xs
xsm
sm
md
lg

กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท : พัฒนาหรือพาล่มจม?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่เขียนบทความนี้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้พัฒนาโครงการขั้นพื้นฐานในด้านคมนาคมขนส่ง โดยเน้นหนักไปที่สองโครงการหลักคือ

1. โครงการปรับปรุงกิจการรถไฟที่มีอยู่เดิม โดยจัดให้มีระบบรางคู่แทนรางเดียวในสายหลักทั่วประเทศ และจัดหารางใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่ และความกว้างกว่าเดิม รวมไปถึงการเปลี่ยนหมอนรองรางจากไม้เป็นคอนกรีตหรือเหล็ก เพื่อให้มั่นคงปลอดภัยและวิ่งได้เร็วขึ้นประหยัดเวลาในการเดินทาง

2. โครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 สายคือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ-ตราด

ประเด็นที่ผู้คนส่วนใหญ่คัดค้านมี 2 ประเด็นคือ

1. เป็นการกู้นอกระบบงบประมาณ ทำให้ควบคุมและตรวจสอบได้ยาก เปิดช่องทางรั่วไหลได้ง่าย

2. ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการปรับปรุงกิจการรถไฟ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากใช้เงินลงทุนมาก และค่าการจัดทำเดินรถก็แพงกว่าระบบรถไฟธรรมดา ดังนั้น ค่าโดยสารจะต้องแพง และคาดกันว่าจะอยู่ระหว่างรถทัวร์กับเครื่องบิน ดังนั้น เมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรแล้ว จะมีคนใช้บริการในจำนวนมากพอที่จะคุ้มทุนหรือไม่

ประกอบกับเอกสารประกอบการกู้เงินที่ส่งเข้าไปให้ ส.ส.และ ส.ว.ดูไม่มีความสมบูรณ์พอที่จะบอกได้ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม เนื่องจากว่าโครงการนี้ยังไม่มีการศึกษาความเหมาะสม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย จึงมีความเห็นมาจากผู้รู้กฎหมายว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และดูเหมือนว่าทางพรรคประชาธิปัตย์คงจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่มีการยื่นตีความแน่นอน

ทำไมจึงมีการคัดค้านโครงการกู้เงินของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการคัดค้านจะทำให้รัฐบาลสะดุดหรือไม่?

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นเหตุแห่งการคัดค้าน ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูการบริหารงาน และบริหารเงินภายใต้ระบบทักษิณที่ใช้นโยบายประชานิยม โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โครงการหลายโครงการใช้เงิน แต่ไม่เคยมีการประเมิน และรายงานให้ประชาชนทราบอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค มาจนถึงยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรภายใต้สโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ได้แก่โครงการรับจำนำข้าวเพียงโครงการเดียวขาดทุนนับแสนล้านบาท และแถมยังทำให้ประเทศไทยเสียอันดับในการขายข้าวในต่างประเทศด้วย

ตามมาด้วยโครงการป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ก็ไม่โปร่งใสและรับประกันไม่ได้ว่าโครงการนี้ทำแล้วจะป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ และจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่เขตป้องกันน้ำท่วม ซึ่งจะต้องเวนคืนที่ดินนับหมื่นไร่มาทำทางเดินของน้ำ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Blood Way ที่พูดเช่นนี้ก็ด้วยเหตุว่าในขณะที่ออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ที่จะระบุได้ว่าโครงการที่ว่านี้ จะมีลักษณะรูปร่างเป็นอย่างไร เพราะไม่มีแม้กระทั่ง Conceptual-Design ไม่ต้องพูดถึง Detail Design แต่ประการใด

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งการคัดค้านในโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ไม่มีรายละเอียดของโครงการ เพราะมีโอกาสที่จะทำให้โครงการนี้ขาดทุน และเป็นภาระหนี้สินแก่ผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต รวมไปถึงประชาชนที่จะถูกเรียกเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้หนี้ก้อนนี้

จากการนำโครงการหลายโครงการของรัฐบาลชุดนี้มาประเมิน ก็จะพบว่าเกือบทุกโครงการทั้งเล็กและใหญ่ล้วนแล้วแต่มีการรั่วไหลทั้งสิ้น เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น เช่น โครงการรับซื้อหอมแดง หอมแดงก็เน่า ข้าวโพดก็เน่า และสุดท้ายข้าวสารก็เน่าอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะให้เชื่อได้อย่างไรว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล และใช้เทคโนโลยีสูงกว่ารถไฟปกติจะปลอดภัย และให้บริการได้มาตรฐานพอเพียง เมื่อไม่กี่เดือนมานี้รถไฟซึ่งใช้เทคโนโลยีปกติยังตกรางบ่อยครั้ง จนทำให้คนเขาสงสัยว่าเกิดขึ้นตามปกติอันเกิดจากระบบราง และอุปกรณ์เก่า หรือว่ามีเลศนัยให้แกล้งเกิดเพื่อนำไปอ้างในการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท กันแน่

จริงอยู่ เป็นเรื่องปกติที่ของเก่าใช้งานมานาน ก็มีโอกาสเกิดชำรุดเสียหายทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ก็ไม่ควรบ่อยนัก ดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ทำไมรัฐบาลไม่ทำโครงการรถไฟความเร็วสูงในลักษณะของการให้สัมปทาน โดยให้มีผู้ลงทุนทั้งระบบและเรียกเก็บผลประโยชน์จากโครงการในระยะเวลา 30 ปี แล้วเมื่อครบสัญญาค่อยว่ากันใหม่ว่าจะต่อสัญญาหรือรัฐรับมาทำเอง ไม่ต้องแบกภาระหนี้สิน 50 ปีเหมือนกับที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้

อีกประการหนึ่ง การที่รัฐบาลอ้างเรื่องการขนส่งสินค้า ฟังดูแล้วเป็นเรื่องขบขันเพราะรถไฟความเร็วสูงวัตถุประสงค์หลักก็คือ การขนผู้โดยสารมิใช่ขนสินค้า ส่วนการขนสินค้าทางระบบรางน่าจะใช้รถไฟรางคู่มากกว่าจะเป็นตู้สินค้าพ่วงกับขบวนโดยสาร หรือเป็นขบวนพ่วงยาวก็ทำได้ ก็สามารถนำสินค้าไปถึงปลายทางไม่ช้าไปกว่ารถบรรทุกแน่นอน ทั้งค่าบำรุงรักษาถนนที่ถูกทำลายด้วยรถบรรทุกในแต่ละปีก็ลดลงด้วย และถ้าจะให้ค่าบำรุงทางลดลงมากกว่านี้ ก็ยกเลิกรถสิบล้อ และใช้รถสิบแปดล้อบรรทุกคอนเทนเนอร์แทน ก็จะทำให้ค่าบำรุงรักษาถนนลดลงได้อีกมาก

นอกจากการปรับปรุงการขนส่งในระบบรางแล้ว การปรับปรุงการขนส่งทางน้ำก็ควรจะทำไปพร้อมๆ กัน เพราะจะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีแม่น้ำคูคลอง และชายฝั่งทะเลมากพอที่จะทำการขนส่งทางน้ำได้ดีกว่านี้ ถ้ามีการปรับปรุงและการขนส่งทางน้ำเมื่อเทียบกับระบบการขนส่งทางบก ทางอากาศ แล้วก็ยังถือว่าน่าจะดำเนินการเพราะต้นทุนถูกกว่าทั้ง 2 ระบบดังกล่าวแล้ว ประกอบกับเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคกลางมีระบบคูคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลักอย่างสมบูรณ์ เพียงแต่ทำการปรับปรุงก็จะขนส่งได้ดีอีกระบบหนึ่ง แทนที่จะมุ่งไปที่ระบบรางอย่างเดียว และยังเป็นการช่วยให้การเป็นหนี้ลดลง อันเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้รอดพ้นจากการล่มจมจากการเป็นหนี้ในครั้งนี้ด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น