xs
xsm
sm
md
lg

"ประชา"หนุนคุยBRNต่อ เชื่อ"ปู"ช่วยแก้ไฟใต้เร็วขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า งานที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ เป็นงานด้านการพัฒนาในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการบูรณาการ เรื่องการดำเนินงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยจะมีการพูดคุยกันเพื่อทบทวนในเรื่องของยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง
เบื้องต้นแนวปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหายังคงเหมือนเดิม แต่อาจจะมีการเพิ่มในเรื่องการพัฒนาเข้าไปมากขึ้น เช่น การศึกษา จะต้องให้บุตรหลานของพี่น้องประชาชน มีโอกาสจะเข้าถึงแหล่งทุนที่สนับสนุนการศึกษา เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เรื่องการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายกฯ ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม จะทำให้อำนาจการตัดสินใจในฐานะที่เป็นรองนายกฯ ดูแลด้านความมั่นคง จะลดลงหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า นายกฯในฐานะรมว.กลาโหม คือผู้มีอำนาจในการสั่งการ และการกำกับดูแล ตนมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงกลาโหม ส่วนมากเป็นเรื่องของงานเอกสาร และงานธุรการ การบังคับบัญชาเป็นของนายกฯ ยกตัวอย่างเช่น หากนำเรื่องเข้าครม. จะเป็นการตัดสินใจของตน แต่การสั่งการเป็นของนายกฯ
สำหรับการเจรจาสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ตนมองว่า เป็นเรื่องที่ดี ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต หากเราไม่พูดคุยกัน เราจะไม่ทราบในเนื้อหา และประเด็นต่างๆ จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนตัวบุคคลหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบยังเกิดต่อเนื่อง พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า คงต้องหารือกับ สมช. กับ ศอ.บต.ก่อน แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนกลุ่ม แต่อาจจะเพิ่มกลุ่มใหม่หรือไม่ ส่วนที่มีการเรียกร้องให้พูดคุยในทางลับนั้น คิดว่าที่ผ่านมาได้มีการทำในทางลับอยู่แล้ว แต่ที่เขาเปิด เพราะปิดไม่ได้
เมื่อถามว่า มีการมองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ทุกจุด พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ยังไม่น่าด่วนสรุป ว่าเราทำไม่สำเร็จ เพราะกำลังพยายามกันอยู่ ขอเวลาให้ทางรัฐบาลบ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องขอเวลาให้ภาครัฐได้มีเวลาเจาะลึกลงไปว่า เรายังขาดอะไร จะต้องเติมในส่วนไหน หรืออะไรที่เกินไป ที่จะลดลงมา ต้องมีการทบทวน
ทั้งนี้ ตนจะเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงในเร็วๆ นี้ และก่อนวันที่ 8 ก.ค. จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากวันที่ 8 หรือ 9 ก.ค.นี้ ทางจุฬาราชมนตรี จะมีการประกาศว่าวันไหนเป็นวันรอมฎอน

** ผบ.ทบ.ชี้ทหารไม่มีสิทธิ์เลือกนาย

เช้าวานนี้ (3ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับทราบการทำงานของหน่วยในพื้นที่ว่า จะไปดูมาตรการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ยังมีปัญหาอยู่ วันนี้เราได้ใช้ปฏิบัติการทางด้านทหารและ การบังคับใช้กฎหมาย โดยต้องเร่งรัดการทำงาน 3-4 กลุ่มงานให้ขับเคลื่อนพร้อมกัน เพื่อให้สถิติความรุนแรงลดลง ซึ่งนายกรัฐมนตรี สั่งการว่าให้ไปกำหนดพื้นที่มาให้ชัดเจนว่า พื้นที่ใดที่มีความรุนแรงมากน้อยอย่างไร จะได้ปรับเปลี่ยนแผนการรักษาความปลอดภัย
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม จะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีฝ่ายบริหารอยู่ คือ รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ที่ปกครองประเทศ ฝ่ายบริหารจะตั้งใคร จะเลือกใครมาบริหาร ไม่ใช่เรื่องของทหาร ไม่ใช่เรื่องของตนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ คิดว่าไม่ใช่ทหารแท้ เราสอนผู้ใต้ผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอว่า ท่านไม่มีสิทธิ์ในการเลือกผู้บังคับบัญชา แต่ผู้บังคับบัญชา มีสิทธิ์ในการเลือกท่าน ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา นี่คือ วัฒนธรรม ถ้าเราไม่มีส่วนนี้ก็รบกันไม่ได้ ดังนั้นการที่นายกฯมาเป็นรมว.กลาโหม เป็นสิทธิ์ของท่านและรัฐบาล และเป็นไปตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ตนเลือกไม่ได้ และการที่ท่านมาเป็น นายกฯ ได้ฝากมาบอกกับพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ว่า ท่านจะไม่มาทำอะไรให้กองทัพเสียหาย เพราะฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงต้องทำให้ดีที่สุด
" สิ่งที่ท่านคาดหวัง คือ แก้ปัญหาภาคใต้ให้เร็วขึ้น แต่การแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ว่า เปลี่ยนคนนี้มาทำงานแล้วภาคใต้จะดีขึ้น ไม่มีการบาดเจ็บสูญเสีย มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะไม่ใช่เลขคณิต การแก้ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาที่ซับซ้อน สิ่งที่ต้องแก้ปัญหา คือ การขับเคลื่อนงานในทุกมิติอย่างรวดเร็ว ซึ่งคนที่สั่งได้เร็วที่สุด คือ คนที่สูงสุด คิดว่า งานต้องเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น เพราะท่านสามารถรับทราบข้อมูลและตัดสินใจได้ทันที ”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงยึดอยู่เสมอ คือ มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญไทย ที่เขียนไว้ว่า เราจะแบ่งแยกมิได้ ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใดต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติให้ได้ ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ดังนั้นเราจะไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะแบ่งแยก ประการที่ 2 เราต้องระมัดระวังจะถูกยกระดับขึ้นมาเพราะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่ภายนอกประเทศจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ประการที่ 3 มีคำว่า ศาสนา ค้ำอยู่ จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ยอมรับในรัฐธรรมนูญของเรา และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
กำลังโหลดความคิดเห็น