xs
xsm
sm
md
lg

40 ปี 14 ตุลา

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เผลอเดี๋ยวเดียวปีนี้ก็เป็นปีที่ 40 ของ 14 ตุลาแล้ว ผมจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ผมและคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กลับจากการสัมมนาที่สิงคโปร์ พอออกมาจากสนามบินดอนเมืองก็พบคุณนิลฉวี ภรรยาคุณสุลักษณ์ บอกเราว่าเขายิงกันแล้ว

ผมรีบกลับบ้านแต่ก็ออกไปอีก ไปสังเกตการณ์เห็นคนมากมาย เมื่อกลับบ้านก็รอฟังข่าว ต่อมามีผู้นำนักศึกษามาหาภรรยาผมแนะให้เขาหลบไปต่างจังหวัดก่อน เราคอยฟังข่าวทางทีวีที่ต่อมารายงานว่าจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ไปจากเมืองไทยแล้ว

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นครั้งแรกที่ประชาชนออกมาชุมนุมกันนับล้านคน แม้จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่ก็ยุติลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะทหารมิได้ปราบปรามประชาชนอย่างเต็มที่ จุดที่ก่อให้เกิดประกายไฟของการต่อสู้ในเวลานั้นคือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และผู้ที่เป็นหัวหอกก็คือ กลุ่มนิสิตนักศึกษา

เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็มีปัจจัยผลักดันหลายประการที่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าว ที่สำคัญก็คือ

1. นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ได้มีการขยายตัวของอุดมศึกษาอย่างรวดเร็ว มีนิสิตนักศึกษาจำนวนมากซึ่งต่างมีความคาดหวังสูง

2. ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ในชนบทยังมีความยากจนอยู่มาก

3. กลุ่มผู้ปกครองแม้จะกุมอำนาจไว้ได้ แต่ก็มิได้ใช้อำนาจเด็ดขาด ปล่อยให้นิสิตนักศึกษา อาจารย์สามารถประชุมปรึกษาพูดคุยได้อย่างอิสระเสรี

4. กลุ่มผู้นำมีการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ดังนั้นจึงไม่เป็นกลุ่มก้อนที่มีความสามัคคีกัน

5. มีการรวมตัวกันของกลุ่มปัญญาชน โดยมีศูนย์กลางที่หนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านอาจารย์สัญญา มีความใกล้ชิดกับอาจารย์และนิสิตนักศึกษาในขณะนั้น จึงได้มีการประชุมปรึกษากันโดยได้เสนอให้มีการจัดตั้งสภาฯ ขึ้น เมื่อเราไปพบอาจารย์ อาจารย์บอกว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าที่พวกเราคาดคิด เพราะสมัชชานี้จะมีคนเข้ามาร่วมหลายพันคน และจะเลือกกันเอง 299 คนไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นครั้งแรกที่มีการนำคอมพิวเตอร์มาประมวลผลการนับคะแนน

ท่านอาจารย์สัญญาให้สัญญากับประชาชนว่า จะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเวลา 3 เดือน และมีความเห็นว่า ควรมีการเผยแพร่มติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ทราบเป็นระยะๆ พร้อมกับให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย โดยให้งบประมาณพิเศษมาทำงานเป็นเงิน 10 ล้านบาท

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยมีสำนักงานอยู่ที่ศูนย์สารนิเทศพลการปฏิบัติราชการ ชั้นล่างของสำนักงบประมาณ ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงาน มีอาสาสมัครเป็นนิสิตนักศึกษาเข้ามาร่วมงาน 5-6 คน พวกเราได้จัดการอภิปราย การสัมมนา และการรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศนับเป็นร้อยๆ ครั้ง มีประชาชนเขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นเข้ามามากมาย เรามีนักจัดรายการวิทยุคือคุณดุ่ย (อำนาจ สอนอิ่มศาสตร์) ที่ชาวบ้านชอบฟังมาช่วยกระจายข่าวด้วย

เมื่ออาจารย์และนิสิตนักศึกษาเข้ามามีบทบาท ช่วยอาจารย์สัญญาเช่นนี้ จึงมีคนหมั่นไส้มาก และพูดจาค่อนแคะตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์คอยจับผิดพวกเราทุกเวลา เราต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ความกดดัน แต่ก็มีคนเห็นใจให้ความช่วยเหลือบ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อย

ความหวาดกลัวอิทธิพลของนักศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งมีความโน้มเอียงไปในทางซ้าย ทำให้กลุ่มข้าราชการเริ่มจัดตั้งขึ้นบ้าง เพราะเห็นแล้วว่าการจัดตั้งเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มกระทิงแดงจึงเกิดขึ้น และได้รับความสนับสนุนอย่างลับๆ จากนายทหารจำนวนหนึ่ง พวกนี้เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตั้งกลุ่มขึ้นมาคานกับกลุ่มนักศึกษา ส่วนภายในกลุ่มผู้นำนักศึกษาเองก็ไม่ได้มีเอกภาพ แต่แยกออกเป็นหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็ได้รับการแทรกแซงจากตำรวจ และทหาร

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ดีที่เคยซ่อนเร้นอยู่ก็ปะทุออกมา โดยเฉพาะปัญหาความเดือดร้อนในที่ดินทำกิน และปัญหาหนี้สินของชาวนา ปัญหาการคอร์รัปชัน ตลอดจนความไม่เป็นธรรมต่างๆ อาจกล่าวได้ว่านักศึกษากลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งคำถามว่า ระบอบการปกครองของเราล้มเหลวในการแก้ปัญหาเหล่านี้ นักศึกษากลุ่มนี้เริ่มเอนเอียง และเข้าร่วมกับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในที่สุด

40 ปีให้หลัง พรรคคอมมิวนิสต์หยุดการต่อสู้ทางอาวุธไปแล้ว สังคมไทยก็เปลี่ยนแปลงไปมาก คนสมัย 14 ตุลา เวลานี้ก็อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่เราก็ยังมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น