xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและทางออก

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัดของภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช กระบี่ และตรัง เป็นต้น โดยให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว จนถึงชูคำขวัญที่เป็นเท็จว่า “ถ่านหินสะอาด” ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เน้นความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลทุกด้านและให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับพร้อมกันใน 14 จังหวัดภาคใต้นาน 6 ชั่วโมงเมื่อเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะที่ยังมีความสับสนอยู่ว่าไฟฟ้าดับเพราะอะไร แต่รัฐมนตรีพลังงานได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เพราะโรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอ จำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นักวิชาการภาคประชาชนได้ตั้งข้อสังเกตว่า “มันดับเพื่อสร้างสถานการณ์หรือเปล่า”

ปัจจุบัน แม้ยังไม่มีการยืนยันว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงในเรื่องไฟฟ้าดับ แต่เมื่อไม่นานมานี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (16 มิถุนายน 56) ได้นำเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในภาคใต้ไปใช้ประโยชน์ว่า ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2013 ที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นได้มีการอ้างถึงเหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนเดิม (ที่เพิ่งปรับปรุงล่าสุดในปี 2555) จากจำนวน 4,400 เมกะวัตต์เป็น 10,000 เมกะวัตต์

ล่าสุด กฟผ.ได้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนักปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชพร้อมด้วยสื่อมวลชนไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศเกาหลีใต้ ในขณะที่มีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องตลอดมา

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ได้ติดตั้งกังหันลมจำนวน 483 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลมีเป้าว่าจะเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของโลกในด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ดีที่สุดภายในปี 2558 และมีแผนจะติดแผงโซลาร์ซลล์ให้ได้ 1 ล้านหลังคาบ้านในปี 2573 (ข้อมูลจาก Global Energy Network Institute) แต่น่าเสียดายที่ กฟผ.ซึ่งใช้เงินของประชาชน แต่ไม่ได้นำผู้นำท้องถิ่นไปดูสิ่งที่ดีๆ ที่เป็นทางออกของชาวโลกด้วย หรือว่าในสมองของพวกเขามีแต่ถ่านหิน

การกระทำในระดับปฏิบัติการในพื้นที่ของกฟผ. และการจัดทำแผนพีดีพีของกระทรวงพลังงานดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล ไม่ใช่วิธีการของอารยะชน ซึ่งในวัฒนธรรมของคนปักษ์ใต้ถือว่า คบไม่ได้ เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจมาก จนถึงกับกล่าวว่า “สูอย่ามาทำเหลียม”

บทความนี้จะขอนำเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนคนปักษ์ใต้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม การทำมาหากินและสุขภาพ ซึ่งบางองค์กร (Clean Air Task Force) ถึงกับสรุปสั้นๆ ถึงผลกระทบของถ่านหินว่า “เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ” แต่เอกสารทางการแพทย์อีกหลายองค์กรระบุว่าผลกระทบต่อคนเกิดขึ้นตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดาเลยทีเดียว เอกสารนี้จะค่อยๆ กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมดังที่กล่าวมาแล้วเป็นประเด็น รวม 4 ประเด็นดังนี้

1. ทำไมโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงได้รับการคัดค้านจากประชาชนทั่วโลก

โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถูกจัดให้เป็นโรงไฟฟ้าที่สกปรกที่สุดของโลก เพราะในกระบวนการผลิตจะต้องใช้ถ่านหินที่มีโลหะหนักที่เป็นพิษอย่างรุนแรงต่อคนและสิ่งแวดล้อมปนอยู่ เมื่อเผาถ่านหินจะเกิดเขม่าควันฟุ้งกระจาย เมื่อหายใจเข้าไปจะไปทำลายปอด โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ใน 100 ของเส้นผมคนยิ่งอันตราย เมื่อฝนตกหมอกควันดังกล่าวก็จะตกลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ ทำลายพืช สัตว์น้ำ สุขภาพคน สัตว์เลี้ยง สารปรอทจากปลาจะเข้าสู่คน นอกจากนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องใช้น้ำจืดและน้ำหล่อเย็นจำนวนมาก

ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 45% และใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินมากเป็นอันดับสองของโลก (รองจากจีน) ก็ได้ลดการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าลงมาตามลำดับ ล่าสุดประกาศจะปลด ระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าถึง 150 โรงในอีก 7 ปีข้างหน้า โดยจะหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพรวมทั้งการใช้ประหยัดพลังงานแทนพลังงานถ่านหินที่ลดลง

ไม่เพียงแต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เห็นพิษภัยของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกก็เห็นและคัดค้าน เช่น อินโดนีเซีย พม่า เป็นต้น

ที่น่าทึ่งมาก เมื่อต้นปี 2555 รัฐบาลประเทศสหภาพพม่าที่เพิ่งเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ประกาศยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 พันเมกะวัตต์ที่ทวาย โดยให้เหตุผลว่า “รัฐบาลรับฟังจากสื่อและหลังจากที่ได้ศึกษาผลกระทบแล้ว ก็เห็นว่าไม่สมควรที่จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน รัฐบาลจึงตัดสินใจยกเลิก” (ที่มา Karen News, มกราคม 2012) คนไทยฟังแล้วรู้สึกอิจฉา!

2. โรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอจริงหรือ

ถ้าคิดเฉพาะ “โรง” ไฟฟ้าแล้ว ในปี 2554ภาคใต้มีโรงไฟฟ้ารวมกันจำนวน 2,429 เมกะวัตต์ แต่ยังมีอีก 2 ระบบเข้ามาเสริม คือ (1) ระบบสายส่งจากภาคกลาง 500 เมกะวัตต์ และ (2) ระบบแลกไฟฟ้ากับประเทศมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์ซึ่งทั้งสองระบบนี้ได้ลงทุนไว้แล้วหลายหมื่นล้านบาท เมื่อไฟฟ้าของฝ่ายใดมีปัญหา อีกฝ่ายหนึ่งก็ส่งมาเสริม

ในปี 2554 ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 1,848 เมกะวัตต์เท่านั้น สำรองจึงสูงถึง 75% มันสูงกว่ามาตรฐานที่ 15% ถึงหลายเท่าตัว (สำรองมาก ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น)

กฟผ.ให้ข้อมูลว่า เกิดอุบัติเหตุเนื่องจากฟ้าผ่าระบบสายส่งในขณะที่กำลังซ่อมสายส่งอีกสายหนึ่ง ในเวลาเกิดเหตุ ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าสูงสุด 2,242.2 เมกะวัตต์ แต่มีโรงไฟฟ้าที่ทำงานอยู่เพียง 1,692.2 เมกะวัตต์ (แสดงว่ามีโรงไฟฟ้าไม่ทำงาน 736.8 เมกะวัตต์)

ข้อมูลที่ปรากฏในเวลาต่อมาว่า ไฟฟ้าดับหลังจากเกิดฟ้าผ่าแล้ว 1 ชั่วโมง กับ 26 นาที (ฟ้าผ่าเวลา 17.26 น. ไฟฟ้าดับ 18.52 น.) ช่วงเวลาดังกล่าวนานพอที่จะตัดสินใจและบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเพิ่มการผลิตจากเขื่อน ใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ แต่ใช้ได้จริงแค่ 30 เมกะวัตต์ (ขณะนี้ยังไม่มีคำอธิบาย) การประกาศผ่านสื่อโทรทัศน์ให้สังคมช่วยกันปิดไฟที่ไม่จำเป็น เป็นต้น

ดังนั้น ปัญหาไฟฟ้าของภาคใต้จึงเป็นปัญหาของการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ รวมศูนย์การตัดสินใจเพราะต้องรอคำสั่งจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติการมากเกินไป ไม่ใช่เป็นเพราะกำลังการผลิตไม่เพียงพอ

และที่ตลก(เศร้า)มากก็คือ จะขอสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่กลับขอที่ต้องใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นๆ อีกเยอะแยะ ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าพ่อค้าพลังงานได้ลงทุนทำเหมืองถ่านหินต่างประเทศไว้แล้ว

อนึ่ง ในปี 2557 โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลาโรงที่สองขนาด 800 เมกะวัตต์ก็จะสร้างแล้วเสร็จ และในปี 2559 โรงไฟฟ้าใหม่ที่อำเภอขนอมขนาด 900 เมกะวัตต์จะเข้ามาแทนที่โรงไฟฟ้าเก่า 700 เมกะวัตต์ ดังนั้น เฉพาะสองโรงนี้ก็มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นแล้วถึงหนึ่งพันเมกะวัตต์

ประชาชนในภาคใต้ที่ได้ติดตามแผนพัฒนาภาคใต้อย่างใกล้ชิดเชื่อว่า การสร้างโรงไฟฟ้าไว้จำนวนมากมายขนาดนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

คนภาคใต้ไม่ได้คัดค้าน “การพัฒนา” ไม่ได้ขัดขวางความเจริญ ปัญหามีอยู่ว่า “การพัฒนา” คืออะไรกันแน่

ท่านพุทธทาสภิกขุปราชญ์ชาวใต้ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ได้เขียนไว้ในสมุดบันทึกของท่านอย่างสั้นๆ ว่า “คำว่า พัฒนา ตามตัวหนังสือนั้นแปลว่าโตขึ้นเท่านั้น ดีก็ได้ บ้าก็ได้”

คนภาคใต้ต้องการสิ่งที่ดีให้มีเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จึงได้เสนอต่อรัฐบาลทุกชุดเสมอมาว่า ต้องการการพัฒนาที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเน้นการพัฒนาที่ต่อยอดจากการเกษตร การท่องเที่ยว การประมง และการศึกษาซึ่งวันนี้จากการสำรวจขององค์กรระดับโลกพบว่า คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยเราได้ตกต่ำมาอยู่อันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศของกลุ่มอาเซียนแล้ว ขณะเดียวกัน คนภาคใต้ได้ก็ร้องขอและยืนหยัดคัดค้านไม่ให้รัฐบาลพรรคใดก็ตาม จงอย่าได้ชักนำสิ่งที่บ้าเข้ามาเพิ่มเติมในพื้นที่อีกเลย

3. ถ่านหินสะอาดมีที่ไหนในโลก?

องค์กรที่ชื่อว่า “แพทย์เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม” (Physicians for Social Responsibilty) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมรับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2528 ได้ออกรายงาน (พฤศจิกายน 2552, รูปหน้าแรกมาจากรายงานฉบับนี้) ได้สรุปว่า “มลพิษจากถ่านหินมีผลเสียต่อทุกระบบของร่างกายมนุษย์และมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่ 4 ใน 5 โรคที่ทำให้คนอเมริกันตายมากที่สุด คือ โรคหัวใจ มะเร็ง โรคระบบหายใจส่วนล่าง และโรคสมองขาดเลือด” รายงานระบุอีกว่า “ทุกขั้นตอนที่เกี่ยวกับถ่านหิน ไม่ว่า การทำเหมือง การขนส่ง การล้าง การเผาไหม้ และการกำจัดของเหลือจากการเผาคือขี้เถ้าล้วนมีผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์”

นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ทารกในครรภ์พัฒนาช้า ทำให้การเต้นของหัวใจในผู้ใหญ่แปรปรวน

กลุ่มพ่อค้าถ่านหินระดับโลกและ กฟผ.ได้ชูคำขวัญว่า “ถ่านหินสะอาด” ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะองค์ประกอบของถ่านหินมีมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อเผาก็เป็นไปกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์

กฟผ. ได้อ้างถึงเทคโนโลยีสะอาดโดยมีเครื่องดักจับเขม่าควัน แต่สามารถดักจับได้ประมาณ 90 ถึง 99% เท่านั้น โดยปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 4.7 ล้านตัน ลองคิดดูก็แล้วกันว่าที่เหลือจะมีจำนวนเท่าใด ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐอเมริกาเองมีการติดตั้งเครื่องดับจับที่เรียกว่า Activated Carbon Injection เพียง 8% ของทั้งหมดเท่านั้น เพราะมันแพง

อนึ่ง เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Carbon Capture and Storage ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่ผู้สันทัดกรณีบอกว่ายังไม่สามารถจะติดตั้งได้ก่อนปี 2573 และจากรายงานของสำนักงานงบประมาณสภาสหรัฐฯ ระบุว่า หากติดอุปกรณ์ดังกล่าวแล้วค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นอีก 76% โดยสรุป เรื่องถ่านหินสะอาดจึงเป็นเรื่อง “ขี้หกทั้งเพ”

นอกจากปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้น้ำจืด การใช้น้ำหล่อเย็น และการระบายน้ำทิ้ง ดังตาราง

4. ทางออกของปัญหามี แต่กลุ่มพ่อค้าไม่ยอม

ถ้าเปรียบประชากรโลกเป็นแพะและพลังงานเป็นกองหญ้าซึ่งมีอยู่ 2 กอง แพะอยากจะกินหญ้าทั้งสองกองอย่างอิสระ แต่ไม่สามารถจะทำได้ เพราะเหมือนมีเชือกมาล่ามไว้ให้กินจากกองเดียวเท่านั้น

กองหญ้าที่ฝูงแพะถูกล่ามให้กินก็คือ พลังงานฟอสซิล ซึ่งได้แก่ ปิโตรเลียมและถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าที่พ่อค้าพลังงานสามารถผูกขาดได้ กองหญ้าที่แพะไม่สามารถมากัดกินได้ก็คือพลังงานหมุนเวียนซึ่งก็คือพลังงานที่เมื่อหมดแล้วก็สามารถเกิดขึ้นมาใหม่ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ได้แก่ แสงแดด ลม ชีวมวล พลังน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

เราถูกล้างสมองว่า พลังงานหมุนเวียนมีความไม่มั่นคง ลมไม่ดีบ้าง ต้นทุนบ้าง แต่จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาพบว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พลังงานแสงแดดมีต้นทุนถูกกว่าพลังงานนิวเคลียร์และนับวันจะถูกลงเรื่อยๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีราคาถูกก็เพราะเขาผลักต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ชุมชนเป็นผู้รับภาระแทน

ในปี 2555 ประเทศเยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและชีวมวล (ซึ่งเรามีมากกว่า) ได้ถึง 46% ของที่ประเทศไทยใช้ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยในเรื่องความเป็นไปได้ ในเรื่องราคาก็ถูกลงอย่างที่กล่าวแล้ว

โรงไฟฟ้าประเภทนี้ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่แย่งน้ำจืด ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ทำลายแหล่งประมง แถมชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ไม้ฟืนตามหัวไร่ปลายนา หรือค่าเช่าที่ดิน

แต่ทำไมกระทรวงพลังงานจึงไม่เลือก?
กำลังโหลดความคิดเห็น