xs
xsm
sm
md
lg

“เหลี่ยม” จับมือกับ “อเมริกา” ยึดชาติไทย! (ตอนห้า)

เผยแพร่:   โดย: ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย

อเมริกาหรือ “พญาอินทรี” ไม่เคยปล่อยให้ใครหน้าไหน..มาเหยียบจมูกเด็ดขาด

เขตขุดเจาะน้ำมันทางทะเลของคิวบา ห่างรัฐฟลอริดาประเทศอเมริกาแค่ 100 กิโลเมตรเท่านั้น คิวบาจึงเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ที่ยืนจังก้าอยู่ “หน้าบ้าน” ประเทศอเมริกา!

อเมริกาไม่คิดจะปล่อยคิวบาให้ลอยนวล เพราะมีการจะยกพลบุกยึดคิวบาอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยคิวบามีมหาอำนาจ “คอมมิวนิสต์โซเวียต” ที่แสนยานุภาพยิ่งใหญ่ไม่แพ้อเมริกา ได้ขนขีปนาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งที่คิวบา ขืนเซ่อซ่าบุกยึดคิวบาซี้ซั้ว อเมริกาอาจวินาศสันตะโรก็ได้ “ลุงแซม” จึงจำต้องปล่อยรัฐบาลคอมมิวนิสต์คิวบา ดำรงอยู่มาได้จนทุกวันนี้ไงล่ะครับ

ก่อนจะเข้าเรื่องอเมริกาปล้นทรัพยากรในเอเชียและไทย ผมจำต้องลากท่านผู้อ่านไปคิวบา เพื่อให้รู้ว่า..มีประเทศอีกมากมายในโลกนี้ที่ต่อสู้กับอเมริกา โดยเฉพาะคิวบาที่เป็น “หอกข้างแคร่” ของอเมริกา ที่ให้การช่วยเหลือนักการเมืองแนวสังคมนิยม ในประเทศละตินอเมริกาทั้งโบลิเวีย เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ อาเจนตินา ฯลฯ ที่รัฐบาลอเมริกาเข้าไปปล้นทรัพยากรอันล้ำค่า

หนึ่งในหัวข้อสำคัญในการหาเสียงของนักการเมืองแนวสังคมนิยมในประเทศเหล่านั้น คือ นายทุนอเมริกาจะต้องแบ่งผลประโยชน์ให้ประเทศเจ้าของทรัพยากรที่ได้รับแค่ 30-50% เพิ่มขึ้นเป็น 80-90% จนชนะการเลือกตั้งกันเป็นแถว

ยิ่งนักการเมืองแนวสังคมนิยมที่ชนะเลือกตั้ง บ้างทำการยึดธุรกิจก๊าซและน้ำมัน กลับคืนมาเป็นของรัฐได้ บ้างต่อรองจนได้ผลประโยชน์ถึง 80-90% ตามที่ต้องการ โดยนำเงินรายได้มากมายเหล่านั้นมาสร้างสวัสดิการฟรีให้กับประชาชนที่ยากจน ทั้งด้านการแพทย์-การศึกษา-ที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยคิวบาเป็นหนึ่งในประเทศที่ช่วยเหลือ นักการเมืองแนวสังคมนิยมในประเทศละตินที่ต่อกรกับอเมริกาครับ

ส่วน เช กูวารา นั้น ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ และรัฐมนตรีอุตสาหกรรมคิวบา มิได้ทำให้หัวใจปฏิวัติสากลของเชสลายหายไป หลังเดือนเมษายนปี 1965 (พ.ศ.2508) เชได้หายตัวไปจากคิวบา โดยทิ้งแค่จดหมายส่วนตัวที่เขียนถึงคาสโตรเท่านั้น

ด้วยความที่เชเป็นผู้นำหมายเลข 2 ที่ชาวคิวบาให้ความรักไม่ต่างจากคาสโตร การหายตัวไปอย่างลึกลับจึงเป็นเรื่องใหญ่ วันที่ 3 ตุลาคมในปีเดียวกัน คาสโตรต้องเปิดเผยจดหมายที่ไม่ระบุวันที่ ซึ่งเชเขียนถึงเขาโดยตรงว่า

เจตนารมณ์ที่เชจากไป คือ เพื่อทำการปฏิวัติ คาสโตรอธิบายว่า เพราะชาติอื่นๆในโลกเรียกร้องให้เชช่วยเหลือ และเชได้ตัดสินใจไปช่วยทำสงครามปฏิวัติครั้งใหม่ ในจดหมายเชได้ประกาศสละทุกตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ทั้งในรัฐบาล ในพรรค ในกองทัพ และสละสัญชาติชาวคิวบาที่ได้รับในปี 1959 (พ.ศ. 2502) อีกด้วย

1 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน คาสโตรให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศว่า เขารู้ว่าเชอยู่ที่ไหน แต่เขาเปิดเผยไม่ได้ เขาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า สหายร่วมรบของเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว คาสโตรยืนยันว่า “เชมีสุขภาพดีที่สุด”

..เชหายสาบสูญไปนับแต่ปี 1965 และยังคงลึกลับอยู่ จนกระทั่งอีก 2 ปีต่อมา..

ใน “วันเมย์เดย์” หรือ “วันแรงงานโลก” 1 พฤษภาคม 1967 (พ.ศ. 2510) รัฐมนตรีกลาโหมคิวบายอมรับที่กรุงฮาวานา ว่า เชได้ไปเป็นหัวหน้ากองโจรในประเทศโบลิเวีย

เมื่อรู้ว่า เช มาเป็นหัวหน้ากองโจรในประเทศตน ประธานาธิบดี เรเน บาริเอนโตส ของโบลิเวีย ก็ได้ประกาศกร้าวว่า เขาต้องการจะเห็นศีรษะเช ถูกเสียบอยู่ที่ปลายหอกในย่านลาปาส และเขาได้สั่งการให้กองทัพโบลิเวียออกไล่ล่าเชและพรรคพวกทั้งหมดทันที

หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ทราบที่อยู่ของเช เจ้าหน้าที่ซีไอเอก็ถูกส่งเข้าไปฝึกกองกำลังพิเศษของกองทัพโบลิเวียทันที หลายสภาพการณ์อันเลวร้ายทำให้กองกำลังของเชถูกปิดล้อม จนเชถูกจับกุมตัวได้หลังบาดเจ็บที่ขาทั้งสองข้าง ในวันที่ 8 ตุลาคม 1967 และเชถูกนำตัวไปที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในฮีกูเอรา

คำพูดสุดท้ายที่เชกล่าวต่อเพชฌฆาตที่มาสังหารชีวิตเขา คือ

“ผมรู้ว่า..คุณมาที่นี่เพื่อจะฆ่าผม ยิงสิ กลัวอะไรอยู่ คุณเพียงฆ่าคนคนหนึ่งเท่านั้น”

9 ตุลาคม..เชถูกนายสิบของกองทัพโบลิเวีย ลั่นกระสุนปืนปลิดชีพ...

15 ตุลาคม คาสโตรได้ออกมายอมรับการตายของเช และประกาศไว้อาลัยให้เชทั่วประเทศคิวบาเป็นเวลา 3 วัน การตายของเชมีส่วนอย่างมาก ในการเร่งกระแสเปลี่ยนแปลงสังคมในละตินอเมริกา

ปี 1977 (พ.ศ. 2520) ได้มีการพบโครงกระดูกที่เหลืออยู่ของเช ใกล้กับ วัลเลกรานเต หลังตรวจสอบดีเอ็นเอจนแน่ชัดแล้ว วันที่ 17 ตุลาคม 1997 (พ.ศ. 2540) ร่างเชถูกนำกลับมาฝังในชุดเครื่องแบบทหารปฏิวัติเต็มยศ ในสุสานที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ณ เมืองซานตา คลารา สถานที่ซึ่งเชได้รับชัยชนะเมื่อ 39 ปีก่อน ในการทำสงครามปฏิวัติคิวบาอย่างสมเกียรติ

ชาวคิวบายังได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ Ernesto Che Guevara เพื่อรำลึกและยกย่อง “วีรบุรุษ” นักปฏิวัติที่ต่อสู้กับรัฐบาลนายทุนสามานย์ในประเทศละตินอเมริกา และลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกา โดยมีพิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวชีวประวัติ เช กูวารา ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกด้วย

เชปิดฉากชีวิตนักปฏิวัติด้วยวัยเพียง 39 ปี แต่ทุกวันนี้ผู้คนทั่วโลกที่สู้กับ “ลัทธิทุนนิยมสามานย์” ยังยืนยันว่า..

“เช..ยังไม่ตาย” และ “เช..ไม่มีวันตาย!”
กำลังโหลดความคิดเห็น