เอแบคโพลล์สำรวจคนกรุงเทพฯ พบส่วนใหญ่ 94% ฝ่ายการเมืองควรใช้ความสงบ เจรจาด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง 89% อยากให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวด้วยความสงบ
น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องท่าทีของฝ่ายการเมือง เจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุม ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในการพิจารณา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,328 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 93.3 ติดตามข่าวการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้ และร้อยละ 6.7 ไม่ได้ติดตาม
ส่วนท่าทีของฝ่ายการเมืองต่อสถานการณ์ความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในครั้งนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 94.3 ระบุว่า ฝ่ายการเมืองควรตอบโต้ด้วยความสงบ เจรจาด้วยเหตุผล และไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 5.7 ระบุว่าควรใช้กำลัง ความรุนแรงหากเกิดความวุ่นวาย
ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.3 ระบุว่าควรใช้กำลัง ความรุนแรงในการชุมนุมและเคลื่อนไหวหากไม่เป็นไปตามสิ่งที่เรียกร้อง ในขณะที่ร้อยละ 89.7 คิดว่าผู้ชุมนุมควรชุมนุมและเคลื่อนไหวด้วยความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของท่าทีของเจ้าหน้าที่ในการควบคุม ดูแลความสงบ เรียบร้อยของกลุ่มผู้ชุมนุม พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 97.6 ระบุว่าควรควบคุม ดูแลด้วยความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 2.4 ระบุว่าควรใช้กำลัง ความรุนแรงหากเกิดความวุ่นวาย
น.ส.ปุณฑรีก์กล่าวว่า ประชาชนเรียกร้องความสงบสุข และการพูดคุยกันอย่างมีเหตุและผล อยู่บนครรลองครองธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ จากทั้งฝ่ายการเมือง เจ้าหน้าที่ และกลุ่มผู้ชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ความสั่นคลอน และความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ยังไม่น่ากลัวเท่ากับความขัดแย้ง รุนแรงบานปลาย ในหมู่ประชาชน ที่ยากจะควบคุมได้ เพราะจะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง ยิ่งไปกว่านั้น ต้องระลึกถึงอยู่เสมอว่า “การเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยมี “หน้าที่” ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ไม่ใช่ยั่วยุ หรือกระตุ้นเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งเสียเอง