xs
xsm
sm
md
lg

บัญญัติ”ยื่นปปช.ฟัน“ธาริต” พิรุธทำสำนวนชงกคพ.ยัดคดีปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(29 ก.ค.56) ที่สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนขอเท็จจริง ต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ ชุดที่ รับคดีบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 15 คน เป็นคดีพิเศษ ซึ่งรวมไปถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษ และ พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะสอบสวนคดีพิเศษ ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 กรณี รับคดีดังกล่าวไว้พิจารณา โดยมี นายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับหนังสือ
โดยนายบัญญัติ กล่าวว่า มายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอความเป็นธรรม ในเรื่องที่คณะกรรมการคดีพิเศษ สอบสวน ตนและพวก ที่ยอมให้สภาผู้แทนราษฎร หักเงินเดือน จำนวน 2 หมื่นบาทบริจาคเข้าพรรค ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมานาน และทางพรรคก็ได้แจ้งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) รับทราบอย่างถูกต้อง และถือว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด แต่ถ้าหากว่ามีความผิด ก็ไม่ถึงขั้นเป็นคดีพิเศษ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนแต่อย่างใด
“ทางพรรคก็ได้มีการยื่นหนังสือโต้แย้งไปแล้ว ก็ไม่มีการทบทวนแต่อย่างใด เมื่อ กกต.แถลงว่าเรื่องดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นความผิด ทางดีเอสไอก็ไม่มีการทบทวนในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน” นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่า การยื่นเอาผิดนายธาริต เนื่องจากมีเจตนานำเสนอข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และการที่ยื่นเอาผิด พ.ต.อ.นิรันดร์ เนื่องจาก คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังมีการใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามกฎหมายอยู่ ซึ่งการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ เพื่อเตือนสติเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ใช่อำนาจเกิดควร และขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อชี้มูลความผิดทางวินัย หรือทางอาญา เพื่อดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้หลักฐานที่ใช้ประกอบในการยื่นครั้งนี้ เป็นหนังสือโต้ตอบระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ และ ดีเอสไอ และข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึง มติ ของ กกต.ที่ชี้ว่าเรื่องนี้ไม่ถือเป็นความผิด เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ขณะที่ นายวิทยา เปิดเผยว่า คาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้รับทราบได้ภายในวันที่ 1 ส.ค. นี้ จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะส่งเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่พิจารณาว่าจะรับเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด
วันเดียวกันมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการสื่อสารมวลชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง โดยที่ประชุมได้ซักถามถึงเหตุผลที่คณะกรรมการคดีพิเศษ หรือ กคพ.ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน รับเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษ
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามข้อกฎหมายการที่คดีใดจะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้นจะต้องเข้าตามหลักพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรค 1 หรือต้องได้รับความเห็นชอบจากในที่ประชุม กคพ. ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 แต่จากคดีดังกล่าวเกิดจากการที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อนในการพิจารณา และอาจจะกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกับนายตำรวจระดับสูงด้วย พร้อมกันนี้ย้ำว่าถึงคดีดังกล่าวจะเข้าเป็นคดีพิเศษก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นความผิดด้วย ซึ่งจากการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าคดีดังกล่าวไม่ได้มีความสลับซับซ้อนตามที่ได้ระบุไว้
นอกจากนี้ รองอัยการสูงสุดยังกล่าวอีกว่า ในที่ประชุม กคพ.ไม่ได้มีการหารือกันถึงรายละเอียดคดี รวมถึงได้มีการแยกพิจารณาคดีระหว่างคดี ส.ส.บริจาคเงินให้พรรคการเมือง และเงินบริจาคให้ผู้ประสบอุทุกภัยของพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเรียกร้องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้พิจารณาตรวจสอบคดีอย่างตรงไปตรงมา และยึดมั่นในหลักกฎหมายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น