xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.อัดสินเชื่อเคาะ6หมื่นล้าน เยึ่ยวยาชาวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด ธ.ก.ส.เคาะแล้ว 6 หมื่นล้านบาท สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเยียวยาชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดราคาจำนำข้าวของรัฐบาล ฟุ้งช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ชาวนา 2 พันล้าน "ทนุศักดิ์" เผยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส. ) ว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เห็นชอบ5 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดราคาจำนำข้าวเปลือกเจ้าจากตันละ 15,000 บาทเหลือ 12,000 บาทต่อตัน โดยมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนรับจำนำข้าวรอบ 2 หรือนาปรังปี 2555 ทั้งสิ้น 5.9 แสนราย ได้เข้าโครงการไปแล้ว 3 แสนราย จึงยังเหลืออีก 2 แสนราย ที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับลดราคาดังกล่าว

มาตรการดังกล่าว จะมีผลบังคับ 1 ปี โดยคิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่ ธ.ก.ส.จะต้องเตรียมไว้ 59,669 ล้านบาท แต่จะช่วยลดภาระต้นทุนและดอกเบี้ยให้เกษตรกรโดยตรง รวมเป็นเงิน 2,063 ล้านบาท ซึ่งธ.ก.ส. จะขอให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง เป็นผู้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแทนเกษตรกร

นายทนุศักดิ์กล่าว คงไม่สามารถเปรียบภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกิดขึ้นระหว่างการคงราคารับจำนำไว้ที่ 15,000 บาทต่อตันไปจนสิ้นสุดสุดฤดูกาลผลิตปี 2555ได้ เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ส่วนที่รัฐจะสูญเสียจริงจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวเพียง 2,063 ล้านบาทเท่านั้น ส่วน 59, 669 ล้านบาท เป็นเพียงวงเงินที่เตรียมไว้ อาจจะไม่ได้ใช้ทั้งจำนวน

นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียม 5 มาตรการไว้คือ 1. ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้เดิมของเกษตรกรที่มีวงเงิน 36,939 ล้านบาท โดยลดดอกเบี้ยลง 3% จากดอกเบี้ยที่จ่าย ทำให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้ 1,109 ล้านบาท 2.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าวปีการผลิต 2556/57 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่คาดว่าจะใช้เพียง 1 หมื่นล้านบาทแต่เกรงว่า จะไม่เพียงพอ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรณลดลง 3% โดยต้องเป็นสัญญาเงินกู้ที่เบิกรับเงินตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2556- 31 มีนาคม 2557 คาดว่าจะลดภาระดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรได้ 450 ล้านบาท

3. งดคิดดอกเบี้ยจากการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรเป็นเวลา 1 ปี คือตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันครบกำหนดชำระเงิน จากเดิมที่บัตรจะได้รับสิทธิงดคิดดอกเบี้ย 5 เดือนอยู่แล้ว ก็จะได้รับเพิ่มขึ้นอีก 7 เดือน โดยมีวงเงินในบัตรสินเชื่อรวม 4,000 ล้านบาท และจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรได้ 280 ล้านบาท 4.ให้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าว โดย ธ.ก.ส.จะสมทบค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เกษตรกรต้องจ่ายทั้งหมด จากเดิมที่จะจ่ายให้เพียง 10 บาทต่อไร่และเกษตรกรรับไป 50 บาทต่อไร่ ที่เหลือรัฐบาลรับผิดชอบไป 69 บาทต่อไร่ จากค่าเบี้ยประกันภัยรวม 129 บาทต่อไร่ โดยคาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมโครงการ 6 ล้าน 1 แสน 6 หมื่นไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 92 ล้านบาท

5.สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษในอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(เอ็มแอลอาร์)ลบ 1% จากดอกเบี้ยปัจจุบัน 5% ก็จะเหลือ 4% ให้กับสถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกกู้โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 4,000 ล้านบาท โดยจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร 40 ล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น