xs
xsm
sm
md
lg

“นิวัฒน์ธำรง” ปลุกเอสเอ็มอีไทยสร้างนวัตกรรมลุย AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
“นิวัฒน์ธำรง” ชี้เปิด AEC เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ระบุขณะนี้เอสเอ็มอีไทยร้อยละ 70 พร้อมเข้าสู่ AEC ระบุปัญหาเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือด้านทรัพยากรบุคคล ต้นทุนการผลิต และการเงิน กระตุ้นเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุน สร้างสินค้านวัตกรรมตรงต่อความต้องการของตลาด และมุ่งเจาะตลาดเฉพาะเจาะจง ด้านภาคเอกชนเชื่อลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทหนุน ศก. แนะควรสร้างปัจจัยพื้นฐานเอื้อแก่เอสเอ็มอี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างในภูมิภาคอาเซียน ทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม” ในงานสัมมนา AEC and SMEs Challenges : Next steps (phase 4) จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะช่วยให้ตลาดการค้าขยายตัวใหญ่ขึ้นจากประชากรของประเทศไทย 60 ล้านคน เพิ่มเป็นประชากรทั้งอาเซียนกว่า 600 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจไทยขาดความแข็งแกร่งก็จะเสียเปรียบการค้าเช่นกัน

ทั้งนี้ AEC จะเริ่มวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยจะเริ่มด้านเศรษฐกิจก่อน โดยการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าใน AEC นั้นอัตราภาษีสินค้าจะเหลือร้อยละ 0 และมีเป้าหมายเปิดเสรีภาคบริการโดยให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากกว่าร้อยละ 70 ในปี 2558 และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ไปลงนามเปิดเสรีตามข้อผูกพันชุดที่ 9 หลังจากลงนามมาแล้ว 8 ชุด เปิดเสรีรวม 84 สาขา และเพิ่มเป็น 104  สาขา จากนั้นจะทยอยเปิดเสรีเพิ่มอีก 20 สาขาจนครบ 128 สาขาต่อไป ทั้งนี้ จะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ด้วย

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวด้วยว่า ภาพรวมแล้วเอสเอ็มอีไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่ AEC ถึงร้อยละ 70 โดยที่ผ่านมาเอสเอ็มอีต้องเผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกและเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญช่วยเหลือตลอดมา ซึ่ง 7 เดือนแรกของปีนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขอความช่วยเหลือจำนวน 428 ราย ส่วนใหญ่ขอช่วยเหลือแรงงาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้นทุนการผลิต ด้านภาคสินเชื่อและด้านการเงิน และรัฐบาลจะยังให้ความช่วยเหลือต่อไป

ส่วนประเด็นท้าทายของเอสเอ็มอี การใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี AEC ในเชิงรุก เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาตัวสินค้าให้มีนวัตกรรมให้ตรงต่อความต้องการของตลาดให้มากที่สุด รวมถึงต้องแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพและตลาดเฉพาะ (Niche Market) และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

สำหรับประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อนเข้าสู่ AEC นั้น ได้แก่ การพัฒนาการค้าชายแดน การพัฒนาการเชื่อมโยงการค้าการลงทุน พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ สร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียน พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานกำลังคน กระจายระบบสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม เตรียมการด้านการศึกษา พัฒนาบุคลากรภาครัฐ เสริมสร้างความมั่นคงในอาเซียน

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าฯ เห็นด้วยในหลักการที่รัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะจะส่งผลดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เนื่องจากช่วยในการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่ตลาด AEC โดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ควรจะต้องเร่งดำเนินโครงการก่อนโครงการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำธุรกิจให้แก่เอสเอ็มอี เช่น โครงสร้างภาษีอากรและขั้นตอนการนำเข้าส่งออก ซึ่งยังไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ต้องปรับให้ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น