xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมนักกม.ค้านนิรโทษฯ ระบุขัดหลักสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30ต.ค.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความเห็นทางกฎหมายต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่จะเข้าสู่การพิจารณา ในวาระ 2 โดย มีความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการแก้ถ้อยคำของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ดังนี้
1. กมธ.จะแก้ไขร่างกฎหมายเกินกว่ามติรับหลักการในวาระแรกไม่ได้ เพราะ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย เหมะ นั้นมีเจตนารมณ์เพียงการนิรโทษกรรมแก่ “บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง” ในระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น แต่การที่กมธ.ได้แก้ไขให้ครอบคลุมถึงฐานความผิดอันเกิดจากการกล่าวหาขององค์กรหลังการรัฐประหารและการดำเนินงานขององค์กรอื่นสืบเนื่องมา ซึ่งจะรวมถึงความผิดในคดีทุจริตหลายคดี ครอบคลุมระยะเวลาการกระทำความผิด ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ซึ่งไม่เคยมีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตมาก่อน รวมถึงครอบคลุมถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจตัดสินใจ หรือสั่งการในการเคลื่อนไหวดังกล่าว ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการของ ร่าง พ.ร.บ. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับหลักการในวาระแรก ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 117 ซึ่งบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของกมธ. ว่าอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่ง ร่าง พ.ร.บ.นั้น รวมถึงขัดต่อหลักการในการร่างกฎหมายอันเป็นหลักการในระดับรัฐธรรมนูญ
2. การนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน การนิรโทษกรรมเป็นกระบวนการหนึ่งของการปรองดองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่การนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขนั้น ย่อมขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และสร้างวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด (impunity) ดังนั้นการนิรโทษกรรมนั้น จำเป็นกระทำอย่างมีเงื่อนไข ซึ่งควรพิจารณาเงื่อนไขที่สำคัญได้แก่
2.1 เงื่อนเวลาที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้กำหนดไว้ ชัดเจนว่าจะมีการนิรโทษกรรม ในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 19 ก.ย.49 ซึ่งเกิดการรัฐประหาร อันเป็นหนึ่งในต้นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมือง และสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พ.ค.54 ซึ่งเป็นวันที่นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา แต่การขยายกรอบระยะเวลาให้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 นั้น แม้จะเริ่มมีการชุมนุมทางการเมือง แต่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม จึงต้องยึดถือหลักเกณฑ์ “ความขัดแย้งทางการเมือง”เป็นสำคัญในการกำหนดเงื่อนเวลาเริ่มต้น
2.2 ฐานความผิดที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ต้องพิจารณาถึงความมุ่งหมายที่ต้องการจะนิรโทษกรรม ซึ่งร่างงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย เหมะ มีความมุ่งประสงค์ในการนิรโทษกรรมแก่เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง หรือเพราะมูลเหตุแห่งความขัดแย้งของการเมืองของประชาชนเท่านั้น การขยายขอบเขตลักษณะแห่งการนิรโทษกรรมไปถึงความผิดหรือข้อกล่าวหาอื่นใด จากองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐบาลซึ่งจะรวมถึงคดีทุจริตด้วยนั้น จึงไม่สอดคล้องความมุ่งประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรม และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในภายหลัง ซึ่งทำให้ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมได้
2.3 กลุ่มบุคคลที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม
แม้การนิรโทษกรรมเป็นกลไกหนึ่งของหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน แต่การนิรโทษกรรมทุกกรณีย่อมไม่อาจยอมรับได้ เพราะนอกจากเป็นการสร้างวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนแล้ว การนิรโทษกรรมให้กับผู้นำความเคลื่อนไหว หรือผู้บังคับบัญชาที่มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ย่อมไม่ใช่คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็มิอาจถือเป็นเหตุยกเว้นความผิดได้ นอกจากนี้ หากเป็นการนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย ยังเป็นการงดเว้นการเยียวยาต่อประชาชน เป็นการทำลายกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ขอแสดงความกังวลว่า หากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรยังดำเนินการนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไขต่อไป จะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด และทำให้ประเทศไทยยังคงดำรงความขัดแย้งและไม่อาจออกจากวงเวียนของความรุนแรงได้ในระยะยาว ดังนั้นแล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากรอบการนิรโทษกรรมให้รอบคอบ เคารพถึงหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น