นาย) โดยใช้กองกำลังผสมผสมทั้งจาก บช.น. และ บช.ภ.1-7

ทั้งนี้ ตามแผนของ กกล.รส.ได้แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

ศูนย์ป้องกันทำเนียบรัฐบาล มีกำลัง 20 กองร้อย (3,000 นาย) ควบคุมโดย พล.ต.ต.สุธีร์ เนรกัณฐี รอง ผบช.น. ,ศูนย์ป้องกันรัฐสภา มีกำลัง 19 กองร้อย (2,850 นาย) ควบคุมโดย พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รอง ผบช.น. , ที่ทำการบ้านพิษณุโลก 2 กองร้อย (300 นาย) ควบคุมโดย พล.ต.ต.ชาญเทพ เสสะเวช รอง ผบช.น. ,ที่ทำการโยธินพัฒนา (บ้านพักนายกฯ) 5 กองร้อย (750 นาย) ควบคุมโดย พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รอง ผบช.น.

นอกจากนี้ ยังประกอบด้วย ชุดเคลื่อนที่เร็ว / ชุดอำนวยความสะดวกด้านจราจร

ทั้งนี้ ได้กำหนดจุดเฝ้าระวังรวม 15 จุด อาทิ บ้านพัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริเวณรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล แยกราชวิถี แยกขัตติยานี แยกการเรือน ลานพระบรมรูปฯ แยกวัดเบญจฯ สะพานชมัยมรุเชฐ เป็นต้น

ทั้งนี้จากการประเมิน คาดว่าผู้ที้่มาชุมนุมจะลดลง หลังจากที่สภาถอน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ 6 ฉบับออกไปแล้ว และเมื่อวุฒิสภา คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 8 พ.ย. และคาดว่าจะสลายการชุมนุมในวันที่ 11พ.ย.

**“ประยุทธ์”ยกเลิกบินเยือนพม่า

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ได้ยกเลิกภารกิจเดินทางไปร่วมงานการทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธี กองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 23 และการประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย. อย่างกระทันหัน โดยมอบหมายให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ.เดินทางไปร่วมงานแทน เนื่องจากมีความเป็นห่วงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงต้องการอยู่ติดตามสถานการณ์

ทั้งนี้ในการประชุมสรุปสถานการณ์ประจำวันในช่วงเช้า ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้มีการกำชับให้กำลังพลจับตาสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยตลอดทั้งวัน พล.อ.ประยุทธ์ นั่งจับตาสถานการณ์ผ่านจอทีวีมอนิเตอร์ภายในกองทัพบก และในช่วงที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ทางเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร(สห.) และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยพร้อมสุนัขทหาร ได้มีการตรวจรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด โดยมีการใช้กุญแจล็อคปิดประตูด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทะลักเข้ามาภายในกองทัพบก

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงในช่วงเช้า ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานในการประชุมนั้น ทางพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้รายงานสถานการณ์การชุมนุม และยอดผู้ชุมนุมให้นายกฯรับทราบ โดยนายกฯ ไม่ได้แสดงอาการวิตกกังวล แต่เป็นห่วงว่าจะมีมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย

** "ปู"แถลงรอบ 3 คว่ำนิรโทษฯ

เมื่อเวลา 14.35 น. วานนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวเป็นครั้งที่ 3 ย้ำถึงจุดยืนรัฐบาลต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ว่า ขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติถอนร่างแล้ว ถือว่าเป็นการแสดงออกที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ถือว่าจบสิ้นจริงๆ และพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จุดมุ่งหมายจริงแล้วต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับการเดือดร้อน และผู้ที่ได้รับผลพวงจากรัฐประหารเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่มีข้อความต่างๆ เผยแพร่ออกมาว่าจะช่วยเหลือคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตนั้น ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะคดีที่หลายคนกังวล คือคดีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ไม่ได้เกี่ยวกับพ.ร.บ.ฉบับนี้เลย แต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่ารัฐบาลจะใช้ความรุนแรง หรือจะใช้กำลังทหารออกมาปราบปรามประชาชน ขอยืนยันว่า เราอยู่กันด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย อยากเห็นสันติภาพและความสงบสุขเกิดขึ้นในประเทศ ดังนั้นการดูแลความมั่นคงวันนี้เราคงใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด และยืนยันว่าไม่มีการสั่งการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือกองทัพเข้ามาช่วยเหลือ ดูแลด้านความมั่นคง

“ยืนยันว่ารัฐจะไม่ใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนเด็ดขาด ทุกอย่างจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและขอความกรุณาพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือต่างๆ อยากให้รับฟังข้อมูลหลายๆด้าน และถ้าไม่จำเป็นก็ขอวิงวอนว่าอย่าเข้าไปใกล้บริเวณพื้นที่เสี่ยง เพราะเป็นห่วงเรื่องมือที่สาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามดูแลทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนที่สัญจรไปมา และเมื่อวันนี้ทุกฝ่ายประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนแล้ว ก็อยากให้พี่น้องประชาชนยุติการชุมนุมเถอะค่ะ โปรดเชื่อ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แสดงเจตนารมณ์ว่าจะได้ร่วมกันเดินหน้าประเทศต่อไป เพราะประเทศบอบช้ำมามากแล้ว ไม่อยากให้มีเหตุการณ์ต่างๆมาซ้ำเติมประเทศของเราอีก รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง เราเคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน เคารพเสียงของประชาชน และยืนยันแล้วว่าไม่นำพ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมาพิจารณาใหม่อย่างเด็ดขาด” นายกฯกล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความวุ่นวาย มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทย เพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มเตือนประชาชนของเขาในการเข้ามาในประเทศไทย และไทยกำลังจะเป็นศูนย์กลางอาเซียนไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง หรือแม่แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่กล้ามา ก็จะกระทบกับผู้ประกอบการ

“เหตุการณ์ต่างๆ เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการคุยกัน การยื่นข้อเสนอต่างๆรัฐบาลก็พร้อมรับ รัฐบาลไม่อยากเห็นการชุมนุมยืดเยื้อ จึงขอความกรุณา ยืนยันอีกครั้งว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยกเลิกแล้ว และรัฐบาลไม่ฝืนความรู้สึกประชาชน รัฐบาลไม่ใช้กำลังรุนแรง และรัฐบาลก็จะไม่ทำอะไรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยเด็ดขาด”นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่า คนที่อยู่ในที่คุมขัง รัฐบาลจะช่วยอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลคงต้องหารือยืนยันว่า ผู้ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เราต้องช่วยกัน แต่คงต้องหารือ ร่วมกับประชาชน เพราะวันนี้ประเด็นที่เป็นห่วงและถกเถียงกันคือ เนื้อหาเรื่องของการนิรโทษกรรม แต่เป้าหมายการดูแลประชาชนผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังเป็นสิ่งที่ทุกคน และทุกภาคส่วนให้ความเห็นชอบ ซึ่งคงต้องหารือในรายละเอียดต่อไป ขออนุญาตจบเป็นขั้นๆ ก่อน ตอนนี้ขออนุญาตให้ประชาชนสบายใจก่อนว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่หลายๆ คนเป็นห่วงนั้น ไม่มีการกลับมาหยิบใช้อีก แต่การหาแนวทางต่างๆ คงต้องหารือต่อไป โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลองไปคิดไปศึกษา

เมื่อถามว่า รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน คิดว่าฝ่ายค้านควรกลับไปมองตัวเองอย่างไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราอยากขอความกรุณา เพราะจริงๆ เราได้ทำตามเจตนารมณ์ทั้งหมดแล้ว เพราะเรามองว่าข้อกังวลของสังคม แม้ว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง และมีเสียงส่วนใหญ่ แต่เราก็รับฟังในส่วนของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งเราได้ตอบสนองในข้อเรียกร้องต่างๆครบถ้วนแล้ว ก็ต้องขอความกรุณา เราค่อยมาหาทางออกอย่างอื่น เราไม่อยากให้พี่น้องประชาชนชุมนุม และขอร้องทางด้านผู้ชุมนุมด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาคือเวลานี้ ผู้ชุมนุมขาดความไว้วางใจรัฐบาล ขณะที่นายกฯ แถลงในวันนี้ถือเป็นการแถลงครั้งที่สาม คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมฟังหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ได้ให้ความมั่นใจ วันนี้สภาผู้แทนราษฎรมีมติถอนร่างแล้ว ประชาชนน่าจะมีความสบายใจ เพราะมติของสภาฯ เป็นมติที่เรียกว่าเป็นเอกสิทธิ์ของทุกคนที่ร่วมกันโหวต และแสดงการตัดสินใจอันนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันเจตนารมณ์กลับจากทุกภาคส่วนแล้ว

เมื่อถามว่า รมว.ยุติธรรม ออกมาแถลงโดยใช้ตำแหน่งเป็นเดิมพัน ถ้ารัฐบาลหรือ ส.ส.พรรคไทย หยิบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับมาใหม่ จะลาออกจากตำแหน่ง นายกฯ จะทำแบบนั้นด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ทุกอย่างได้อธิบายไปแล้ว มติต่างๆ ก็ยืนยันแล้ว ขอให้ดูเถอะ วันนี้บอกไม่เชื่อ แต่อย่างไรขอให้ดูว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วเราอยากให้ทางวุฒิสภาบรรจุเรื่องนี้ในการหารือเลย เพื่อให้ประชาชนได้สบายใจ ถ้ามีการบรรจุเลย ก็จะได้คลายความกังวลได้มากขึ้น ซึ่งวันนี้เราคงต้องรอฟังผลทางวุฒิสภาว่า จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาเมื่อไร ถ้ายิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งทำให้คลายความกังวลใจของสังคมได้

เมื่อถามว่า ตอนนี้ม็อบเปลี่ยนข้อเรียกร้องเป็นการขับไล่รัฐบาล จะต้องมีการทบทวนแนวทางทางการเมืองหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการพิจารณาและรับฟัง อะไรที่เป็นความเดือดร้อนอยากขอให้อย่ามาเป็นปัญหาทางการเมืองเลย เพราะวันนี้ปัญหาทางการเมืองหรือการชุมนุมล้มรัฐบาลเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ ทุกอย่างเรามีกลไกในการตรวจสอบของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือทางด้านของรัฐสภาก็มีการตรวจสอบแล้ว กลไกทางระบอบทางประชาธิปไตยจะเป็นกลไกที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

**“สตรีวิทย์”ปิดเรียน 8 พ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ โรงเรียนสตรีวิทยา ที่ตั้งอยู่บนถนนดินสอ ใกล้กับบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้มีการจัดชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ออกประกาศผ่านเว็บไซต์ www.satriwit.ac.th/เรื่องปิดโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. เป็นเวลา 1 วัน และขอให้นักเรียน และผู้ปกครองติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์โรงเรียน หากมีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อสอบถามบุคลากรโรงเรียน ก็ได้คำตอบว่า คณะผู้บริหารมีความกังวลเรื่องสถานการณ์ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อยู่ใกล้โรงเรียน และเกรงว่าการชุมนุมอาจมีการยกระดับขึ้น จึงตัดสินใจประกาศปิดโรงเรียนในวันศุกร์ และงดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนในวันจันทร์ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเปิดเรียนหรือไม่ เพราะคณะผู้บริหารต้องประเมินสถานการณ์วันต่อวัน บุคลากรโรงเรียนสตรีวิทยายังบอกอีกว่า หลังจากเริ่มมีการชุมนุมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางโรงเรียนได้มีการร่นเวลาเรียนจากคาบละ 50 นาที เหลือ 40 นาที และให้เลิกเรียนในเวลา 13.50 น. รวมทั้งให้งดกิจกรรมหลังเลิกเรียนทุกอย่าง รวมทั้งการซ้อมเชียร์กีฬาสี ที่ทางโรงเรียนกำลังจะจัดขึ้นก็ให้งดซ้อมเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น