ในความรู้สึกของผม ปัจจุบันนี้การปกครองของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าหรือเมียนมาร์นั้นน่าจะมีความเป็นเผด็จการอยู่มาก และน่าจะมากกว่าประเทศไทย เพราะพม่ามีรัฐบาลทหารมายาวนานร่วม 50 ปี ประเทศเต็มไปด้วยสงครามยืดเยื้อระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จนกระทั่งเพิ่งมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 นี่เอง ในขณะที่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทยเราได้มีการสลับกันไปมาระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลพลเรือนก็ยาวนานกว่าและเป็นเผด็จการน้อยกว่า
นั่นเป็นเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไม่ได้ตัดสินกันที่ว่ามีการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณารวมถึงกระบวนการเรียนรู้และการเคลื่อนไหวทางสังคมของภาคประชาชนด้วย
การเรียนรู้ของประชาชนไม่ใช่เพียงแต่แค่เข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง การหย่อนบัตรสี่ปีครั้งเท่านั้น แต่ต้องร่วมกันเรียนรู้และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนด้วย
ตามตัวหนังสือนั้น “สิทธิ” หมายถึง “อำนาจอันชอบธรรม” ดังนั้น “สิทธิชุมชน” จึงหมายถึง “อำนาจอันชอบธรรมของชุมชน” ในการร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงการใช้ประโยชน์ ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนว่าสามารถพึ่งตนเองได้มากน้อยแค่ไหนด้วย
อะไรที่เป็นสิทธิของชุมชนต้องถือว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาล” ในการตอบสนองตามความต้องการของชุมชน แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยตอบสนองก็คือ การสร้างวาทกรรมเรื่อง “สิทธิและหน้าที่” ให้ประชาชนสับสนว่า “คนพวกนี้ชอบเรียกร้องแต่เรื่องสิทธิ แต่ไม่ยอมทำหน้าที่ของตนเอง” วาทกรรมดังกล่าวเป็นการบั่นทอนและทำลายพลังของกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง
น่าเสียดายนะครับ ผมเองก็ถูกสอนให้สับสนมาตั้งแต่การศึกษาชั้นประถมในวิชา “หน้าที่พลเมือง”
เอาละครับ หลังจากได้เกริ่นในเชิงหลักการมาพอสมควรแล้ว เรามาดูรายละเอียดตามที่ได้จั่วหัวกันครับ
สิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบกันก็คือกระบวนการประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยการพิทักษ์สิทธิชุมชนและการตอบสนองของรัฐบาลระหว่างรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลไทย โดยใช้กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวายกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นตัวอย่าง
ประเด็นชัดเจนนะครับ
ในส่วนของภาคประชาชน ผมยังไม่อาจจะบอกได้ว่ากระบวนการพิทักษ์สิทธิชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวทางสังคมของทั้งสองประเทศ ว่าที่ใดมีความเข้มแข็งมากกว่ากัน
แต่ที่เหมือนกันก็คือ ประชาชนของทั้งสองประเทศไม่ได้วางเฉย ได้มีการสะสมบทเรียนกันมาพอสมควร ไม่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การลุกขึ้นสู้ประชาชนพม่าในปี 2531 (8/8/88) ตลอดจนการเสียสละชีวิตของ คุณสืบ นาคะเสถียร (2533) เพื่อปกป้องผืนป่าจนกลายมาเป็นสายธารแห่งความคิดของผู้รักสิ่งแวดล้อมและของ คุณศศิน เฉลิมลาภ ที่เป็นที่มาของการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้
ในด้านการตอบสนองต่อการเรียกร้องและรักษาสิทธิชุมชนซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่รัฐบาลไทย ในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังและน่าอายเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับรัฐบาลพม่า
นอกจากจะไม่ตอบสนองแล้ว ยังปล่อยให้คนระดับรองนายกรัฐมนตรีออกมาท้าทายประชาชนด้วยคำพูดประเภท “หมาตัวไหน” ตลอดจนการไม่ยอมให้รายการโทรทัศน์ “คนค้นคน” ที่บอกเล่าถึงความคิดของคนต้นเรื่องนี้ออกอากาศทางโทรทัศน์ ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย ผมขอจบไว้เพียงแค่นี้นะครับ
ผมเชื่อและมั่นใจว่า กระบวนการประชาธิปไตยของคนไทยคงไม่ยอมให้เรื่องนี้ผ่านไปเฉยๆ คงจะไปถึง “หยุดไม่ได้ เอาไม่อยู่” ดังแผ่นโปสเตอร์แผ่นที่สามที่ผมแนบมานี้
ผมขอมาที่การตอบสนองหรือ “การทำหน้าที่” ของรัฐบาลพม่าในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในทวายนะครับ
โปสเตอร์แผ่นแรกและข่าวนี้ผมได้มาจากเว็บไซต์ http://karennews.org/2012/01/government-cancels-dawei-coal-fired-power-plant.html ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 ครับ
ข่าวดังกล่าวได้อ้างถึงกลุ่มสิ่งแวดล้อมสากลที่มีชื่อเสียงคือ “Earth Rights International” ว่า “รัฐบาลพม่าได้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทวายในภาคใต้ของพม่า” ผู้อำนวยการ Earth Rights กล่าวว่า “เรายินดีกับการตัดสินใจยกเลิกโรงไฟฟ้าดังกล่าวและยินดีกับการรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้เรายังปรารถนาให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในโครงการพัฒนาอื่นๆ ด้วย มันเป็นการตัดสินใจที่ดีเพื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ”
ข่าวดังกล่าวยังบอกอีกว่า รัฐมนตรีไฟฟ้า, Khin Maung Soe ได้ประกาศผ่านสื่อว่า “รัฐบาลได้รับฟังสื่อและศึกษารายงานผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังจากอ่านรายงานแล้ว รัฐบาลลงความเห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศยกเลิกโครงการนี้”
ข่าวชิ้นนี้ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลตัดสินใจหลังจากที่ชาวพื้นเมือง Tavoyan และชาวกะเหรี่ยงได้ส่งเสียงคัดค้านโครงการที่พวกเขาเรียกว่า “อุตสาหกรรมสกปรก” ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวพื้นเมืองดังกล่าวได้รณรงค์คัดค้านต่อรัฐมนตรีของประเทศไทยหลายคนที่ไปเยือนทวาย ได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศ พลังงาน คมนาคม อุตสาหกรรม และการคลัง”
เป็นไงมั่งครับ พอจะเห็นความแตกต่างและเกิดกำลังใจขึ้นมาบ้างนะครับ
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ Earth Rights คนเดิมนี้ (ชื่อ Naing Htoo)ได้ตั้งข้อสังเกต ในตอนท้ายไว้อย่างน่าสนใจมากๆ ว่า
“รัฐบาลพม่าเคยยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำของจีนในแม่น้ำอิรวดีด้วยการให้บริษัทของจีนได้สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติไป ขณะนี้เป็นการเร็วเกินไปที่จะบอกว่าบริษัทในประเทศไทยจะได้อะไรไปหลังจากนี้ การร่วมมือกันครั้งใหม่อาจจะใหญ่กว่าเดิมและมีผลกระทบมากกว่า”
เขียนมาถึงตอนนี้ ทำให้ผมนึกถึงบทกลอนของสุนทรภู่ ที่โยคีได้สอนสุดสาคร(ผมฟังเขามาว่า นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้ประเมินว่าสุดสาครเป็นผู้มีไอคิวสูงมากคือเท่ากับ 180) ตอนหนึ่งความว่า
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
ผมว่าคำสอนนี้ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบันนี้ คืออย่าวางใจนักปกครองที่ร่วมมือกับทุนสามานย์ซึ่งเป็นทุนที่แสวงหากำไรโดยไม่สนใจความถูกต้อง ไม่สนใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่สนใจชีวิตของคนเล็กคนน้อย
กล่าวเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ทั้งๆ ที่เรามีแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงแดด ชีวมวลมากมาย มากกว่าประเทศแถบยุโรปและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้จริงๆ แต่พวกทุนสามานย์ก็สร้างวาทกรรมผ่านสื่อที่พวกเขาซื้อไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จว่า “เป็นพลังงานที่ไม่มั่นคงมีต้นทุนสูง” เป็นต้น จากนั้นก็นำเสนอโรงไฟฟ้าถ่านหินที่พวกเขาไปซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศไว้
เรื่องมันก็เท่านี้แหละครับ มีแต่การเรียนรู้และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายของภาคประชาชนเท่านั้นแหละที่จะสู้รบกับพวกทุนสามานย์ได้