xs
xsm
sm
md
lg

เอกยุทธ อัญชันบุตร ความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ที่ดำรงอยู่!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

กรณีคุณเอกยุทธ อัญชันบุตรและ 3 จังหวัดชายแดนใต้พิสูจน์ว่าการเมืองไทยไม่ได้ไปถึงไหนเลย กลางปี 2556 ก็เป็นเพียงบทท้ายๆ ที่ต่อเนื่องมาจากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2546 - 2547 ทั้งเค้าโครงของเหตุการณ์และตัวบุคคล

สงสัยแต่ว่าที่ว่าบทท้ายๆ นี้มันจะถึงบทสุดท้ายเมื่อใด?

คุณเอกยุทธ อัญชันบุตรหลังจากกลับจากการพำนักที่อังกฤษยาวนานหลังคดีฉ้อโกงประชาชนที่ตัวเองโดนหมดอายุความก็ตั้งตนต่อสู้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุลจะลุกขึ้นสู้ประมาณ 1 ปี ก่อนกำเนิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 1 ปีครึ่ง

คุณเอกยุทธ อัญชันบุตรเปิดตัวอย่างครึกโครมด้วยการร่วมกับคณะน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริเข้าไปพบคุณบัญญัติ บรรทัดฐานรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอเงินสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นจำนวนมาก หากพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าต่อสู้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอย่างเป็นระบบตามแนวทางที่ชัดเจน

ขณะนั้นพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ยังอยู่ในราชการ และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะถูกย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังจากครองตำแหน่งสำคัญมาตั้งแต่ยุคนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

มีนักธุรกิจบางคนไม่พอใจรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรขณะนั้นมากจนกระทั่งเข้าร่วมการเคลื่อนไหวด้วย

หนึ่งในจำนวนนั้นคือนักธุรกิจใหญ่แห่งกิจการปิโตรเคมีที่ประสบวิกฤตจากปี 2540 และเคยหวังว่ารัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะช่วยฟื้นฟูกิจการได้ แต่การณ์กลับตรงข้าม กิจการปิโตรเคมีของเขากลับเข้าไปอยู่ในแผนการใหญ่ที่ต้องการเคลื่อนตัวเข้ามาครอบงำอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กิจการปิโตรเคมีนั้นเลยถูกนโยบายรัฐดึงเข้าไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของปตท.ที่เพิ่งแปรรูป

ขบวนจุดชนวนต่อต้านรัฐบาลโดยมวลชนจึงเกิดขึ้นช่วงเดือนกันยายน 2547

รูปธรรมที่เราเห็นคือมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือต่อเนื่องกันราว 3 เดือน แต่ที่เราไม่เห็นว่ากันว่าก่อนหน้านั้นมีความพยายามนำขบวนทัพสหภาพแรงงานมาที่ทำเนียบรัฐบาล ต้องพูดกันตามตรงว่ายุทธศาสตร์ก็คือใช้มวลชนนำ แล้วหวังว่าการเปลี่ยนแปลงในกองทัพจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นตัวช่วยในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

จะมีการพูดคุยกันรับปากกันอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ไม่มีใครยอมรับเปิดเผยหรอก

ที่เล่ามานี้ก็เพียงเพื่อจะบอกว่าคุณเอกยุทธ อัญชันบุตรมีส่วนร่วมอยู่ด้วยตั้งแต่ช่วงนั้น แกจะรักชาติรักบ้านเมืองอย่างสุจริตจริงใจเต็ม 100 หรือต้องการจะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองแทนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยทางลัด คงไม่อยู่ในวิสัยที่ผมจะพูดแทน แต่คาดการณ์ว่าแกถือว่าโดยรุ่นโดยประสบการณ์และโดยฐานะในขณะนั้นไม่ได้เป็นรองพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรสักเท่าไรนัก และน่าจะถือว่าแกรู้ทันวิธีคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมากกว่าใคร เพราะก็ถือเป็นพ่อมดการเงิน เป็นนักปั่นเศรษฐกิจ แถมเป็นรุ่นพี่เสียอีก หากให้แกได้มีเครื่องไม้เครื่องมือ โอกาสบรรลุผลคงพอเป็นไปได้

คนที่ร่วมกับคุณเอกยุทธ อัญชันบุตรไม่ได้คิดอย่างแกทั้งหมด เพียงแต่ได้คนรู้ทันมาอีกคนย่อมจะดีกว่า

แต่การจุดชนวนเมื่อปี 2547 จุดไม่ติด!

ช่วงเวลา 9 ปีต่อมา คุณเอกยุทธ อัญชันบุตรยังคงต่อสู้อย่างต่อเนื่อง ในทางเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ที่ใช้ข้อมูลด้านลึก แตกต่างจากคนอื่นตรงที่บางครั้งใช้ภาษารุนแรง หยาบ และเปิดโปงทุกเรื่องไม่ใช่แค่การบริหารอย่างเดียว แต่เน้นในเรื่องส่วนตัวด้วย เช่นเรื่องชู้สาว ซึ่งน่าจะสามารถสร้างความโกรธแค้นขึ้นได้ ย้อนไปดูเว็บไซต์ของแกเถิดว่าไม่ธรรมดาเลย

ไม่เพียงแต่โจมตีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น คุณเอกยุทธ อัญชันบุตรยังโจมตีคุณสนธิ ลิ้มทองกุลในหลายเรื่องหลายประเด็นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เป็นการโจมตีที่ออกนอกแนวทางการเมืองสถานเดียวเช่นกัน

ลักษณะเช่นนี้เองเมื่อเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น คนส่วนใหญ่จึงสงสัยว่า สาเหตุจะต้องมาจากประเด็นทางการเมือง ไม่น่าจะเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ธรรมดาๆ โดยเฉพาะเมื่ออ่านสํานวนคดีผ่านสื่อแล้ว ได้เห็นข้ออ่อนและจุดบกพร่องมากพอสมควร ทําให้เกิดความสงสัยว่ามีคนอื่นร่วมกับผู้ต้องหาหรือไม่ และมีคนบงการอยู่เบื้องหลังหรือไม่

คนขับรถตัวการสำคัญก็ให้บังเอิญเคยร่วมส่วนอยู่ในก๊วนมาเฟียใหญ่ของประเทศ

นายตำรวจผู้จับกุมก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เคยเป็นผู้ตั้งข้อหาว่าร่วมทีมอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตรเมื่อปี 2547 แต่นอกจากไม่เคยถูกออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดียังได้รางวัลคนดีศรีกองปราบ เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณโดยปริยายว่าเป็นผู้เสียสละทำงานสำคัญเพื่อชาติ ที่สุดศาลก็ยกฟ้อง วันนี้มามีตำแหน่งสำคัญพอสมควรเพราะเป็นสายเดียวกับนายที่ได้ดีเพราะพี่ให้

นายที่ได้ดีเพราะพี่ให้ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ไหน สมัยภาคใต้คุโชนหลังยุบ ศอ.บต.และพตท. 43 เอาทหารออกจากพื้นที่ให้ตำรวจเข้าไปรับผิดชอบแทนตามนโยบายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น ก็เป็นหนึ่งในนายตำรวจที่ลงไปประจำการที่นั้น เป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิมหายตัวมากช่วงหนึ่ง มีการจับกุมมากที่สุดช่วงหนึ่ง มีการสอบสวนที่ถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีทรมาน จนเกิดเป็นคดีมากมายและทนายสมชาย นีละไพจิตรก็เข้าไปแก้ต่างให้จนก่อให้เกิดการปะทะกันทางคารมและทางคดีกับตำรวจหลายกรรมหลายวาระ

แถมนายตำรวจที่ได้ดีเพราะพี่ให้ก็บังเอิญมามีปัญหากับคุณเอกยุทธ อัญชันบุตรเสียอีก

เหนือนายตำรวจที่ได้ดีเพราะพี่ให้ขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ก็ยังมีนายตำรวจใหญ่ที่เคยลงไปร่วมปฏิบัติการที่ภาคใต้ด้วยอีกคนหนึ่ง

มันไม่บังเอิญไปหน่อยหรือ?

และความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายก๊วนมาเฟียกับตำรวจนั้นมันก็เป็นอะไรที่สังคมไทยพอจะรู้กันอยู่ แม้จะไม่สัมพันธ์กันโดยตรง แต่ก็มีขอบเขตและเส้นแบ่งกันอยู่ เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่มีเขียนไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับใด แต่เป็นกฎยุทธจักรธุรกิจสีเทาที่เราทุกคนรู้ว่ามีอยู่ มันเป็นความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย

ไม่มีใครอยากจะใช้การตายของคุณเอกยุทธ อัญชันบุตรมาเป็นชนวนใส่ร้ายรัฐบาลเพื่อโค่นล้มรัฐบาลหรอก เพราะรู้ดีว่าผู้ตายไม่มีเครดิตเพียงพอ และเหมือนผู้ตายก้าวเข้าไปเล่นในเกมที่มีกฎกติกาอีกแบบ แต่จะไม่ให้ตั้งข้อสงสัยหรือไม่เรียกร้องให้รัฐบาลทำคดีให้มีความชัดเจนเห็นจะไม่ได้ แม้จะรู้ว่าตั้งข้อสงสัยหรือเรียกร้องโน่นนี่นั่นไปเท่าไรก็ไร้ผลก็ตามทีเถิด

ที่อยากจะพูด ณ ที่นี้คือไม่อยากให้การตั้งข้อสงสัยและการเรียกร้องเกิดขึ้นจากฝั่งตรงข้ามรัฐบาลเท่านั้น

อยากให้มวลชนฝั่งสนับสนุนรัฐบาลโดยบริสุทธิ์ร่วมเรียกร้องด้วย

อย่าเอาการเมืองเป็นตัวตั้งให้มากนัก


เพราะถ้าปล่อยให้การสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ โค่นอำมาตย์ ต่อต้านอนุรักษนิยม ดำเนินไปโดยมีฉากที่ตรงข้ามกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้งอย่างนี้เกิดขึ้น ไม่ตั้งคำถาม แถมยังช่วยแก้ต่างให้ ก็อยากจะบอกว่าระวังไว้เถิด

สักวันหนึ่งข้างหน้าเป้าหมายอาจไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชัดแจ้งสถานเดียว!
กำลังโหลดความคิดเห็น