xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (74)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*

(24) “เมื่อรู้สึกชอบหรือไม่ชอบใคร อย่าปล่อยความรู้สึกนั้นไปที่คนผู้นั้น แต่ให้ความรู้สึกนี้อยู่ที่ศูนย์กลางภายใน”

ขยายความ ตามปกติ คนเราเมื่อรู้สึกรักใครหรือเกลียดใคร จิตจะส่งออกนอก โดยถ่ายเทความรู้สึกนั้นไปสู่คนผู้นั้น แต่ตันตระกลับแนะไม่ให้เราถ่ายเทความรู้สึกนั้นไปสู่คนผู้นั้น เพาะตัวเราเองต่างหากที่เป็นต้นตอของความรัก ความเกลียดนั้น คนทั่วไป เวลาเกลียดใครมักจะนึกว่า คนคนนั้นคือที่มาของความเกลียด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ตัวเราเองต่างหากที่เป็นที่มาของความเกลียดนั้น โดยที่คนคนนั้นเป็นเพียงจอภาพที่ตัวเราฉายหรือถ่ายเทความเกลียดไปสู่ต่างหาก ในทำนองเดียวกัน เวลาที่เรารู้สึกรักใคร คนผู้นั้นก็หาได้เป็นที่มาแห่งความรักของเราดังที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกัน ตัวเราต่างหากที่ดึงพลังงานของความรักจากตัวเราไปถ่ายเทสู่คนนั้น ถ้าเข้าใจในเรื่องนี้แล้วก็จะเข้าใจได้เองว่า ทำไมถึงต้องฝึกด้วยวิธีนี้ กล่าวคือ เมื่อเรารู้สึกโกรธใคร จงทำความรู้สึกตัว มีสติ รีบขอบคุณคนที่เราโกรธ และลืมคนผู้นั้นเสียโดยหลับตาแล้วรวมพลังเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเราแทน ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรารู้สึกรักใคร จงทำความรู้สึกตัวมีสติรีบขอบคุณคนที่เรารัก และลืมคนผู้นั้นเสีย โดยหลับตาแล้วรวมพลังเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเราเช่นกัน...เพื่อหาที่มาของความโกรธหรือความรักนั้น

(25) “เมื่อเกิดความคิดชั่ววูบขึ้นมาที่จะทำอะไรก็ดี ในชั่วขณะนั้นแหละ...ให้หยุด

ขยายความ ตันตระสอนว่า ชีวิตเป็นความสมดุลระหว่าง “การเป็น” กับ “การทำ” โดยที่ “การเป็น” คือธาตุแท้ดั้งเดิมของเรา มันอยู่กับตัวเราตลอดเวลาทุกขณะจิต มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราได้มา มันเป็นสิ่งนั้น และเราเป็นสิ่งนั้น หาใช่เรามีสิ่งนั้นไม่ เนื่องเพราะไม่มีระยะห่างระหว่างตัวเรากับสิ่งนั้น นี่แหละคือความหมายของ “การเป็น” ขณะที่ การทำ คือการบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเราจะทำอะไร เนื่องจากมันไม่ได้เป็นสิ่งที่มีมาแต่ดั้งเดิม เราจึงต้องไป “ทำ” มัน ถ้าทำถึงจะมี ถ้าไม่ทำก็ไม่เกิดมีขึ้น สิ่งที่ไม่ได้มีมาตั้งแต่เดิมทั้งหมด จึงไม่ใช่ “การเป็น” ของเราแต่อย่างใด

ความทุกข์จักมาเยือนคนเราเมื่อ “การมี” กับ “การทำ” ได้เข้ามาเป็นศูนย์กลางของชีวิตเราแทน “การเป็น” เราต้อง “ทำ” สิ่งต่างๆ เพื่อการยังชีพ เพื่อการมีชีวิตอยู่ แต่ครั้นพอทำไปแล้ว สิ่งที่ทำอยู่นั้นกลับกลายเป็นอุปสรรค ทำให้เราไม่เข้าใจความเป็นตัวของเราเองไป ทั้งๆ ที่ “การทำ” น่าจะเป็นสิ่งรองสำหรับตัวเรา แต่แล้วมันได้เข้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต จนเรารู้สึกว่าขาดมันไม่ได้ จนเราไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่ทำอะไร อย่างไรก็ตาม “การทำ” ก็ยังไม่ใช่ “การเป็น” ของเราอยู่ดี

ตันตระเตือนว่า ในขณะที่เราคิดจะ “มี” อะไรนั้น ตัวเราไม่ได้ “เป็น” เสียแล้ว การเป็นของเราดำรงอยู่ก่อนการมีและการทำทั้งปวง แต่ “ใจ” มักชักจูงให้เราทำโน่น ทำนี่หรือมีโน่นมีนี่เสมอ ในขณะที่การเป็นดำรงอยู่ในที่ที่เหนือใจ การเข้าถึงความเป็นสิ่งนั้น คือ สิ่งที่ผู้แสวงธรรมทั้งหลายต้องการเข้าถึง หากเราไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “การเป็น” กับ “การทำ” ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เราจะไม่มีทางเข้าใจความหมายของ วิธีหยุด ที่ตันตระถ่ายทอดได้เลย

ขอให้ลองครุ่นคิดให้ดี ไม่ว่าเงินทอง อำนาจ ตำแหน่ง ความรู้ ชื่อเสียง ฯลฯ มันไม่ใช่ตัวเราเลย เราแค่ “มี” มันเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่อยู่ในการครอบครองของเรา แต่มันไม่ใช่เรา จงเข้าใจความแตกต่างในข้อนี้ให้ได้

“การเป็น” ไม่ใช่การเลือก แต่ “การทำ” เป็นเรื่องของการเลือกเสมอ การทำยังไม่ใช่การเป็นของตัวเราจริงๆ จะเห็นได้ว่า การเป็นสิ่งนั้นมีมาก่อน การกระทำใดๆ ทั้งปวง เพราะฉะนั้น “การเป็น” ของตัวเรา จึงเป็นศูนย์กลางของการกระทำของเราทั้งปวง ดุจจุดศูนย์กลางของวงกลม ปราชญ์คุรุในอดีตได้ตั้งชื่อ “การเป็น” อันนี้ว่า จิตวิญญาณ หรือตัวตนที่แท้จริง ซึ่งตันตระได้บอกกับเราว่า หากเราสามารถเข้าถึง “ความเป็น” (สิ่งนั้น อันนี้ได้ เราก็จะเข้าถึงพุทธะ พระเจ้า เต๋า ความหลุดพ้น นิพพาน ความเป็นนิรันดร์ได้ วิธีหยุดในคัมภีร์ตันตระที่จะถ่ายทอดต่อไปนี้คือ วิธีการฝึกเพื่อเข้าสู่ “การเป็น” ของตัวเรานั่นเอง

กล่าวคือ การเข้าสู่การเป็นโดย “หยุด” การมีหรือการกระทำในระหว่างที่กำลังดำเนินอยู่คือ เคล็ดการฝึกของตันตระ

“เมื่อเกิดความคิดชั่ววูบขึ้นมาที่จะทำอะไรก็ดี ในชั่วขณะนั้นแหละ...ให้หยุด

วิธีการฝึกเช่นนี้เป็นเคล็ดลับสำคัญ เพื่อเข้าสู่ศูนย์กลางของตัวเราเองของตันตระ วิธีการฝึกอย่างง่ายๆ ก็คือ ในระหว่างทำกิจกรรมบางอย่างอยู่โดยไม่ให้ลูกศิษย์รู้ตัว ครูจะสั่งด้วยเสียงอันดังให้ “หยุด” ในทันทีทันใด โดยที่คำสั่ง หยุด ในที่นี้ของครู คือการสั่งให้ลูกศิษย์หยุดการเคลื่อนไหวจริงๆ โดยสิ้นเชิงในขณะนั้น ห้ามขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าลืมตาก็ต้องลืมตาค้างเอาไว้ ถ้ากำลังยกขาก้าวก็ต้องยืนแช่ท่าอยู่เช่นนั้นไม่ขยับ กล่าวสั้นๆ ก็คือ การหยุดนี้เป็นการตั้งใจหยุดเกี่ยวกับตัวเองของแต่ละคนอย่างจงใจ ดุจตัวเองเป็นรูปปั้นอันหนึ่ง

หากผู้ฝึกตั้งใจที่จะ “หยุด” โดยฉับพลัน ด้วยความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ไม่กลัวอาการเจ็บปวดที่อาจเกิดจากการหยุดโดยฉับพลัน บางทีผู้ฝึกอาจเข้าถึง “ช่องว่าง” ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่าง “กายเรา” กับ “ตัวเรา” นั่นเอง กล่าวคือในการหยุดอย่างฉับพลัน เราอาจเห็นได้ชัดเลยว่า ตัวเราถูกแยกออกจากกาย ตัวเรามิใช่ร่างกาย ตัวเราเป็น “ผู้รู้” ต่างหาก ความตระหนักรู้นี้แหละคือ การเข้าถึงศูนย์กลางภายใน แต่วิธีการฝึกหยุดเช่นนี้จะไม่ได้ผลเลย หากผู้ฝึกหลอกครูและหลอกตัวเอง อย่างเช่น เมื่ออยู่ในท่าที่อึดอัดไม่สบายแล้ว ครูสั่งให้หยุด ก็มีการปรับท่าให้สบายก่อนแล้วค่อยหยุด ทั้งๆ ที่ได้ยินคำสั่งให้หยุดจากปากครูแล้ว ในกรณีเช่นนี้ “ช่องว่าง” จะไม่เกิดขึ้น เพราะจิตของผู้ฝึกยังติดแน่นอยู่กับร่างกายนี้อยู่อย่างเหนียวแน่น เพราะฉะนั้นผู้ฝึกจะต้องไม่กลัว ไม่กังวลก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายนี้ เมื่อครูสั่งให้หยุดก็ต้องหยุดทันที เพราะหากใจคิดเข้าไปเกี่ยวกับกายแม้เพียงนิดเดียวก็จะพลาดจากการเข้าถึงศูนย์กลางภายในทันที ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราถูกสั่งให้ “หยุด” อย่างกะทันหัน และเราหยุดจริงๆ ตัวเราจะหลุดออกจากโลกของการกระทำ และของร่างกายในห้วงยามนั้นแล้วกลับมาสู่ศูนย์กลางแห่งความรู้สึกตัวอีกครั้ง

คนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์ของการหยุดกะทันหันเช่นนี้ ชีวิตของพวกเขาจะเป็นแค่การเปลี่ยนจากการกระทำหนึ่งไปสู่อีกการกระทำหนึ่งอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น มันจะเป็นเช่นนี้โดยไม่หยุดหย่อน แม้แต่ยามนอนหลับ เพราะต่อให้ร่างกายหลับพักผ่อน จิตก็ยังคงทำงานในรูปของความฝันอยู่ดี จะเห็นได้ว่า วิธีหยุดของตันตระ วิธีนี้เป็นการนำผู้นั้นเข้าสู่ภาวะ “ไม่กระทำ” (การรู้สึกตัว) อย่างทันทีทันใดนั่นเอง ความสำคัญของวิธีนี้ จึงอยู่ที่การกระทำอย่างฉับพลันไม่ให้ตั้งตัว ไม่ให้รู้ตัว เพื่อไม่ให้เป็นความพยายามตั้งใจซึ่งจะกลายเป็นการกระทำไป ถ้าผู้ฝึกจะลองฝึกวิธีหยุดนี้ด้วยตนเองตามลำพัง เขาจะต้องออกคำสั่งแก่ตัวเองให้ “หยุด” อยู่ชั่วขณะ ในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอยู่ เช่น กำลังอาบน้ำ กำลังเขียนหนังสือ กำลังเดิน เหล่านี้เป็นต้น ที่สำคัญคือ กายของผู้ฝึกและลมหายใจของผู้ฝึกในตอนนั้น จะต้องหยุดจริงๆ เพื่อที่ใจจะได้หยุดด้วย โดยที่จะให้ใจหยุดได้จะต้องกลั้นลมหายใจไว้ชั่วขณะ

หากเราลองประยุกต์วิธีการหยุดนี้ไปใช้กับ ความกระหายน้ำ จะเป็นอย่างไร? ขณะนี้ตัวเราคอแห้งกระหายน้ำ เราจึงเอื้อมมือจะไปหยิบแก้วน้ำมาดื่ม หากเราสั่งตัวเองให้ “หยุด” ทันทีเดี๋ยวนั้น มือเรายังแตะแก้วน้ำอยู่ แก้วอยู่ข้างนอก ความกระหายอยู่ข้างใจ มืออยู่บนแก้ว ตาจับอยู่ที่แก้ว เราหยุดนิ่งทันที ไม่เคลื่อนไหว ไม่หายใจราวกับตายไปชั่วขณะ ขณะนั้นความรู้สึกกระตุ้นที่เกิดในรูปของความกระหาย หรือความอยากจะปลดปล่อยพลังงานออกมา แต่พลังงานนี้กลับไม่ได้ออกข้างนอกเพื่อบรรเทาความกระหาย แต่กลับเข้าสู่ศูนย์กลางภายในแทน (ยังมีต่อ)

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น