xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถดถอย หรือ ตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-บีบีซี สื่อยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักรได้มีการเสนอบทความเรื่อง Thailand's economy enters recession หรือเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยหดตัวอย่างคาดไม่ถึงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่ 0.3% และไตรมาสแรกของปีหดตัว 1.7% ทั้งที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยเติบโตแซงหน้าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเมื่อปีที่แล้วขยายตัวถึง 6%

ทั้งนี้นายซันเจย์ แมตเธอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐศาสตร์ของรอยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์ (อาร์บีเอส) บอกกับ บีบีซีว่า การส่งออก อุปสงค์ในประเทศ และความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจที่ลดลง คือสาเหตุของเศรษฐกิจที่ถดถอย ซึ่งทำให้ประเมินว่า การเจริญเติบโตของไทยในปีนี้ลดลงเหลือเพียง 3.5% ทั้งที่เมื่อตอนต้นปีไทยเหมือนว่าจะเดินหน้าเป็นผู้นำเศรษฐกิจในเอเชียหลายประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงน่าผิดหวังอย่างยิ่ง

ในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว ภาวะถดถอย (Recession) ถือเป็นช่วงอันตรายของภาวะเศรษฐกิจที่ทุกประเทศไม่อยากเผชิญ

ในวัฏจักรเศรษฐกิจนั้น ประกอบด้วย 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงตกต่ำ (depression) ช่วงฟื้นตัว (Expansion) ช่วงรุ่งเรือง (Boom) และช่วงถดถอย (Recession)

ช่วงถดถอยนั้น สามารถสังเกตุได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ การจ้างงาน การใช้จ่ายเพื่อการลงทุน อัตราการใช้กำลังการผลิต รายได้ของครัวเรือน กำไรขององค์กรธุรกิจ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นอยู่ในภาวะปรับตัวลดลง ในขณะที่อัตราการว่างงานสูงขึ้น

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอาจจะเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือเกิดจากช็อคด้านการค้า ช็อคทางด้านอุปทาน หรือเกิดจากภาวะฟองสบู่

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงในเรื่องความหมายของ “ภาวะถดถอย”นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในปี 1975 Julius Shiskin นักสถิติเศรษฐศาสตร์ได้ให้นิยามของ “ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ”ว่า “เกิดจากการลดลงของจีดีพี ติดต่อกัน 2 ไตรมาส”

นั่นจึงทำให้ บทความของบีบีซี ระบุว่า ไทยกำลังอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม นิยามของภาวะถดถอย ยังมีแตกต่างกันอยู่ โดยนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนเห็นว่า “การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน 1.5% ภายใน 12 เดือน” เป็นความหมายที่บ่งบอกถึงภาวะถดถอย

กระนั้นก็ตาม ในสหรัฐอเมริกา National Bureau of Economic Research (NBER) องค์กรที่ให้ความหมายภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการว่า เป็นภาวะที่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของจีดีพีที่แท้จริง รายได้ที่แท้จริง การจ้างงาน การผลิตของอุตสาหกรรม และยอดขายปลีก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ลดลงติดต่อกันหลายเดือนและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

แต่ในประเทศอังกฤษ นิยามของภาวะถดถอยที่ได้รับการยอมรับกันก็คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส

ส่งผลแนวโน้มที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯของไทยยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า แตะที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

ขณะเดียวกัน ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% โดยประเมินว่า ระดับดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมและภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งน่าจะเริ่มฟื้นตัว

ที่สำคัญ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับประมาณการแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2556 ลงเหลือ 3.8-4.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4% จากเดิมที่ 4.2-5.2% พร้อมทั้งปรับลดประมาณการตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ลงเหลือ 5% จากเดิมที่ 7.6% และมูลค่าการนำเข้าสินค้าในปีนี้ลดลงเหลือ 6.5% จากเดิม 7.6% และได้มีการปรับลดประมาณการตัวเลขการลงทุนรวมลงเหลือ 6% จากเดิมที่ 7.9% โดยแบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชนลดลงเหลือ 4% จากเดิม 6.3% และการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 13.8%

นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการตัวเลขการบริโภครวมภายในประเทศปีนี้ลดลงเหลือ 2.6% จากเดิมที่ 3.2% โดยแบ่งเป็น การบริโภคภาคเอกชนลดลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่ 3.3% ขณะที่การบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จากเดิมที่ 2.6%

ดุลการค้าลดลงเหลือ 5.5% จากเดิม 8.9%

ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ลดลงเหลือ 2.3-2.8% จากเดิมที่ 2.3-3.3%

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 สามารถขยายตัวได้เพียง 2.8% ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ที่ 4.1% เนื่องจากแรงส่งจากการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง

สำหรับการส่งออกในไตรมาส 2 ปี 2556 ติดลบ 1.9% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.5% โดยครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยขยายตัวได้เพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ซึ่งกระทบโดยตรงต่อธุรกิจส่งออกอัญมณี, เสื้อฟ้า, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหาร ขณะที่ภาคการเกษตรขยายตัวได้เพียง 0.1% โดยในครึ่งปีแรกขยายตัวเพียง 0.4% ส่วนภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ติดลบ 0.1% และครึ่งปีแรก เติบโต 2%

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งประเมินว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการชะลอตัวลงทั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ การดาเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศให้กลับมาขยายตัวในระดับปกติได้ในระยะต่อไป

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 56 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0)

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ สศช. ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ ขยายตัวได้เพียง 3.8% ว่า ขณะนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เตรียมทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ใหม่อีกครั้ง  ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า จีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 4% จากปัจจุบันคาดการณ์ไว้ที่ 4-4.5% เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

แปลไทยเป็นไทยอีกรอบก็คือ ทิศทางเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งหัวลงครับพี่น้อง !!!



กำลังโหลดความคิดเห็น