xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจปัญหาสำคัญของพลังงานโลกด้วยภาพเดียว

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

“ถ้าเปรียบประชากรโลกเป็นแพะและพลังงานเป็นกองหญ้าซึ่งมีอยู่ 2 กอง แพะอยากจะกินหญ้าทั้งสองกองอย่างอิสระ แต่ไม่สามารถจะทำได้ เพราะเหมือนมีเชือกมาล่ามไว้ให้กินจากกองเดียวเท่านั้น”

ประโยคดังกล่าวเป็นคำพูดของผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงานวุฒิสภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คำพูดดังกล่าวตามหลังจากคำอธิบายที่ค่อนข้างยืดยาวของผม แต่ท่านผู้นี้ได้ทำให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ ชัดเจน ทำให้ผมคิดถึงภาพการ์ตูนภาพหนึ่งซึ่งผมเก็บไว้ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมนำภาพนี้มาให้ดูพร้อมคำอธิบายสั้นๆ ครับ แต่ต้องขออภัยที่ผมเสริมตัวหนังสือทำให้ภาพดูเลอะไปหน่อย (ขออภัยผู้วาดชาวยุโรปด้วยที่ผมจำชื่อไม่ได้)

กองหญ้าที่ฝูงแพะถูกล่ามให้กินก็คือ พลังงานฟอสซิล ซึ่งได้แก่ ปิโตรเลียมและถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าที่พ่อค้าพลังงานสามารถผูกขาดได้ เพราะแหล่งที่มาของมันอยู่ลึกลงไปใต้ผิวดินนับหลายพันเมตร จึงเป็นการยากที่คนทั่วไปจะสามารถเอามาได้ ประสิทธิภาพของการผูกขาดนั้นวัดได้จากตัวเลขกำไรมหาศาลของบริษัท รวมถึงความไม่มีธรรมาภิบาล (หมายถึงการไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่แยแสต่อเสียงเรียกร้อง แต่นิยมซื้อสื่อเพื่อสร้างภาพ และร่วมมือกับนักการเมืองที่โกงกิน เป็นต้น) หรือวัดกันที่ความสามานย์ของทุน

ฝูงแพะดังกล่าวได้ถูกล่ามโซ่มาเป็นเวลานาน ความจริงก็ไม่นานเท่าไหร่หรอกนะ จากข้อมูลพบว่าประมาณ 96% ของพลังงานฟอสซิลของโลกที่ถูกใช้ไปแล้วในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ได้ถูกใช้ไปอย่างไม่บันยะบันยังก็เมื่อ 65 ปีมานี้เอง

กองหญ้าที่แพะไม่สามารถมากัดกินได้ก็คือ พลังงานหมุนเวียนซึ่งตามตัวหนังสือก็คือพลังงานที่เมื่อหมดแล้วก็สามารถเกิดขึ้นมาใหม่ได้ (renewable energy) ในช่วงเวลาสั้นๆ ได้แก่ พลังงานแสงแดด ลม ชีวมวล พลังน้ำขนาดเล็ก พลังคลื่นในทะเล เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า พลังงานที่ชาวโลกใช้ทั้งหมดทั้งปีในปัจจุบันนี้นั้นมีค่าเท่ากับพลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่องมาให้โลกเพียง 8 นาทีเท่านั้น ตัวเลขนี้ได้สะท้อนให้เราทราบว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์นั้นมีมากมายเหลือเฟือและไม่มีวันหมด ปัจจุบันมนุษย์มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาก เช่น สามารถเอาแสงแดดมารวมแสงเพื่อต้มน้ำ แล้วสามารถเก็บน้ำร้อนไว้ได้นานถึง 2-3 วันเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ปัญหาก็คือมนุษย์ส่วนมากถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน (ที่มองไม่เห็น) ไว้กับกองพลังงานฟอสซิล ไม่ยอมให้ได้พลังงานหมุนเวียนที่พระอาทิตย์มอบมาให้มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การที่ถูกล่ามไว้นานๆ ทำให้เกิดความเคยชินจนลืมความจริงว่าหญ้าหรือกองอาหารนั้นยังมีอีกกองหนึ่งนะ

ที่น่าขันก็คือ มนุษย์ที่มีหัวก้าวหน้าต่างเรียกร้องหาประชาธิปไตย เรียกร้องการกระจายอำนาจ การกำหนดอนาคตตนเองซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “ประชาธิปไตยท้องถิ่น (Local Democracy)” แต่กลับมองไม่เห็นแหล่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ซึ่งขอเรียกรวมๆ ว่า “พลังงานท้องถิ่น (Local Energy)” ซึ่งรวมถึงพลังงานชีวมวลจากพืชซึ่งถือว่ามาจากดวงอาทิตย์เช่นกัน

หากย้อนหลังไปประมาณสองร้อยปี ชาวโลกส่วนใหญ่ปกครองกันด้วยระบบทาส แต่การใช้พลังงานส่วนมากเป็นพลังงานจากดวงอาทิตย์ หรือกล่าวได้ว่ามนุษย์มี “ประชาธิปไตยด้านพลังงาน” แต่ในปัจจุบันประเทศส่วนมากได้พัฒนาเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยแล้ว แต่การใช้พลังงานกลับกลายเป็นเข้าไปสู่ “ระบบทาส” ที่ขึ้นอยู่กับพ่อค้าผูกขาดด้านพลังงานจะเป็นผู้กำหนดทั้งประเภทและราคาที่สูงขึ้นอย่างไร้เหตุผล และที่สำคัญเป็นพ่อค้าพลังงานข้ามชาติเสียด้วย

ก่อนที่จะอธิบายภาพนี้ต่อไป ลองมายกตัวอย่างของประเทศไทยเราครับ ว่ากันตามข้อมูลที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ ในปี 2536 คนไทยใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 16 ของมูลค่าพลังงานทั้งหมด แต่เมื่อ 20 ปีผ่านไป คือครึ่งปีแรกของ 2556 ร้อยละดังกล่าวได้ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

คราวนี้มาดูมูลค่าใช้พลังงานเมื่อเทียบรายได้หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กันบ้าง สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 18 (ปี 2555 เท่ากับ 19) และถ้าย้อนหลังไปถึงปี 2529 (ตามที่มีข้อมูล) สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อรายได้เท่ากับร้อยละ 7 เท่านั้น และถ้าเอาตัวเลขที่ผมจำได้ ในปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม (2504) มันแค่ 1% เท่านั้น

ในเชิงตัวเลขของจีดีพี ในครึ่งปีนี้เท่ากับ 5.95 ล้านล้านบาท แต่เราได้จ่ายค่าพลังงานไป 1.05 ล้านล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นค่าน้ำมัน 63% และไฟฟ้า 26% หรือ 2.72 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ตัวเลขของประเทศไทยที่ผมได้ยกมานี้ได้ตอกย้ำความจริงตลอด 20 ปีมานี้ 2 ประการที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ (1) เราถูกล่ามให้ใช้พลังงานฟอสซิลมากขึ้นกว่าเดิม 4 เท่าตัว และ (2) ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นเป็น 18

ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่า การนำมูลค่าของพลังงานทั้งสองมาเทียบกันอาจจะไม่สะท้อนความจริงได้ดีนัก เพราะราคามันขึ้นกับกลไกการตลาด ใครจะปั่นให้สูงต่ำก็ได้ ถ้าอย่างนั้นไปพิจารณาถึงขนาดของพลังงานที่เป็นหน่วยทางฟิสิกส์ซึ่งไม่ขึ้นกับกลไกการตลาด ก็พบว่าในปี 2529 เราเคยใช้พลังงานหมุนเวียน 40% แต่ในปัจจุบันมันลดลงมาเหลือ 17% เท่นั้น

ผมเคยนำข้อมูลมานำเสนอในคอลัมน์นี้แล้วว่า จากการสำรวจ 60 ประเทศ (ที่มีการกระจายไปตามกลุ่มต่างๆ ของโลก) คนไทยเรามี “ความเจ็บปวดที่ปั๊มน้ำมัน” สูงเป็นอันดับ 10 เมื่อความเจ็บปวดดังกล่าว คือราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับรายได้ที่หาได้ กลับมาที่ภาพการ์ตูนอีกครั้งครับ ผู้หญิงคนนี้ได้ตัดโซ่ตรวนแห่งทาสออกจากพลังงานฟอสซิล แล้วหันมาพิงพลังงานลมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานหมุนเวียน

ท่านผู้อ่านอาจจะยังสงสัยใน 2 ประการสำคัญคือ หนึ่ง พลังงานหมุนเวียนมีจำนวนมากพอจริงและมีเทคโนโลยีพร้อมแล้วหรือ และ สอง มีกลไกอะไรที่ทำให้ความฝันนี้เป็นจริง คุณรสนา โตสิตระกูล ประธานที่ประชุมในวันนั้นได้ตั้งคำถามนี้จริงๆ

ผมขออนุญาตตอบข้อสงสัยที่สองก่อนนะครับ ภาพที่ดูคล้ายกับศีรษะคนที่อยู่ใกล้ๆ กังหันลมนั้นหมายถึงอะไร เนื่องจากการ์ตูนชุดนี้มีหลายรูป ทุกรูปจะต้องมีรูปคล้ายศีรษะคนอยู่ใกล้ผู้หญิงคนนี้เสมอ ผมจึงคิดว่ารูปนี้คล้ายๆ กับมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยช่วยเหลือคุ้มครองผู้หญิงคนนี้ให้ทำการสำคัญให้สำเร็จอยู่เสมอ ผมจึงสรุปเอาว่าน่าจะหมายถึง “กลไก” ที่ทำให้เรื่องนี้สำเร็จนั่นเอง

กลไกสำคัญมี 3 ข้อเท่านั้น ริเริ่มโดยนักเศรษฐศาสตร์ นักเคลื่อนไหวสังคมและนักการเมืองชาวเยอรมัน โดยออกเป็นกฎหมายที่รู้จักกันในนาม Feed-in Tariff แต่ชื่อจริงๆ คือ “กฎหมายการให้ความช่วยเหลือของแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Act on Granting Priority to Renewable Energy Sources)” (ขอพูดถึงเฉพาะกิจการไฟฟ้าที่มีมูลค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 5.5 แสนล้านบาท และมีการก่อสร้างปีละเฉลี่ย 2 แสนล้านบาท) เป็นกลไกง่ายๆ คือ

1. ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนได้จะต้องสามารถส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน โดยไม่มีโควตา และไม่จำกัดจำนวน

2. ต้องเป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 20 ถึง 25 ปี

3. ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต้องเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไประเทศ

ที่น่าเศร้าก็คือ ประเทศไทยเราได้นำชื่อของกฎหมายนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน แต่เพี้ยนไปจำกัดโควตา เช่น กรณีแผงโซลาร์เซลล์ จะเลือกอุดหนุนในโครงการบ้านจัดสรร และจำกัดจำนวน สัญญาที่ทำก็แค่ 4 ถึง 7 ปี ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการติดตั้งระบบกลายเป็นภาระของผู้ขอใช้ เป็นต้น และที่สำคัญกลไกดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือหากินของนักการเมืองไปเสียนิ

ร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานกำลังว่าจ้างสถาบันการศึกษาทำก็มีการจำกัดจำนวน ประเด็นเรื่องการจำกัดหรือไม่จำกัดจำนวนเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ ครับ เพราะในการทำสัญญาซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าในกระแสหลักได้มีการกำหนดจำนวนการรับซื้อไว้แล้วในลักษณะ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (take or pay)”

ในเมื่อมีสัญญาในลักษณะไม่ซื้อก็ต้องจ่าย แล้วผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะสามารถขายไฟฟ้าได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวนได้อย่างไร

ข้อสงสัยที่หนึ่ง เรื่องพลังงานหมุนเวียนมีมากพอและเทคโนโลยีมีจริงหรือ?

เอาอย่างนี้ครับ ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า แผนพีดีพี 2013 ในร่างแผนนี้ได้กำหนดว่าจะผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเลี้ยงช้าง (หรือหญ้าเนเปียร์) จำนวน 1 หมื่นเมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของทั้งประเทศในปี 2554 อยู่ที่ 2.34 หมื่นเมกะวัตต์เท่านั้น

นี่เฉพาะหญ้าเลี้ยงช้างอย่างเดียวก็ปาเข้าไปเกือบครึ่งของความต้องการสูงสุดแล้ว แล้วจะหาว่าเป็นจริงไม่ได้ได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ผมขอออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้สักนิดนะครับ วิธีคิดในเรื่องนำหญ้าเลี้ยงช้าง (ซึ่งต้องใช้พื้นที่ปลูก 10 ล้านไร่) มาผลิตก๊าซแล้วผลิตไฟฟ้าแม้ว่าจะทำได้ แต่ก็ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด มีแต่เอาหญ้าไปเลี้ยงสัตว์ก่อนแล้วเอามูลสัตว์ไปทำก๊าซจึงจะถือว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง

กลับมาที่ความมั่นใจเรื่องพอหรือไม่พอ ปัจจุบันประเทศเยอรมนีได้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราสามารถยกโรงไฟฟ้าเหล่านี้มาอยู่เมืองไทยได้จะเพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าในประเทศไทยได้ถึง 80%

มั่นใจได้แล้วหรือยังครับ!

ความเป็นไปได้ของพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วลม แสงแดด หรือวัตถุดิบ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิต (ซึ่งปัจจุบันพลังงานแสงแดดมีราคาถูกกว่านิวเคลียร์) แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ไม่เชื่อก็ดูเรื่องการจำนำข้าวก็แล้วกัน

ผมคิดว่าเรื่องที่ผมนำมาเล่าทั้งหมดนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องที่ทำได้จริงแล้วยังเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วย จริงไหมครับ

หมายเหตุ ขณะนี้รัฐบาลได้ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีมา 2 เดือนแล้ว โดยเหตุผลหนึ่งบอกว่า เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้น้ำมันที่ถูกเก็บเงินเข้ากองทุน แล้วนำเงินกองทุนมาอุดหนุนราคาแอลพีจี แต่ขณะนี้ราคาแอลพีจีก็ขึ้นไปแล้ว 1 บาทต่อกิโลกรัมและจะขึ้นต่อไปอีก 10 เดือน แต่ราคาน้ำมันก็ไม่ได้ลดลง การเก็บเงินของทุนก็ยังคงเท่าเดิมทุกประการ

นี่แหละฝีมือของพ่อค้าพลังงานฟอสซิล
กำลังโหลดความคิดเห็น