xs
xsm
sm
md
lg

โต้กันหนักเรื่อง “ควบคุมสื่อ” ในการดีเบตเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการดีเบตของ 8 ผู้แข่งขังชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน การโต้วาทีคราวนี้จัดขึ้นทางสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐในกรุงเตหะรานเมื่อวันพุธ(5มิ.ย.) โดยมีการถ่ายทอดสดทางทีวีด้วย สำหรับการเลือกตั้งกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์หน้า (14มิ.ย.)
เอเอฟพี - ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน 2 คน วิพากษ์วิจารณ์เมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ถึงการที่ประเทศดำเนินการควบคุมการเสนอข่าวอย่างเข้มงวด ในเวลาเดียวกันก็วอนขอให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพเพิ่มมากขึ้นในแดนเปอร์เซีย ซึ่งถ้าหากสื่อรายงานข่าวในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลก็อาจถูกลงโทษกันได้ง่ายๆ

“พวกเขา (รัฐบาลชุดปัจจุบัน) ห้ามออกหนังสือพิมพ์, ห้ามตีพิมพ์หนังสือ และแบนภาพยนตร์ นี่คือสิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไข” โมฮัมหมัด เรซา อาเรฟ ผู้สมัครที่มีแนวคิดปฏิรูปเพียงคนเดียวจากจำนวนทั้งสิ้น 8 คน ซึ่งกำลังแข่งขันกันเพื่อให้ได้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มาดิเนจัด ในการเลือกตั้งวันที่ 14 มิถุนายนนี้ กล่าวเช่นนี้ในการโต้วาทีที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์

“หากเราต้องการต่อสู้แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน หนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ก็จะต้องมีเสรีภาพ ประชาชวนควรมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร” ฮัสซัน โรวฮานี ผู้สมัครที่เป็นครูสอนศาสนาที่มีแนวคิดสายกลาง กล่าวเสริมในเวทีเดียวกัน

องค์กรตรวจตราสื่อมวลชนของอิหร่าน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดแข็งกร้าว ได้ออกโรงห้ามเผยแพร่สิ่งพิมพ์จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นวารสารของพวกนักเคลื่อนไหวปฏิรูป ด้วยเหตุผลว่าฝ่าฝืนกฎเหล็กข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งออกมาบังคับใช้นับตั้งแต่อะห์มาดิเนจัดได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองในปี 2009

ในประเทศอิหร่าน สื่อถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบคอยติดตามตักเตือนบรรดาสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร “แง่ลบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวด้านด้านเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมของอิหร่านออกมาเตือนสื่อมวลชนว่า อย่าได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานซึ่งพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านอย่างเข้มงวด และเมื่อเดือนกันยายน อัยการสูงสุดได้ออกคำเตือนห้ามไม่ให้เสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิหร่านที่ “ชวนหดหู่”

ในเดือนมีนาคมปี 2013 รายงานที่ว่ามีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์หลายคนในอิหร่าน กลายเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัย โดยที่องค์กรของสหประชาชาติซึ่งคอยเฝ้าติดตามภาวะสิทธิมนุษยชนในอิหร่านได้ออกมาแถลงว่า การจับกุมคุมขังเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนการกำราบปราบปรามซึ่งกำลังเพิ่มทวีขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ทั้งนี้การเลือกตั้งในวันที่ 14 มิถุนายน เป็นการหย่อนบัตรโหวตหาตัวประธานาธิบดีครั้งแรกนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2009 ซึ่งผลออกมาว่าอะห์มาดิเนจัดเป็นผู้ชนะอีกครั้งหนึ่ง และกลายเป็นประกายไฟที่ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านระบอบปกครองอิหร่านอย่างยิ่งใหญ่ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทว่าก็ถูกทางระบอบปกครองปราบปรามบดขยี้อย่างเหี้ยมโหด

ภายหลังการประท้วงครั้งนั้น มีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์เพิ่มมากขึ้นอีก จากข้อมูลของ “คณะกรรมการคุ้มครองนักหนังสือพิมพ์” (Committee to Protect Journalists) ระบุว่า ณ ตอนเริ่มต้นเดือนธันวาคม 2012 มีนักหนังสือพิมพ์ 45 คนถูกจำคุกในอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดีเบตเมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ซายีด จาลิลี ผู้สมัครที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ได้กล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไร้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในอิหร่าน

“เพียงแค่หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับที่เป็นของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองขบวนการหนึ่ง ถูกสั่งปิดไปแค่นั้น แล้วจะมาสรุปว่าเราไร้เสรีภาพไม่ได้หรอก” จาลิลีกล่าว โดยพาดพิงถึงการสั่งปิดหนังสือพิมพ์แนวปฏิรูปเมื่อไม่กี่ปีมานี้

จาลิลี ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มีตำแหน่งเป็นผู้แทนของอิหร่าน ในการเจรจาต่อรองกับพวกชาติมหาอำนาจในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของแดนเปอร์เซีย ซึ่งถูกนานาชาติโดยเฉพาะฝ่ายตะวันตกโต้แย้งตั้งคำถามมากมาย

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอิหร่านยังคอยเฝ้าติดตามและควบคุมการปฏิบัติงานของนักหนังสือพิมพ์ไม่กี่คนซึ่งสังกัดอยู่กับสำนักข่าวต่างชาติที่ตั้งออฟฟิศอยู่ในอิหร่าน โดยที่สำนักข่าวต่างชาติเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงวัฒนธรรมก่อนจะดำเนินงานในแดนเปอร์เซียได้

อาเรฟ ซึ่งโดยอาชีพเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ยังได้ใช้โอกาสการดีเบตคราวนี้ วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “บรรยากาศแห่งความมั่นคงปลอดภภัย” ในมหาวิทยาลัย โดยเขาไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม แต่คำพูดของเขาถูกโต้กลับโดยจาลิลี

ยิ่งกว่านั้น อาเรฟ ได้ตำหนิข้อห้ามในมหาวิทยาลัย ซึ่งมิให้นักศึกษาทำกิจกรรมนอกหลักศุตร หรือนักศึกษาจะถูกไล่ออกถ้าวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านระบอบปกครอง

นอกจากนี้เขาได้ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของการรณรงค์ต่อต้านจานดาวเทียม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ถูกห้ามติดตั้งใช้งานในอิหร่าน โดยเขากล่าวว่าการกระทำเช่นนี้เป็นกำลังกลายเป็นการจำกัดชาวอิหร่านในการติดต่อกับโลกภายนอก

ทางด้านโรวฮานี ก็วิพากษ์วิจารณ์มาตรการนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่ามันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ถึงแม้อาเรฟประกาศจะจัดให้กับเรื่องไซเบอร์สเปซ เป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูง ถ้าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เพื่อจะได้ป้องกันอิหร่านจากการโจมตีของต่างชาติ แต่เขาก็วิจารณ์การที่รัฐบาลดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงในอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันเขาก็กล่าวต่อต้านการเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดศีลธรรมบนโลกออนไลน์

“การลดแบนวิดธ์ (ของอินเทอร์เน็ต) และการคัดกรองให้ชาวอิหร่านดูเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตได้เพียงบางส่วน ไม่ใช่วิธีการที่สามารถรับประกันผลสำเร็จ” เขากล่าวโดยพาดพิงถึงระบบคัดกรองอินเทอร์เน็ตของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจพิจารณาเว็บไซต์เป็นล้านๆ เว็บไซต์อย่างเป็นระบบ รวมไปถึงพวกโซเชียลเน็ตเวิร์ก

อิหร่านนั้นได้ใช้มาตรการควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดมากขึ้นอีกตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยที่สื่อและผู้ใช้ต่างคร่ำครวญถึงความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ช้าลง การหลุดจากระบบเครือข่ายเป็นพักๆ และข้อห้ามข้อจำกัดที่มีมากมายเหลือเกิน

ปรากฏว่า คำพูดของเขาในเรื่องการคัดกรองอินเทอร์เน็ตนี้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอีกโดย อาลี อักบาร์ เวลายาตี ผู้สมัครแนวคิดอนุรักษนิยม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างยาวนานถึง 16 ปีจนกระทั่งถึงปลายทศวรรษ 1990

“จริงอยู่ที่เรากำลังเผชิญกับการรุกรานทางวัฒนธรรม แต่การคัดกรองอินเทอร์เน็ตไม่ใช่หนทางแก้” เขาแถลง “เราควรจะต่อสู้ด้วยการเปิดฉากโจมตีก่อน โดยการทำให้ค่านิยมและศีลธรรมของศาสนาอิสลามและของชาติอิหร่านภายในสังคมแห่งนี้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ดี จาลิลีกล่าวปกป้องแก้ต่างให้แก่การปราบปรามไม่ให้มีการใช้จานดาวเทียม โดยเขาอ้างว่ามี “ทีวีช่องดาวเทียมนับร้อยช่องที่สร้างโดยศัตรู” เพื่อใช้ปะทะกับค่านิยมอิสลามของอิหร่าน ทั้งนี้ ศัตรูที่เขากล่าวถึงนั้น เป็นการพาดพิงพวกชาติตะวันตกนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น