กสม.หัวบันไดไม่แห้ง สนนท.บุกสำนักงานฯ จี้ลาออก อ้างสรุปรายงานการสลายม็อบแดงบิดเบือน ขณะที่ชาวสุราษฎร์ธานีร้องสอบผู้ว่าฯ ใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายม็อบเรียกร้องที่ดินทำกิน
วันนี้ (15 ส.ค.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นำโดยนายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการฯ พร้อมด้วยนักศึกษา กว่า 20 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนายขรรค์ชัย คงเสน่ห์ รองเลขาธิการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่า กสม.สรุปรายงานเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่12 มี.ค. - 19 พ.ค. 2553 บิดเบือน ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
นายสุพัฒน์กล่าวว่า รายงานสรุปของ กสม.ฉบับนี้พยายามบ่งชี้ว่ารัฐสามารถใช้กำลังทหารและกำลังอาวุธสงครามเข้าทำร้าย หรือสังหารผู้ชุมนุมได้ ซึ่ง กสม.เป็นองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และคณะกรรมการยังเป็นบุคคลที่สืบถอดจากเผด็จการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน เป็นการปฏิบัติงานที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน ดังนั้น สนนท.จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ลาออกจากตำแหน่งทันที พร้อมทั้งปฏิรูปกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การมายื่นหนังสือของ สนนท.ครั้งนี้ นักศึกษายังได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการแสดงละครล้อเลียนชี้ให้เห็นว่ารายงานของ กสม.ฉบับนี้เหมือนเป็นการฆ่าผู้ที่เสียชีวิต จากการสลายการชุมนุมให้ตายซ้ำสอง พร้อมทั้ง มีการชูป้ายที่มีข้อความโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.ที่ระบุว่า “คณะกรรมการคุ้มครองอภิสิทธิ์ชนแห่งชาติ” “ยกเลิก กสม. ละเมิดศพคนตาย” และ “แจ้งเหตุที่ไหน เมื่อ กสม.ไม่รู้เรื่องสิทธิ” รวมทั้งมีการฉีกรายงานผลสรุปดังกล่าวด้วย
วันเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายเรียกร้องที่ดินทำกิน จ.สุราษฎร์ธานี นำโดยนายวิชาญ เพชรรัตน์ ได้เข้าร้องเรียนต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนในฐานะประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า เพื่อขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐมีการกระทำที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผวจ.สุราษฎร์ธานี ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัคร และทหารกว่า 1,800 นาย เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายเรียกร้องที่ดินทำกิน ซึ่งมีการจับกุมแกนนำชาวบ้าน พร้อมทั้งยึดและทำลายวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร เสียหายเป็นมูลค่า 1,806,873 ล้านบาท ภายหลังที่กลุ่มเครือข่ายฯเข้าไปปักหลักชุมนุมเรียกร้องขอให้ จ.สุราษฎร์ธานี จัดสรรที่ดินราชพัสดุแปลงเลขที่ 848 สุราษฎร์ธานี ม.2 และ ม.7 ต.เคียนซา อ.เคียนซา เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของผู้ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท วรการปาล์มใช้สิทธิครอบครองทำประโยชน์จำนวน 1,348 ไร่ จึงขอให้กรรมการสิทธิฯ ช่วยดำเนินการให้รัฐชดเชยความเสียหาย และฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนก่อให้เกิดความเสียหายและละเมิดสิทธิกับประชาชน
ด้าน นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ในฐานะอนุกรรมการด้านที่ดินฯจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ละเมิดสิทธิที่ดินทำกินและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ทางกรรมการสิทธิฯอาจมีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พร้อมทั้งเรียกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจง