xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯแซงก์ชันเงินเรียล-ยานยนต์ บีบอิหร่านให้ยุติโครงการนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – อเมริกาเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ เล็งเป้าหมายโดยตรงที่สกุลเงินเรียลเป็นครั้งแรก และยังต่อยอดไปยังยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างทั้งงานและรายได้ นอกจากนั้นยังขู่จะแซงก์ชันทางเศรษฐกิจที่ “เจ็บปวด” และ “ทรงพลัง” มากกว่านี้ เพื่อให้เตหะรานซึ้งว่า ต้นทุนของการแข็งขืนเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์นั้นมีราคาแพงมาก
“มาตรการที่ออกมาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ด้วยการเพิ่มต้นทุนของความดื้อดึงต่อประชาคมนานาชาติที่เตหะรานต้องจ่าย” เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันจันทร์ (3)
ในคำสั่งประธานาธิบดีที่โอบามาลงนามคราวนี้ มีทั้งมาตรการคว่ำบาตรธนาคารและสถาบันการเงินต่างชาติที่ทำธุรกรรมในรูปเงินเรียลอิหร่าน หรือทำธุรกรรมผ่านบัญชีเงินฝากสกุลเงินเรียลอิหร่านนอกประเทศนั้น นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่อเมริกาแซงก์ชันการดำเนินการทางการเงินกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่านทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและธนาคารกลางเหมือนที่ผ่านมา
ยิ่งกว่านั้น มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านฉบับที่ 9 ที่โอบามาลงนามครั้งนี้ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จะลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องในการขายสินค้าและบริการให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ของอิหร่าน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่คาดว่า จะส่งผลรุนแรงต่อบริษัทรถชั้นนำในยุโรปและเอเชีย
เจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่งกล่าวว่า ยุทธศาสตร์นี้สะท้อนการเพิ่มขอบข่ายในการคว่ำบาตร เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่วอชิงตันพุ่งเป้าโจมตีเงินเรียลที่อ่อนค่าลงถึง 2 ใน 3 อยู่แล้ว นับจากปลายปี 2011 ที่ตะวันตกร่วมกันคว่ำบาตร โดยมีเป้าหมายทำให้เงินสกุลนี้ไม่สามารถใช้ได้นอกอิหร่าน
ขณะที่ มาร์ก ดูโบวิตซ์ ประธานฟาวน์เดชัน ฟอร์ ดีเฟนซ์ ออฟ ดิโมเครซีส์ ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า คณะรัฐบาลโอบามากำลังใช้ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มความกดดันด้านเศรษฐกิจต่ออิหร่านในเวลาที่การเผชิญหน้าเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์กำลังเข้าสู่จุดวิกฤต โดยดูโบวิตซ์ให้ความสนใจกับการขึ้นบัญชีดำอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานอันดับ 2 ของอิหร่าน รองจากอุตสาหกรรมพลังงาน
เขายังสำทับว่า การพุ่งเป้าที่อุตสาหกรรมยานยนต์บ่งชี้ด้วยว่า วอชิงตันรู้สึกกังวลที่เตหะรานอาจใช้อุตสาหกรรมนี้เป็นช่องทางจัดซื้อจัดหาพวกเทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทาง นั่นคือทั้งทางพลเรือนและทางหทาร จากนั้นก็นำไปใช้ในโครงการการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของตน
ดูโบวิตซ์มองว่า มีแนวโน้มที่วอชิงตันจะเพิ่มมาตรการแซงก์ชันอุตสาหกรรมก่อสร้าง วิศวกรรม และเครื่องจักรกลหนักของอิหร่านในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้
น่าสังเกตว่าการประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ มีขึ้นไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 14 เดือนนี้ อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการนี้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน แต่ไม่มีแนวโน้มว่า มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายนิวเคลียร์ของเตหะราน ซึ่งควบคุมโดยผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี แต่อย่างใด
นอกจากนั้น ตัวเก็งประธานาธิบดีทั้งหมด ซึ่งรวมถึงหัวหน้าคณะผู้เจรจาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซาอิด จาลิลี ต่างยืนยันเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อหากได้ชัยชนะ
อเมริกานั้นเตือนว่า ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ในการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และเวลาสำหรับการดำเนินการทางการทูตใกล้หมดลงแล้ว
การเจรจาระหว่างอิหร่านกับสมาชิกถาวร 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บวกเยอรมนี เวลานี้ถูกระงับไว้ก่อนเนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่
เตหะรานนั้นปฏิเสธมาตลอดว่า โครงการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมของตนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ แต่เป็นไปเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าและใช้ในอุปกรณ์การแพทย์
ทว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เตือนว่า เตหะรานต้องแก้ไขข้อกังวลของนานาชาติ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องเผชิญมาตรการลงโทษรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความกดดันด้านเศรษฐกิจและทำให้อิหร่านยิ่งโดดเดี่ยว
กระนั้น คาริม ซัดจาดปูร์ นักวิเคราะห์อิหร่านที่ทำงานให้กับ คาร์เนกี้ เอนดาวเมนท์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล พีซ ฟันธงว่า แม้มาตรการลงโทษใหม่อาจทำให้ชาวอิหร่านใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น แต่คงไม่ถึงขั้นลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น