xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

'ศศิน เฉลิมลาภ' ถ้าเขื่อนแม่วงก์ผ่าน EHIA พื้นที่อื่นก็ไม่รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศศิน เฉลิมลาภ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นับเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับการเดินรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่นำโดย “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่มีการพูดคุยเรื่องนี้ถึงขั้นที่เรียกว่ากลายเป็นกระแส ส่งผลให้มีผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพมาร่วมเดินรณรงค์นับหมื่นคน

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่ามากน้อยขนาดไหน 'ศศิน เฉลิมลาภ' ในฐานะแกนนำในการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้

หลังจากที่เดินเท้าจากป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มาถึงหอศิลป์ ที่กรุงเทพฯ จนถึงวันนี้พอใจกับผลตอบรับที่เกิดขึ้นไหม

จริงๆไม่คิดว่าจะมีคนมาร่วมเดินเยอะขนาดนั้น คิดว่าเดินมาถึงจุดนัดหมายแล้วจะมีคนมาฟังสารที่ผมต้องการสื่อ แต่การที่จะเกิดภาพอย่างนั้นได้สื่อกระแสหลักอย่างฟรีทีวีต้องให้ความสนใจ แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะปรากฏว่าแทบไม่มีฟรีทีวีมาทำข่าวเลย ทั้งๆที่เราตั้งใจสร้างปรากฏการณ์ที่มันแปลกเพราะคิดว่าสื่อต้องเล่น ซึ่งพอสื่อทีวีนำเสนอ ผู้คนหันมาสนใจ ทางการเมืองก็อาจจะขยับ อาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ แต่สื่อทีวีที่น่าจะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่ากลับไม่นำเสนอข่าว มีแต่หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ แล้วก็เคเบิลทีวี ซึ่งพอสื่อกระแสหลักไม่นำเสนอมันเลยกลายเป็นว่าคนเลยออกมาเยอะเพราะเขาอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลจะไม่สนใจเพราะมองว่าคนที่รับรู้เรื่องนี้จากสื่อมีไม่มาก

บรรยากาศตอนเดินรณรงค์เป็นอย่างไรบ้าง

ผมแทบจะไม่เจอคนที่ออกมาต่อต้านทีมของเราเลยนะ ฝ่ายแกนนำที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนเขาก็มาดักเลี้ยงกาแฟที่สี่แยก พูดคุยกันนิดหน่อย แล้วเขาก็ลากลับไปตั้งป้อมรับผมอยู่ที่เทศบาลเมืองลาดยาวเพราะเขาอยากจะให้เราเข้าไปฟังข้อมูลของเขา เขาก็คิดว่าเราต้องมีม็อบมาชูป้าย แต่ผมไม่มี ผมใส่เสื้อคัดค้านเป็นภาษาอังกฤษ เขาอ่านไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ EHIA (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) อะไรเนี่ย เพราะผมไม่ได้ต้องการสื่อสารกับเขา แต่ผมต้องการสื่อสารกับ สผ.(สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเขาอ่านรู้เรื่อง ผมก็เดินผ่านลาดยาวเฉยๆ เขาเลยไม่รู้จะต้านผมยังไง แต่ผมเดินไปถึงลาดยาวตอนทุ่มนึง แกนนำเขาก็เลยไม่อยู่รอผม เขารอผมถึงแค่บ่าย 3 เพราะเขาไม่มีความอดทนพอ (หัวเราะ) หรืออย่างคุณวีระกร คำประกอบ (อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย) เขาอ้างว่าเขาเจอผมแถวศาลเจ้าไก่ตอ เขาโบกมือให้แต่ผมไม่เห็น เพราะผมก้มหน้าเดินคงกลัวคนในพื้นที่บอมบ์เอา แต่จริงๆไม่ใช่เลย ผมผ่านศาลเจ้าไก่ตอเนี่ยมีร้านขายของชำเปิดร้านให้ผมกินเป๊บซี่ทั้งตู้ แล้วเขายังตามมาเลี้ยงข้าวผมอีก

แล้วพอเดินเข้าลาดยาวก็มีชาวบ้านออกมาเอาน้ำเอาท่ามาให้กินเต็มไปหมด ก็มีมอเตอร์ไซค์ฯคันหนึ่งวิ่งมาตัดหน้าขบวน แล้วถามว่าเอาเขื่อนหรือไม่เอาเขื่อน เราก็นึกว่าคงจะมาหาเรื่อง พอฝ่ายเราบอกว่าไม่เอาเขื่อน เขาก็บอกว่าเขาก็ไม่เอาเหมือนกัน แล้วพอเดินผ่านลาดยาวออกมา คนที่พอมีฐานะในลาดยาวก็ขับรถตามผมมา 2-3 คน เอาเงินมาให้ 3-4 พันบาท เอาน้ำเอาอะไรมาให้ บอกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ผ่านมา 2-3 วัน คนในลาดยาวก็ค่อยๆ ออกมา ตามมาถึงอุทัยธานี เอาขนมมาให้กิน บอกเขาก็ไม่เห็นด้วยเพราะน้ำ ท่วมลาดยาวไม่ได้เกี่ยวกับมีเขื่อนหรือไม่มีเขื่อน เขาเอาข้อมูลมาบอกเราเต็มไปหมด

ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนในครั้งนี้มีพลังมาก แล้วก็มีมวลชนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งพลังของโซเชียลมีเดียก็นับว่ามีส่วนสำคัญมากในการสื่อสารกับมวลชนเพราะว่าสื่อกระแสหลักไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร

ใช่ครับ ก็มีนักข่าวของสถานีโทรทัศน์อย่างน้อย 2 ช่องที่มาบอกกับผมว่าอยากมาทำข่าวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์แต่ทางสถานีไม่อนุมัติ หรืออย่างช่อง 3 เนี่ย ขนาดมีนักข่าวมาทำข่าวคุณสรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนจินดา พิธีกรรายการข่าวของสถานีทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3) ยังออกข่าวให้แป๊บเดียวเอง คนมาร่วมเคลื่อนไหวเป็นพันเป็นหมื่นคน สรยุทธบอกว่ามีไม่กี่ร้อยคน ชัดเจนว่าอะไรที่กระทบต่อรัฐสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะฟรีทีวีจะไม่นำเสนอ แม้แต่ตอนน้ำ ท่วมปี 54 ซึ่งผมได้รับเชิญจากสื่อทางเลือกให้ไปให้สัมภาษณ์เรื่องสถานการณ์น้ำ แต่ผมไม่ เคยได้ออกรายการอย่างเป็นทางการของช่อง 3 , 5 , 7 , 9 ,11 คืออะไรที่เห็นไม่ตรงกับรัฐบาลเนี่ยสื่อกระแสหลักจะไม่เคยออกข่าวผม

แต่ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีคนมาร่วมเดินรณรงค์ต้านเขื่อนแม่วงก์เป็นเรือนหมื่น

เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะมากันเท่าไหร่ แต่ปรากฏว่ามากันเป็นหมื่น ฝูงชนยาวเหยียดจากหอศิลป์ไปรางน้ำ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร คนก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน

ถ้ารัฐบาลยังดึงดันจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ได้ โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของประชาชน อาจารย์จะทำยังไงต่อไป

ขั้นตอนต่อไปผมก็ต้องประสานเชิงนโยบายให้รัฐบาลเปลี่ยนความคิด แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะทำอะไร เมื่อเรามีมวลชนจำนวนมากร่วมคัดค้านเนี่ยอำนาจการต่อรองมันก็เยอะขึ้น จริงๆ เมื่อเราทำจนสุดของเราแล้วมันก็ต้องมีคนอื่นลุกขึ้นมาทำ ไม่ใช่แค่ผม อย่างเช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย คณาจารย์คณะวนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆออกมายื่นหนังสือถึงรัฐบาล นักวิชาการด้านการจัดการน้ำออกมาเคลื่อนไหว หรือพลังทางสังคมอื่นๆเข้ามาทำ ถ้าเราทำมาขนาดนี้แล้วพลังทางสังคมไม่ทำอะไร เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

คุณปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังคงยืนยันจะเดินหน้าโครงการเขื่อนแม่วงก์

คือเราเสนอข้อมูลไปแล้วว่าจากการศึกษาพบว่าเขื่อนแม่วงก์แก้ปัญหาน้ำท่วมได้แค่ 1% คุณปลอดประสพบอกว่าแค่ 1% ก็จะสร้าง เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว คุณปลอดประสพบอกว่าป่าสร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้ ซึ่งผมก็ได้ให้ข้อสังเกตใน EHIA ว่ามันไม่มีพื้นที่ปลูกป่าอีกแล้ว เพราะมันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด คุณปลอดประสพก็บอกว่าก็จะปลูกป่าเพิ่มในพื้นที่ป่าแม่วงก์น่ะแหล่ะ ตรงไหนต้นไม้มันห่างก็จะปลูกระหว่างตรงนั้นให้ครบ 30,000 ไร่ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของสาธารณะแล้วล่ะว่าเราจะทำอย่างไรกันต่อไป ในเมื่อเรามีรัฐบาลและรัฐมนตรีแบบนี้ อย่าลืมว่าในทีโออาร์ของโมดุลเอ1 ของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้านเนี่ย มันมีโครงการปลูกป่าชดเชยจำนวน 30,000ไร่ อยู่ด้วย ซึ่งงบประมาณที่กำหนดไว้สูงถึงไร่ละ 5,000 บาท จากปกติที่อยู่ที่ประมาณไร่ละ 3,000 บาท แล้วก็จะมีการไปปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อโทรมที่เป็นอุทยานอยู่แล้วซึ่งจริงๆโดยหลักการแล้วไม่ต้องไปปลูกอะไร ธรรมชาติจะฟื้นฟูเอง คิดดูว่า 30,000 ไร่ คูณด้วย 5,000 บาท เป็นเงินเท่าไหร่ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าปลูกจริงหรือเปล่าเพราะมันปลูกในพื้นที่ซึ่งเป็นป่าอยู่แล้ว

ถ้ามีการสร้างเขื่อนแม่วงก์จริงๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาจะมากมายขนาดไหน

ป่าที่จะสูญเสียจากการสร้างเขื่อน มันเป็นป่าที่ราบต่ำ ตรงนี้มันเป็นหัวใจของระบบ นิเวศน์ป่าแม่วงก์ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าจึงเป็นพื้นที่ป่าที่จะโยงใยไปถึงระบบนิเวศน์สัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งจะเกื้อกูลให้มีปริมาณเสือเพิ่มขึ้น มีกวางซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเสือเพิ่มขึ้น มันไม่ใช่ว่าพื้นที่ตรงนี้แค่คิดเป็น 1% ของพื้นที่ป่าทั้งหมด มันไม่ใช่เรื่องของขนาดพื้นที่ แต่มันเป็นเรื่องความสำคัญของป่าที่มีผลต่อระบบนิเวศน์ นี่เป็นประเด็นหลักที่ถูกละเลย แล้วโดยคอมมอนเซนส์เนี่ยถ้าคุณจะสร้างเขื่อนในป่าแล้วมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถามว่ามันจะกระทบอะไร มันก็ต้องกระทบกับสัตว์ป่า ถ้าคุณไม่ทำข้อมูลเรื่องสัตว์ป่าออกมาไอ้รายงานเป็นพันๆ หน้าของคุณเรื่องอื่นมันก็ไม่ต้องทำก็ได้ ไม่ได้สำคัญอะไร

แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณทำข้อมูลสัตว์ป่าที่เป็นจริง คุณจะบอกว่าป่านี้เกิดใหม่ ป่ามีแต่ต้นไม้ต้นเท่าแขน มันไม่เกี่ยวกัน เพราะความสำคัญของระบบนิเวศน์ในป่าบริเวณนี้คือมันเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า เพราะฉะนั้นต้นไม้มันจะต้นแค่ไหนก็ช่างถ้ามันมีข้อมูลการวิจัยที่เป็นทางการอย่างกรมอุทยาน หรือสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือกองทุนสัตว์ป่าโลก มันก็เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ แล้วกว่าจะฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้ป่าแถบนี้มันอุดมสมบูรณ์ได้ขนาดนี้นักอนุรักษ์เขาทุ่มเทงบประมาณและแรงการแรงใจมาเท่าไหร่

รัฐบาลจะทำโครงการนี้ทั้งที่ยังไม่ผ่าน EIA (ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม)

ใช่ครับ โครงการไม่ผ่าน EIA รัฐบาลก็เลยไม่กล้าทำเพราะมันผิดกฎหมาย เขาก็ตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษา EHIA (ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) แทน แล้วก็ทำยังไงก็ได้ให้ผ่าน EHIA ทั้งที่ตามมาตรฐานเนี่ยยังไงมันก็ไม่ผ่าน ซึ่งการเดินรณรงค์คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ของเราก็เพื่อต้านEHIA นี่แหล่ะ

มีคนมองว่าถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำโครงการเขื่อนแม่วงก์ได้จะไปกระทบกับอีกหลายโครง การที่อยู่ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

ใช่ครับ คือเขื่อนแม่วงก์เนี่ยเป็น 1 ใน 23 โครงการ ซึ่งมันก็มีโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่กี่เขื่อนหรอก ที่มันเป็นอุปสรรคใหญ่ก็คือ แม่วงก์ แก่งเสือเต้น แม่แจ่ม ซึ่งมันอยู่ในพื้นที่อุทยาน ท่าแซะ ที่ชุมพร มันไม่มีพื้นที่ไหนที่ผ่าน EHIA เลย มีแม่วงก์นี่แหล่ะที่มาไกลที่สุด ซึ่งเขามีเวลาอยู่ 5 ปีที่จะดิวกับบริษัทอิตาเลี่ยนไทย เขาก็หวังที่จะให้แม่วงก์เนี่ยเป็นตัวนำร่องที่ให้ผ่าน EHIA ให้ได้ เพราะเขาก็มองว่าถ้ามาตรฐานของแม่วงก์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่า มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ผ่าน EHIA สามารถสร้างเขื่อนได้ ขณะที่พื้นที่อื่นไม่มีทรัพยากรอะไรเท่าไหร่ มีแต่ป่าที่ไม่สมบูรณ์ มีแต่คนอยู่อาศัย ถ้าแม่วงก์ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดยังผ่าน ตัวมาตรฐานนี้ก็จะไปใช้กับที่อื่น พื้นที่อื่นก็ต้องผ่าน EHIA หมด เขาจึงต้องเร่งรัดตัวนี้ ดังนั้นการที่ผมมาคัดค้านวันนี้มันไม่ใช่เรื่องของแม่วงก์อย่างเดียวแล้ว แต่มันเป็นการรักษามาตรฐานการตรวจสอบในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพราะถ้าแม่วงก์ผ่านโครงการพัฒนาในป่าที่จะเกิดต่อๆไปมันก็จะตามมาหมด

แล้ว EHIA เนี่ยมันเป็นเรื่องละเอียดซับซ้อนซึ่งคนทั่วไปไม่รู้ ผมก็ออกมาเดินเพื่อให้คนสงสัยว่า EHIA ที่ผมคัดค้านคืออะไร ซึ่งคนที่จะรู้เรื่องตรงนี้จริงๆ ไม่ใช่ชาวบ้าน ก็มีคนถามว่าทำไมไม่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ลาดยาว คือถึงชาวบ้านเข้าใจเขาก็คงไม่มาสนับสนุนให้คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์กับผมหรอกเพราะโครงการนี้มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเขาโดยตรง แต่มันกระทบต่อพื้นที่ป่าทั้งหมด ผมจึงต้องพุ่งเป้าไปที่ สผ.(สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ไม่ให้โครงการเขื่อนแม่วงก์ผ่าน EHIA การเคลื่อนไหวครั้งนี้ผมชัดเจน ส่วนคุณปลอดประสพจะพูดยังไงก็เรื่องของคุณปลอด แต่คุณปลอดต้องทำตามกฎหมาย คุณปลอดเป็นประธานคณะกรรมการ กบอ.(สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ) คุณปลอดเสนอการสร้างเขื่อน คุณปลอดก็ต้องผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ สผ. ดังนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ สผ.ต้องทำงานให้ดี

หลายคนก็สงสัยว่าแล้วโครงการนี้มันจะผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ได้ยังไง ในเมื่อการสร้างเขื่อนแม่วงก์มันส่งผลกระทบต่อสิ่งล้อมอย่างมาก

คือการศึกษา EHIA เป็นการจ้างบริษัทที่ปรึกษาคือบริษัทครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัดให้เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหัวหน้าคณะชื่ออาจารย์บุญส่ง ไข่เกษ ผู้ถือหุ้นบริษัทครีเอทีฟ เทคโนโลยีฯ แล้วก็มีทีมงานรับจ้างทำ อาจารย์บุญส่งแกอยู่บริษัท พอล คอนซัลแตนท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ศึกษา EIA (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม)ของโครงการเขื่อนแม่วงก์แล้วไม่ผ่านไง เขาก็ลอกของเก่ามาได้เลย ซึ่งบริษัทครีเอทีฟ เทคโนโลยีฯ เขาก็ส่งรายงานไปยัง คชก.(คณะกรรมการผู้ชำนาญการ) พิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไปเมื่อเดือน ก.ค.2555 ซึ่งคาดว่าจะผ่านการพิจารณา เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2556 ผมก็ไปยื่นหนังสือคัดค้านไว้ เขาก็เลื่อนมา แล้วก็มีข่าวว่าจะมาพิจารณาเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2556 แต่สุดท้ายไม่มีวาระนี้เข้า เนื่องจากกระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนมันแรงมาก

มีความพยายามตีขลุมว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมยืนยันว่าไม่ใช่โครงการในพระราชดำริแน่นอนครับ ถ้าเป็นโครงการพระราชดำริจริงทางกรมชลประทานต้องแจ้งมาแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ พระองค์ท่านเพียงแต่มีพระราชดำรัสให้จัดหาน้ำให้ประชาชน แต่ไม่ได้รับสั่งให้สร้างเขื่อน

ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีชาวบ้านในพื้นที่มาสนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยคุณวีระกร คำประกอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นคนนำมา

คือชาวบ้านเนี่ยเขาได้รับข้อมูลอีกชุดหนึ่ง เป็นข้อมูลเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เพราะว่าเขื่อนมีผลประโยชน์ทางการเมืองชัดเจน จะเห็นว่าแย่งกันจะตาย หลังจากน้ำท่วมปี 2554 ก็มีการอนุมัติในหลักการสร้างเขื่อนแม่วงก์เลย ทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2555 คุณสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ส.ส.หนุ่มของเพื่อไทยก็ฉวยโอกาสตอนที่คุณวีระกรเป็นหนึ่งใน ส.ส.ของบ้านเลขที่ 111อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็ฉวยโอกาสออกมาตีกินว่าขอขอบคุณนายกฯยิ่งลักษณ์ที่อนุมัติเขื่อนแม่วงก์ตามที่เขาเสนอ แล้วผมก็ได้ยินว่าเกิดความขัดแย้งกันน่าดูเลยระหว่าง ส.ส.เพื่อไทย กับคุณประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์ จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ว่ามาขโมยโครงการกันต่อหน้าต่อตา สักพักหนึ่งคุณวีระกรออกมาคุณสุชาติก็ต้องปลดป้ายตัวเอง

ซึ่งข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็คือมีการให้ข้อมูลที่ผิดๆว่าประชาชนจะได้น้ำถึง 3 จังหวัด 5 อำเภอ 23 ตำบล 127 หมู่บ้าน ครอบครัวที่จะได้ประโยชน์น่าจะเป็นแสนคน ซึ่งผมบอกแล้วมันเขียนไว้ใน EHIA ว่ามันเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 300,000 ไร่ ในหน้าแล้งจริงๆ ได้ประมาณ 100,000 ไร่เท่านั้นเอง ซึ่งในแสนไร่เป็นพื้นที่ประมาณ 2 ตำบลเท่านั้นเอง แต่ชาวบ้านไม่รู้หรอก เขาคิดว่าจะได้ถึง 23 ตำบล

จากข้อมูลพบว่าปริมาณน้ำที่ลงมายังจุดที่สร้างเขื่อนนั้นน้อยมาก

ไม่เยอะหรอกครับ ใน EHIA ก็ระบุว่าแก้น้ำท่วมได้แค่ 20-30% แต่เวลาที่คุยกันในพื้นที่เขาก็บอกว่าตัวเขื่อนเนี่ยมันจะมีแค่สายน้ำสายเดียวที่เข้ามาท่วม ถ้าเกิดชะลอไว้ได้บ้างมันก็จะบรรเทาน้ำท่วมได้ 25% แต่ข้อมูลเหล่านี้เขาไม่เคยบอกชาวบ้าน จริงๆผมเคยเจอน้ำหลาก แล้วผมก็วัดปริมาณน้ำไว้ก็พบว่าน้ำมันไม่ได้มาจากบริเวณที่จะสร้างเขื่อน แต่มันมาจากน้ำป่าซึ่งน้ำป่ามันก็จะมาจากพื้นที่ที่ไม่มีป่า เพราะป่าถูกทำลายไปก็คือแถวตำบลแม่เล่ย์ น้ำก็จะไหลมาจากคลองไทร คลองตะลิ่งสูง คลองแบ่ง แล้วก็มารวมกันอยู่ที่เขาชนกัน แล้วสมมุติปริมาณน้ำ 100% ที่เขาชนกันจะมาจากแม่น้ำแม่เรวาที่จะมีการกั้นเขื่อนแม่วงก์แค่ 20% เท่านั้น อีก 78% จะมาจากพื้นที่ใกล้ๆ แล้วก็จะไปรวมกับคลองม่วงซึ่งมีน้ำประมาณเกือบ 70% ของน้ำที่จะไหลมาจากเขาชนกัน ซึ่งทั้งสองคลองถ้าจัดการไม่ดีก็จะไปรวมกันอยู่ที่พื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเขื่อนแม่วงก์ถ้ารวมกับคลองแม่วงก์ด้วยก็จะเก็บน้ำที่จะไปท่วมลาดยาว ได้ ไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ

ถ้าคุณต้องการประสิทธิภาพในการลดปัญหาน้ำท่วมได้เท่ากับสร้างเขื่อนแม่วงก์ คุณก็ แค่ไปเพิ่มการระบายน้ำออกจากเมืองอีก 5% เติมเครื่องสูบน้ำเข้าไปอีกหน่อยก็จบแล้ว ใช้งบ ไม่เท่าไหร่ แล้วซื้อปุ๊บก็ใช้ได้ปั๊บเลย ขณะที่เขื่อนแม่วงก์มันรออีก 8 ปี ถึงจะใช้ชะลอน้ำได้ คุณก็แค่ระบายน้ำออกอีก 5-10% ก็เท่ากับมีเขื่อนแม่วงก์แล้ว แต่ คชก.(คณะกรรมการผู้ชำนาญการ)ที่ สผ.ไปหามากลับไม่สนใจประเด็นนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือมือไม่ถึงก็ตาม แล้วเขาก็ไม่ได้ลงพื้นที่ ข้อมูลที่ได้เขาก็อ่านจาก EHIA ซึ่ง EHIA ก็ไม่ได้บอกไว้

แล้วใครดู คชก.ชุดนี้

ประธาน คชก.ก็คือ คุณสันติ บุญประคับ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ซึ่งคุณปลอดเขาเพิ่งย้ายให้มาเป็นเลขาธิการ สผ. ตอนที่จะเร่งผลักดันโครงการเงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนี่ไง ซึ่งเลขาธิการ สผ.คนเก่าเนี่ยเป็นที่ยอมรับเพราะเป็นคนดี ชื่ออาจารย์วิจารณ์ สิมะฉายา ซึ่งท่านก็ตั้งประธาน คชก.มา ซึ่งประธาน คชก.ก็เป็นข้าราชการเกษียณที่เป็นน้ำดี และค่อนข้างมีชื่อเสียง คือ ดร.สันทัด สมชีวิตา พอต้นปีที่แล้วเขาก็เห็นว่าคนที่เป็นนักวิชาการทำท่าจะเป็นอุปสรรคกับโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้าน ก็เลยย้ายอาจารย์สันทัดออกจากประธาน คชก. และย้ายอาจารย์วิจารณ์ออกจากเลขาธิการ สผ. แล้วก็ไปดันคุณสันติมาเป็นเลขาธิการ สผ. ควบตำแหน่งประธาน คชก. ทั้งๆที่จริงๆแล้วประธาน คชก.ต้องเป็นกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมที่มาจากภายนอกอย่างอาจารย์สันทัด แล้วบรรดากรรมการที่คัดค้าน อย่างอาจารย์อุทิศ กุฎอินทร์ หรือ ท่านสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งมานั่งเป็นคณะกรรมการใน คชก.ก็ถูกเปลี่ยนตัวหมดเลย ตอนที่คุณปลอดยุบ คชก. แล้วให้คุณสันติมาเป็นประธาน คือใครค้านก็เอาออกหมด ดังนั้นมันจึงน่าสงสัยว่าโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านเนี่ยมาแทรกแซงการทำงานของ สผ. และ คชก. ซึ่งมันมีผลต่อ EHIA

ที่ผมต้องประท้วง EHIA ก็เพราะว่าผมยอมไม่ได้ให้กลไกการป้องกันสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาต้องถูกลดมาตรฐานลงจากฝีมือของคุณปลอดประสพ แล้วถ้ามาตรฐานตัวนี้มันถูกทำลาย อนาคตบ้านเมืองเราก็ไม่มีอะไรเหลือ เพราะตัวนี้คือกลไกสำคัญที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมให้ประเทศไทย

เมื่อครั้งที่เป็นอธิบดีกรมป่าไม้คุณปลอดประสบก็เคยคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่วันนี้คุณปลอดกลับมาเป็นแกนนำในผลักดันให้สร้างเขื่อนดังกล่าว คิดว่าอะไรที่ทำให้คุณปลอดเปลี่ยนไป

คือจริงๆแกเป็นนักวิชาการประมง มาอยู่กรมป่าไม้แกก็เข้าใจว่าแกรู้เรื่องป่าไม้ ทีนี้พอมาอยู่ กบอ.(สำนักงานนโยบายและบริหารขจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ) แกก็ต้องสร้างผลงาน คุณปลอดชอบเป็นวีรบุรุษอยู่แล้ว คือตอนน้ำท่วมก็อยากจะทำ ตอนสึนามิก็อยากจะทำ ก็ต้องเข้าใจว่าคุณปลอดประสพเขามั่นใจในความรู้ที่เป็นดอกเตอร์ของตัวเองเพราะใน ครม.นี้ไม่มีคนที่มีความรู้เท่าไหร่ คุณปลอดประสพเขาก็สามารถเป็นผู้นำใน ครม.ได้เพราะดูมีหลักการ ถ้าสังเกตเนี่ย ครม.ชุดนี้ที่ผ่านมาคนที่มีบทบาทสูงก็มีอยู่แค่ 2 คน คือคุณเฉลิม อยู่บำรุง และคุณปลอดประสพ เมื่อก่อนคนก็จะสนใจนายกฯว่านายกฯพูดอย่างนั้นอย่างนี้ พอคุณยิ่งลักษณ์พูดไม่รู้เรื่องก็เป็นโอกาสของรองนายกฯ ที่จะขึ้นมามีบทบาท ซึ่งก็มีรองปลอด กับรองเหลิม 2 คน ส่วนรองนายกฯอีกคนคือรองฯสุรพงษ์ โตวิจักขณ์ชัยกุล ก็มีภารกิจชัดเจนว่าเข้ามาทำอะไร ไม่ได้มาบริหารบ้านเมือง รองฯเหลิม กับรองฯปลอดก็มีบทบาทเต็มที่

มีคนสงสัยว่าแล้วคุณบรรหาร ศิลปอาชา มาเกี่ยวอะไรกับโครงการนี้

คือแต่เดิมใครก็รู้ว่าคุณบรรหารท่านชอบกระทรวงเกษตรฯ แล้วก็เข้ามช่วยงานกระทรวงเกษตรฯอยุ่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่มี่ตำแหน่ง ก็มาเป็นที่ปรึกษาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแต่เดิมเนี่ยเขื่อนนี้มันเป็นของกรมชลประทาน ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ พอมาอยู่ในความดูแลของ กบอ. โครงการก็โยกออกไปจากกระทรวงกระเกษตรฯ จะเห็นว่าคุณบรรหารกับคุณปลอดประสพมีเรื่องฉ้งเฉ้งกันอยู่พักหนึ่ง แต่ตอนหลังก็คุยกันดีแล้ว

แสดงว่าคุณบรรหารก็ชอบโครงการเขื่อนเหมือนกัน

ใช่ครับ คุณบรรหารชอบโครงการเขื่อน ที่ผ่านมาคุณบรรหารก็จะเกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนมาโดยตลอด หลายๆคนก็มีผลประโยชน์จากโครงการนี้ เราจึงเห็นว่าทำไมเขาถึงไม่ใส่ข้อมูลเรื่องเสือของกรมอุทยานฯเข้าไปในรายงาน EHIA เพราะถ้าคุณใส่ข้อมูลเรื่องเสือเข้าไปคุณจะสร้างเขื่อนได้ยังไงเพราะเท่ากับคุณไปทำลายแหล่งอาหารที่สำคัญของเสือ มันก็ถูกบีบไปทางเลือกอื่น เช่น ขยับเขื่อนออกมานอกป่า ซึ่งมันก็ไม่ตรงกับใจเขา เพราะพื้นที่นอกป่ามันเป็นพื้นที่ผลประโยชน์ของนักการเมืองเขาเพราะฉะนั้นเขาไม่ยอมให้เขื่อนมาลงหรอก หรือไม่อีกทีก็ต้องหาทางจัดการน้ำด้วยวิธีอื่น ซึ่งเขาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

ทำไมอาจารย์จึงมุ่งมั่นที่จะปกป้องผืนป่าแม่วงก์

เพราะตรงนี้มันเป็นเกียรติภูมิของพี่สืบ (สืบ นาคะเสถียร) ที่ช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานกับคัดค้านเขื่อนน้ำโจน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีเขื่อนเข้าไปในป่าอีกเลย แล้วผมดำรงตำแหน่งผู้นำองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถ้าผมไม่ทำแล้วใครจะทำ ประการที่สอง ในฐานะที่ผมคลุกคลีอยู่ในวงการสิ่งแวดล้อมมา 20 กว่าปี ตั้งแต่เรียนจบมาผมก็อยู่ในวงการสิ่งแวดล้อมมาตลอด เป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ผมก็มีสิทธิจะประท้วงมาตรฐานการทำงานของ สผ. เพราะผมถือว่า สผ.เป็นหน่วยงานทางวิชาการที่เชื่อถือได้หน่วยงานหนึ่ง มีข้าราชการน้ำดีอยู่ในนั้นเต็มไปหมด เมื่อคุณปลอดประสพกำลังจะมาทำลายหน่วยงานดีๆอย่าง สผ. ผมจึงต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้อง สผ. ผมพูดเสมอว่าผมทำงานให้พี่สืบ แล้วถ้าผมปล่อยให้โครงการที่มันผิดพลาดฉ้อฉลเกิดขึ้น แล้วผมจะมีหน้าไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ยังไง แต่ถ้าผมได้สู้เต็มที่แล้วมันไม่สามารถยับยั้งโครงการได้มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น