xs
xsm
sm
md
lg

โพลไม่เชื่อสภาปฏิรูปฯ แก้ปัญหาความขัดแย้งได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในเดือนสิงหาคม โดยสุ่มจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,529 คน ระหว่างวันที่ 5 - 6 ส.ค. พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 37.3 % คิดว่าในการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในประเทศไทยได้ ขณะที่ 28.2% เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาได้ และ 34.5% ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ 47.8 % ไม่เห็นด้วยกับกับการชุมนุมเพื่อคัดค้านในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขณะที่ 31.9% เห็นด้วย และ 20.2% ไม่แน่ใจ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐสภา มีจำนวนใกล้เคียงกัน คือ ไม่เห็นด้วย 42%, เห็นด้วย 41.4% และไม่แน่ใจ 16.6% เช่นเดียวกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค. 56 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยก็มีจำนวนใกล้เคียงกัน คือ เห็นด้วย 35.2%, ไม่เห็นด้วย 33.7% และ ไม่แน่ใจ 31.1%
ขณะที่เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ท่าทีของฝ่ายการเมือง เจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุม ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือ 93.3% ติดตามข่าวการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้ และ 6.7% ไม่ได้ติดตาม
เมื่อสอบถามถึงท่าทีของฝ่ายการเมืองต่อสถานการณ์ความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 94.3% ระบุว่า ฝ่ายการเมืองควรตอบโต้ด้วยความสงบ เจรจาด้วยเหตุผล และไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ 5.7% ระบุว่า ควรใช้กำลัง ความรุนแรง หากเกิดความวุ่นวาย
ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มตัวอย่าง 10.3 % ระบุว่า ควรใช้กำลัง ความรุนแรงในการชุมนุมและเคลื่อนไหวหากไม่เป็นไปตามสิ่งที่เรียกร้อง ในขณะที่ 89.7% คิดว่าผู้ชุมนุมควรชุมนุมและเคลื่อนไหวด้วยความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของท่าทีของเจ้าหน้าที่ในการควบคุม ดูแลความสงบ เรียบร้อยของกลุ่มผู้ชุมนุม พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 97.6% ระบุว่า ควรควบคุม ดูแลด้วยความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ 2.4% ระบุว่าควรใช้กำลัง ความรุนแรงหากเกิดความวุ่นวาย
กำลังโหลดความคิดเห็น