xs
xsm
sm
md
lg

เช็คเด้ง-หนี้พุ่ง-ของแพง ประชานิยมทำไทยแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- จับตาเช็คเด้งส่งสัญญาณ SMEs ระส่ำหลังเจอต้นทุนพุ่งจากค่าแรง ซ้ำต่อด้วยบาทแข็ง ทำสภาพคล่องฝืดหนัก เตือนรับมือครึ่งปีหลังแรงซื้อยังไม่ฟื้นจากผลพวงรถคันแรก รัฐหั่นราคาจำนำข้าวลง ขณะที่โครงการประชานิยมยุค "ปูแดง" ทำคนหนี้ท่วมเฉลี่ย 1.88 แสนบาทต่อครัวเรือน

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้ตรวจพบปริมาณเช็คเด้งสูงขึ้นต่อเนื่องประมาณ 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี55 ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs) คาดว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาท เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจSMEsขาดสภาพคล่อง เพราะไม่สามารถรับคำสั่งในการผลิตสินค้าได้ ขณะที่ความต้องการซื้อภายในประเทศชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นผลมาจากสินค้าที่ราคาแพงขึ้น รวมถึงประชาชนจำนวนมากต้องนำเงินไปใช้ในโครงการรถคันแรกของรัฐบาล

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า การลดราคาจำนำข้าวของรัฐบาลลงมาเหลือตันละ1.2 หมื่นบาทจากเดิมตันละ 1.5 หมื่นบาทนั้นหากมองในแง่เศรษฐกิจเท่ากับเงินในกระเป๋าชาวนาจะหายไปอีกเพราะแม้ว่าเดิมจะจำนำให้ตันละ 1.5 หมื่นบาทแต่ชาวนาก็ได้รับจริงเพียง 8,000 บาทซึ่งหากลดจำนำลงก็เชื่อว่าจะทำให้เงินถึงมือชาวนาลดไปอีกซึ่งแน่นอนว่าแรงซื้อกลุ่มนี้ก็จะหายไปเช่นกัน

“แรงซื้อที่ผ่านมาไม่ดีนัก โดยดูจากยอดค้าปลีก 5 เดือนแรกลดลง 2% คาดว่าถ้าแรงซื้อปีนี้โตได้ 4.5% ก็เก่งแล้ว ต่างกับปีที่ผ่านมา ขยายตัว 10% เพราะคนไทยเจอสินค้าราคาแพง ซื้อรถคันแรกผสม ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่สู้ดีนัก”นายธนิตกล่าว

***คนไทยหนี้ท่วม1.88แสน/ครัวเรือน

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือน จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-23 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 64.6% ระบุมีหนี้สิน โดยจำนวนหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนของปี 2556 ขึ้นมาอยู่ที่ 188,774.54 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 12% จากเฉลี่ยของปี55 อยู่ที่ 168,517.16 บาทต่อครัวเรือน สูงที่สุดในรอบ 5 ปี หรือ (51-56) ในจำนวนนี้ 188,774.54 บาท เป็นหนี้ในระบบ สัดส่วน 50.4% หนี้นอกระบบ 49.6% โดยมีการผ่อนชำระเดือนละ 11,671.93 บาท

เมื่อถามถึงการเป็นหนี้สินและการเปลี่ยนแปลงของหนี้ พบว่า ในปี55-56 มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10% จากตัวเลขสถิติในปีที่ผ่านมาๆ ไม่พบว่ามีการก่อหนี้เพิ่มเมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อจำแนกกลุ่มผู้ก่อหนี้ตามรายได้ จะพบว่ากลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน จะมีสัดส่วนการก่อหนี้นอกระบบถึง 50% ขณะที่กลุ่มรายได้ 5,000-15,000 บาท จะมีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบใกล้เคียงกันที่ 42-44% ส่วนกลุ่มที่รายได้เกิน 15,000 บาท พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในระบบ 43-46%

สาเหตุที่ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น อันดับแรก มาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น 23.3% รองลงมาค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน 22% การซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้าน รถ 13.5% ซึ่งเมื่อเปรียบค่าครองชีพกับรายได้ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 72.1% ระบุว่าค่าครองชีพสูงเกินไป โดยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน อันดับแรกให้ลดค่าครองชีพลงมา ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยบัตรเครดิต และดูแลราคาก๊าซและน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า มีสัญญาณชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยปรับลดลดลง ซึ่งจากผลสำรวจพบว่ามีประชาชนถึง 80-90% ระบุว่าซื้อสินค้าน้อยลงหรือซื้อเท่าเดิม แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกัน การก่อหนี้ใหม่ปีนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 10% และเป็นหนี้นอกระบบมากขึ้น ทำให้น่าเป็นห่วง และหากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยจะมีการแถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในวันที่ 8 ก.ค.2556.

***คนกรุงชี้ประชานิยมทำของแพง-โกงมาก

วานนี้ (25) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ เสียงสะท้อนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลกับผล 2 ปี นโยบายประชานิยม” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,163 คน โดยถามความคิดเห็นต่อนโยบายประชานิยมเด่นๆ ที่หาเสียงไว้ของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ทั้งเรื่อง จบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท , ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท , คืนภาษี-เพิ่มค่าลดหย่อนให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรก , เครดิตการ์ดพลังงาน เพื่อเติมน้ำมันหรือก๊าซ NGV, โครงการจำนำข้าว ,แจกแท็บเล็ต พีซี ให้เด็กนักเรียน , คืนภาษีให้ผู้ซื้อรถคันแรก นั้น พบว่า โดยเฉลี่ยรวมร้อยละ 56.8 เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และร้อยละ 43.2 ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ร้อยละ 58.2 ไม่ได้ประโยชน์ต่อตัวผู้ตอบ ร้อยละ 34.9 ได้ประโยชน์ต่อตัวผู้ตอบ และร้อยละ 6.9 เสียประโยชน์ต่อตัวผู้ตอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น