xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค-เทือก"ให้ปากคำคดี"แดง" ยันทำถูกกม.-ดีเอสไอไม่มีอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (26มิ.ย.) ที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ นำสำนวนการสอบสวน ในคดีการเสียชีวิตของ นาย พัน คำกอง ,ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ และการบาดเจ็บสาหัสของ นายสมร ไหมทอง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในระหว่างการ ชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้คำสั่งของศูนย์อำนวยการปฏิบัติการสถานการฉุกเฉิน( ศอฉ.) พร้อมนัดหมาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผอ.ศอฉ. ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ในฐานะ เป็นผู้กำหนดนโยบายและตัดสินใจในการออก คำสั่ง ส่งมอบให้กับพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เพื่อให้มีความเห็นทางคดี เนื่องจากการกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เข้าลักษณะเป็นความผิดอาญา ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
นายสุเทพ กล่าวว่า ตนจะต่อสู้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งจะหารือกับนายอภิสิทธิ์ ที่จะยื่นขอความเป็นธรรมจากอัยการ เพราะเห็นว่า ดีเอสไอ ทำหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจ และมีการกระทำผิดทางอาญา ซึ่งตนและนายอภิสิทธิ์ ได้ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอไปแล้ว โดยยืนยันการออกคำสั่งของศอฉ.ในขณะนั้น เป็นการทำหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และเคารพ กฎหมาย ขณะเดียวกันเชื่อมั่นจะได้รับความเป็นธรรม และพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เคยเรียกร้องให้มีการยกเว้นความผิด และไม่คิดที่จะหลบหนี
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมั่นใจในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หลังพบกับพนักงานสอบสวน โดยจะทำหนังสือชี้แจงอ้างคำวินิจฉัยในการไต่สวน ของศาลที่ระบุว่าไม่มีเจตนาฆ่าคนตาย และสำนวนของดีเอสไอ ที่ขัดแย้งกันเองกับคดีอื่น ที่ดีเอสไอยื่นฟ้องไปแล้ว ในข้อหาก่อการร้าย อีกทั้งการที่ระบุว่า เป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องให้ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ อัยการขอเวลา 2 เดือน ในการพิจารณา สำนวนคดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเดินทางมาพบอัยการในครั้งนี้ ของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คน มีประชาชนผู้ให้การสนับสนุน มามอบดอกไม้ให้กำลังใจด้วย

ด้านนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวภายหลังรับสำนวนการสอบสวนคดีนี้ว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดี โดยมีตนเองเป็นหัวหน้าคณะทำงาน และเจ้าหน้าที่อีก 5 คน ร่วมพิจารณา พร้อมกับนัดฟังการสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 26 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ยอมรับว่า ในการพิจารณาคดีนี้ มีความหนักใจอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับกดดัน โดยยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด ยึดตามนโยบายของ อัยการสูงสุด ที่ให้ไว้ว่าในการพิจารณาสั่งคดีนั้น ให้ดำเนินการไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ มีความเที่ยงธรรม เป็นกลาง ไม่นำแรงกดดันทางการเมืองมาเป็นปัจจัยในการ
พิจารณาคดี และผลของการสั่งคดีจะออกมาในรูปแบบใด ก็ต้องสามารถอธิบายเหตุผล และตอบสังคมให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น