xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มคุณภาพก่อนลดจำนวน : สิ่งที่พึงทำเพื่อพัฒนาโรงเรียน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา และส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ได้มีมาตรการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คน และคุณภาพการเรียนการสอนไม่ดี เพื่อไปรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนที่ดีกว่า ทั้งนี้นัยว่าเพื่อให้คุณภาพทางการศึกษาดีขึ้น โดยกำหนดเงื่อนไขในการยุบ 3 ประการดังนี้

1. เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน

2. ไม่เป็นภาระของเด็ก

3. ไม่ขัดแย้งกับชุมชน

แต่ทันทีที่นโยบายดังกล่าวข้างต้นแพร่ออกไป ได้มีเสียงคัดค้านจากพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กในชุมชนซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กตั้งอยู่ และอยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกยุบ โดยให้เหตุผลว่าจะเดือดร้อนจากการเดินทางที่ไกลกว่าเดิม และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางด้วย

ดังนั้น นโยบายที่ว่านี้จึงมองเห็นความไม่สะดวกในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ทางรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ทั้งนี้ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. นำเหตุผลในการอ้างเพื่อจัดตั้งโรงเรียนแต่ละแห่งว่าคืออะไร เป็นต้นว่า จำนวนเด็กที่อยู่ในวัยเรียนมากพอที่จะจัดตั้งโรงเรียน และมีแนวโน้มในอนาคตว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ต่อปี และมาถึงวันนี้เหตุผลที่ว่านั้นมิได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

2. ครูที่มีคุณภาพหายาก และทำให้คุณภาพการเรียนการสอนลดลง เด็กในชุมชนที่พ่อแม่พอจะมีฐานะทางการเงินส่งเสียให้เข้าเรียนในตัวอำเภอหรือจังหวัด หรือแม้จะเข้าสู่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งมีโรงเรียนที่ดี ทำให้เด็กในชุมชนลดลง

3. ครอบครัวของเด็กต้องย้ายถิ่นเพื่อการทำมาหากิน เช่น เพื่อหางานทำในเมืองใหญ่ และเป็นเหตุให้เด็กต้องย้ายตาม จึงทำให้จำนวนเด็กที่อยู่ในวัยเรียนลดลง

ถ้าเหตุผล 3 ประการนี้ประการใดประการหนึ่งทำให้เด็กลดลง สิ่งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำมิใช่การยุบโรงเรียน แต่ต้องนำเหตุปัจจัยที่ว่านี้มาศึกษาทบทวนว่าในอนาคตจะมีการแก้ไขปรับปรุงได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ 2 และถ้าพบว่าสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ก็ควรที่จะแก้ไขก่อน แต่ถ้าแก้ไขแล้วทุกอย่างเหมือนเดิมจะยุบก็มีเหตุผลมากพอจะชี้แจงมวลชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุบโรงเรียน และเชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจ

แต่ถ้ากำหนดแนวทางแก้ไขโดยที่ไม่มีการศึกษาทบทวน เชื่อได้เลยว่าจะพบกับกระแสคัดค้าน และมีคนจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับการคัดค้านนี้ดังที่ดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้สำรวจมาดังนี้

จากจำนวนผู้ปกครอง 129 คนทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 38.24 กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ อันได้แก่ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า และอุปกรณ์การเรียน และจากการที่กระทรวงศึกษาธิการจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กในระดับประถมศึกษา ซึ่งมีอยู่จำนวน 17,000 แห่ง ผู้ปกครองเด็กร้อยละ 60 ไม่เห็นด้วยกับการยุบ

โดยสรุป นโยบายเกี่ยวกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการในเวลานี้กระทำได้โดยที่ผู้ปกครองและเด็กยินยอมด้วยความสมัครใจเป็นไปได้ยาก และถ้ากระทรวงศึกษาธิการดื้อแพ่งกระทำไปโดยไม่สนใจความรู้สึกนึกคิดของเด็กและผู้ปกครอง ก็จะเกิดผลเสียทางการเมืองแก่พรรคเพื่อไทยโดยตรงไม่มากก็น้อย

แต่ถ้าประกาศนโยบายแล้วไม่ทำ หรือทำแล้วล้มเหลวเหมือนโครงการจำนำข้าว พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยจะต้องคิดหนัก และเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากฝ่ายค้านและนักวิชาการที่มองการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนโดยมิมุ่งหวังผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และคิดต้นทุนในแง่ของความคุ้มทุนทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียว โดยไม่มองผลตอบแทนทางด้านสังคมควบคู่ไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเสี่ยงที่จะดื้อรั้นเดินหน้านโยบายในทำนองไม่สนใจใคร อ้างเพียงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนโดยอ้างจำนวน 15 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้เพียงอย่างเดียว ผลสุดท้ายคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ และภาคอีสานซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายนี้

ส่วนประเด็นที่ว่าถ้าไม่ยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยจะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น ถ้าไม่มีเลศนัยและไม่ยึดผลตอบแทนในการใช้งบประมาณเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่มองลึกลงไปถึงการได้มาซึ่งผลตอบแทนในเชิงคุณภาพ เช่น ทำให้เด็กทั่วประเทศเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียมกันและเสมอภาค ไม่เลือกท้องที่และบุคคลว่าเป็นฐานเสียงทางการเมืองของพรรคหรือไม่ และมุ่งเน้นการปรับปรุงในด้านคุณภาพทางการศึกษาซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยมาตรการต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมคุณภาพของครู โดยมุ่งเน้นผลิตครูที่มีคุณภาพและคุณธรรม จากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐ และเพิ่มมาตรการเสริมเพื่อจูงใจให้ครูออกไปทำการสอนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการให้ทุนศึกษาต่อ และมีสวัสดิการพิเศษมากกว่าครูในท้องที่ที่เจริญแล้ว

2. จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้เพียงพอ และสอดคล้องกับจำนวนเด็กนักเรียน ทั้งจะต้องมีคุณภาพดีในระดับเดียวกับที่ใช้อยู่ในโรงเรียนที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

3. การวัดผลทั้งในส่วนของครู และเด็กจะต้องมีประจำทุกปี และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

4. การจัดหลักสูตรจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าวิชาใดที่จะต้องสอนมาตรฐานเดียวกันทุกโรงเรียน และวิชาใดควรจะมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป จะได้ใช้วิชาส่วนนี้ประกอบอาชีพอยู่ในท้องถิ่นของตนเองได้โดยที่ไม่ต้องย้ายไปไหน

การจัดหลักสูตรในลักษณะนี้สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขทางการศึกษาได้ดังนี้

1. วิชาหลักที่เด็กทุกคนมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงขึ้นไป เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น ควรจะให้โรงเรียนทุกโรงเรียนสอนในมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

2. วิชาที่เป็นทางเลือก และเกื้อหนุนต่อการประกอบอาชีพส่วนตัวในกรณีที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป จะต้องจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับอาชีพของผู้คนในชุมชน เช่น การทำไร่ ทำนา ทำสวน และการประมง เป็นต้น ไม่ควรให้เด็กถูกบังคับเรียนในวิชาที่ไม่สอดคล้องกับอาชีพของผู้คนในชุมชน แต่ให้แต่ละคนเลือกตามความถนัด และพอใจ

สุดท้ายขอสรุปว่า ถ้ากระทรวงศึกษาธิการจะยุบโรงเรียนเพื่อปรับปรุงคุณภาพทางการศึกษา ก็ควรจะได้ทดลองปรับปรุงก่อนที่จะคิดยุบ เพราะยุบแล้วก็ใช่ว่าจะการันตีได้ว่าคุณภาพทางการศึกษาจะดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น