กลุ่มกบฏทางภาคใต้ของไทยประกาศจุดยืนต้องการปลดแอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากการปกครองของราชอาณาจักรไทย ส่วนในพื้นที่ปัตตานีเข้ม 9 ปีมัสยิดกรือเซะ เลขาฯ สมช.เดินหน้าเจรจาวันนี้ ไม่กังวล BRN ยื่น 5 ข้อเสนอ ยันทุกอย่างต้องคุยบนโต๊ะ การพูดคุยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ด้าน ปชป.ซัด ”ภราดร” อ่อนหัดปล่อยโจรใต้เป็นฝ่ายรุก หวั่นปัญหาถูกยกระดับสู่นานาชาติ
ฮัสซัน ตอยิบ ผู้แทนเจรจาของกลุ่มกบฏ Barisan Revolusi Nasional (BRN) เปิดเผยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียในวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) หรือ 1 วันก่อนหน้าการเจรจาสันติภาพรอบใหม่กับผู้แทนรัฐบาลไทย เพื่อหาทางยุติเหตุการณ์ไม่สงบนองเลือดที่ดำเนินมานาน 9 ปี โดยประกาศว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นมีจุดยืนที่ต้องการการปลดปล่อย (liberation) พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของราชอาณาจักรไทย
ก่อนหน้านี้ทางการไทยได้เปิดการเจรจาสันติภาพรอบแรกที่ประเทศมาเลเซีย กับผู้แทนของบีอาร์เอ็นเมื่อเดือนก่อน แต่การโจมตีและเหตุร้ายรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกลับยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ฮัสซันตอยิบแถลงผ่านวิดีโอโดยเรียกร้องให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ให้การสนับสนุนต่อการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของกลุ่มบีอาร์เอ็น พร้อมให้คำมั่นว่าทางกลุ่มจะเข้าบริหารปกครองพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติอย่างเป็นธรรม
“เราจะต้องถูกปลดปล่อย หลังจากนั้นเราจึงจะสามารถเข้าปกครองพื้นที่บนพื้นฐานของความยุติธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรามีจุดมุ่งหมายที่จะนำเอาความยุติธรรมและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่พื้นที่” ผู้แทนเจรจาของบีอาร์เอ็นกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า ยังมีการเผยแพร่คำแถลงของกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกชุดหนึ่งผ่านวิดีโอ โดยระบุว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการให้มาเลเซียซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเข้ามาทำหน้าที่คนกลางในการเจรจากับไทย พร้อมเรียกร้องให้มีคณะผู้สังเกตการณ์จากประเทศอื่นๆในภูมิภาค รวมถึงกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพ นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้ทางการไทยยินยอมปล่อยผู้ถูกกักขังที่เป็นสมาชิกของกลุ่มตนทั้งหมด โดยข้อเรียกร้องล่าสุดของบีอาร์เอ็นขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับจุดยืนของฝ่ายไทยที่ยืนกรานว่า ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ถือเป็น “เรื่องภายใน” ของไทย
เหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ ปี 2004 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5,500 คนจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน โดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับทางการไทยมักตกเป็นเป้าหมายของการปองร้าย ไม่เว้นแม้แต่พวกชาวมุสลิมที่ให้ความร่วมมือกับทางการไทย
***ค้นบ้านยึดปืนสารประกอบระเบิด
เมื่อเวลา 07.00 น.วานนี้ (28 เม.ย.) พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย ผบก.ภ.จ.ปัตตานี ได้นำกำลังเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ 4/1 ม.5 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่สามารถยึดอาวุธปืน เอ็ม 16 พร้อมกระสุนปืนบรรจุในแมกกาซีน ซุกซ่อนอยู่ในยุ้งข้าวบริเวณหลังบ้าน เมื่อตรวจสอบพบว่าได้มีการขูดหมายเลขปืนออก นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดปุ๋ยยูเรียน้ำหนัก 5 กิโลกรัมและชิ้นส่วนเหล็กเส้นอีกจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ภายในบ้าน จึงได้ควบคุมตัวนายราสะ ยูโซะ อายุ 44 ปีเจ้าของบ้านไปสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม
การตรวจค้นครั้งนี้ สืบเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนประกอบกับการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาเหตุการณ์ความไม่สงบจนรู้เบาะแสแหล่งซุกซ่อนอาวุธของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ และจากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า นายราสะ อยู่ในเครือข่ายของ นายฮาซัน สะแต ผู้ต้องหาตามหมายจับ และเป็นแกนนำ RKK ระดับปฏิบัติการก่อเหตุลอบยิง และระเบิดในพื้นที่ อ.หนองจิก โดยนายราสะ ทำให้ที่รับส่งอาวุธปืนทั้งก่อนก่อเหตุ และหลังก่อเหตุ เช่นเดียวกับปุ๋ยยูเรีย และชิ้นส่วนเหล็กเส้นที่ยึดมาได้นั้น เจ้าหน้าที่เชื่อว่าน่าจะเตรียมทำระเบิดแสวงเครื่องเพื่อสร้างสถานการณ์ในพื้นที่
หลังการปิดล้อมตรวจค้น พล.ต.ธวัช ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายคุมเข้มพื้นที่ อ.หนองจิก ทันที เนื่องจากเชื่อว่ากลุ่มแนวร่วมน่าจะออกมาก่อกวนและสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ ส่วนอาวุธปืนที่ยึดมาได้ขณะนี้ได้ทำการตรวจสอบรอยนิ้วมือ และดีเอ็นเอ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับแฟ้มประวัติหลักฐานว่าตรงกับบุคคลใด พร้อมนำไปตรวจสอบด้วยว่าเคยก่อเหตุที่ใดมาบ้าง
**ผู้ว่าฯปัตตานีสั่งหาข่าวเข้ม9ปีกรือเซะ
นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ในวันครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์กรือเซะว่า ทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างเต็มที่ โดยนอกจากการใช้แผนพิทักษ์เมืองปัตตานี เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือทั้งกองกำลัง 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ที่ปฏิบัติงานตั้งด่านจุดสกัดตรวจค้น ตรวจตราทั้งบุคคลและยานพาหนะ เข้าออกเขตเมืองอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ในช่วงนี้ ยังได้มีคำสั่งเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนลงหาข่าวเชิงลึก เพื่อจะได้รู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ไม่หวังดี เพื่อจะได้รับมือและป้องกันความรุนแรงได้ทันการ
"ในส่วนของมัสยิดกรือเซะ ไม่มีการจัดงานรำลึกของญาติผู้สูญเสียแต่อย่างใด แต่ในส่วนของภาคสังคม ได้มีกิจกรรมภาคสังคมของ น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อ.เมือง ซึ่งเป็นเวทีสัมมนาเสริมสันติภาพชายแดนใต้ ไม่เกี่ยวกับครบรอบ 9 ปีกรือแซะ โดยคาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมเป็นหลักพัน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วน โดยเฉพาะ ผู้กำกับการสถานีภูธรเมืองปัตตานี ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่"
**รอบมัสยิดกรือเซะเหตุการณ์ปกติ
ด้านบรรยากาศในพื้นที่ จ.ปัตตานี เนื่องในวันครบรอบ 9 ปีกรือเซะเป็นไปอย่างปกติ ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด หลังจากกองกำลังเจ้าหน้าที่ได้มีการเฝ้าระวังอย่างหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ก็ยังคงเข้มงวดและเน้นหนักในการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ตรวจค้นรถและบุคคลต้องสงสัยที่เข้าออกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสาย 42 บริเวณมัสยิดกรือเซะ อีกทั้งจัดกำลังนอกเครื่องแบบเฝ้าติดตามกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อกดดันไม่ให้เข้ามาเตรียมแผนที่จะก่อเหตุในช่วงนี้
ส่วนบรรยากาศรอบๆ มัสยิดมีเด็กๆ เล่นกันสนุกสาน โดยมีประชาชนมานั่งพักผ่อนตามปกคิ ท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่มัสยิด โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด จนถึงช่วงกลางวันเริ่มคึกคักขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวมาชมมัสยิดเพิ่มขึ้น ร้านค้าของที่ระลึก และร้านอาหารมีประชาชนมาจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนที่เข้าละหมาดและร่วมฟังคำสอนภายในมัสยิด ได้ละหมาดขอพรในกลุ่มเล็กๆเพื่อให้พระเจ้า ประทานสิ่งที่ดีงาม และความสงบสุข ในพื้นที่
ทั้งนี้ ผู้ละหมาดต่างบอกเป็นเสียงเดียงกันว่า พวกเราลืมกันหมดแล้วไม่อยากให้มารื้อฟื้นให้เกิดความขัดแย้ โดยใช้ชื่อและสถานที่มัสยิดกรือเซะมาจุดประกาย คนพื้นที่เจ็บมามากแล้วอย่าให้คนที่อื่นมาสร้างกระแสอีก แล้วเกิดเรื่องพวกเราเจ็บ แต่คนที่สร้างไปแล้ว เรามาหาสันติภาพกันดีกว่า
นายมาฮัดเซาฟี ดอเลาะ ผู้ดูแลมัสยิดกรือเซะ กล่าวว่า คนมาเที่ยวชมมัสยิดนี้ทุกวัน เมื่อถึงวันครบรอบ 28 เม.ย. ในวันนี้ชาวบ้านที่นี่คิดว่าไม่มีอะไรแล้ว ไม่รู้สึกกลัว เพราะผ่านมาถึง 9 ปี เห็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาชาวบ้านลืมไปแล้วและไม่ต้องคิดอะไรมากบ้านเมืองกำลังจะสุขสงบแล้ว
**เลขาฯสมช.ลั่นต้องคุยบนโต๊ะ
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายอัสซัน ตอยิบ อ่านคำประกาศ BRN ผ่านเว็บไซต์ YouTube พูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพียงแต่เราได้รับฟังความคิดเห็นของเขาว่าต้องการอะไร ซึ่งในวันนี้ (29 เม.ย.) ที่จะมีการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่ม BRN ที่ประเทศมาเลเซีย จะมีการสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย ภาพที่ปรากฏใน YouTube คือ นายอัสซัน ตอยิบ ซึ่งเป็นคนที่พูดคุยกับคณะเราเมื่อเดือนที่แล้ว แต่สิ่งที่นายอัสซัน ตอยิบ มาพูดสื่อผ่านยูทูปยังไม่ได้พูดคุยกับเราและยังไม่ได้สื่ออะไรออกมา ดังนั้น เราจะต้องไปสอบถามถึงการที่กลุ่ม BRN สื่อออกมาใน YouTube มีความหมายอย่างไร
"เรื่องนี้อย่าไปกังวล 5 ข้อที่ BRN เสนอมาเราก็จะต้องรับฟังไปก่อน เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยกันบนโต๊ะและเราจะต้องกลับมาหารือกับฝ่ายเรา และประชาชน สิ่งที่ BRN เสนอ และประชาชนยอมรับได้หรือไม่ก็จะต้องมาฟังเสียงจากประชาชน เพราะขณะนี้เสียงของประชาชนมันดังก้องหูผมอยู่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการพูดคุยผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องรับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน แต่ผมมองว่าอย่างน้อย BRN ก็มีความจริงใจที่กล้าพูดกล้าแสดงออกมาในลักษณะแบบนี้ เพราะดีกว่าต่างฝ่ายต่างไปจินตนาการกันเอาเอง ส่วนที่มี BRN บอกว่าการสู้รบจะมีต่อไปจนกว่าจะได้รับความยุติธรรมนั้น ฝ่ายปฏิบัติก็จะต้องเข้มแข็งในการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ให้เกิดความสงบสุข"
พล.ท.ภราดร กล่าวย้ำว่า การพูดคุยบนโต๊ะระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่ม BRN ในวันนี้ ไทยยังเสนอการลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถือเป็นหัวใจหลักที่เราอยากให้มีการหยุดความรุนแรง ทั้งนี้เราจะยึดหลักพูดคุยตามเจตนารมณ์ที่ลงนามร่วมกัน เพราะเจตนารมณ์คือประเทศมาเลเซียอำนวยความสะดวกเท่านั้นจะไปยกระดับได้อย่างไร ในเมื่อเจตนารมณ์ของประเทศมาเลเซียก็ยังยอมรับในเรื่องที่จะอำนวยความสะดวกไม่ได้เป็นตัวกลางตามที่ BRN เสนอ ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย
**เผย5เงื่อนไข"BRN"บีบรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ นายชินทาโร่ ฮาร่า อาจารย์สอนวิชาภาษามลายูมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เผยแพร่ คำแปลฉบับชั่วคราว คำประกาศจากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN)รวมทั้งเนื้อหาที่กลุ่ม BRN ได้ออกแถลงผ่านเว็บไซต์ YouTube
โดยเนื้อหาดังกล่าวระบุว่า กลุ่ม BRN ได้เสนอเงื่อนไข 5 ข้อก่อนจะมีการสนทนาระหว่างผู้ปกครองชาวสยาม และ BRN ในวันที่ 29 เม.ย.ที่จะถึงได้แก่ 1.ผู้ปกครองชาวสยามจะต้องยอมรับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในฐานะ"ตัวกลาง" การสนทนา 2.การสนทนาที่จะเกิดขึ้นจะจำกัดวงเฉพาะตัวแทนชาวมลายู ซึ่งนำโดยกลุ่ม BRN ร่วมกับคณะผู้ปกครองชาวสยาม 3.จะต้องอนุญาตให้กลุ่มผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน องค์การความร่วมมือแห่งศาสนาอิสลาม (OIC) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (NGO) เข้าร่วมในการสนทนาด้วย
4.ผู้ปกครองชาวสยามจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะต้องระงับการออกหมายจับผู้ต้องสงสัย และ 5.จะต้องยอมรับสถานะของกลุ่ม BRN ในฐานะองค์กร เพื่อการปลดปล่อยปัตตานี มิใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน พร้อมกันนี้อย่าได้วิตกกังวลใจ ต่อกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ และแนวทางการต่อสู้ของ BRN จะนำไปสู่ความยุติธรรม ความสงบสุข ตลอดจนเพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐที่ดีที่ได้รับการโปรดปรานจากพระเจ้า
**"ถาวร" อัด "เลขาฯ สมช." อ่อนหัด
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม BRN เผยแพร่คลิปตั้งเงื่อนไข 5 ข้อว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยเตือนรัฐบาลมาโดยตลอดว่า การที่ไปปั่นข่าวผ่านสื่อออกไปว่า มีการเจรจาสันติภาพของเลขาฯ สมช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนที่จะหารือนอกรอบ เพื่อให้ได้ข้อยุติเบื้องต้นใดๆ ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย แต่รัฐบาลกลับไปตีปี๊บผ่านสื่อ เพื่อยกระดับให้ความสำคัญกับคนที่อ้างว่าเป็น ตัวแทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เราเตือนแล้วว่า จะมีการฉวยจังหวะ และยกระดับเรื่องนี้เป็นเรื่องสู่เวทีนานาชาติ และมีการเอาองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นว่าปัญหาภายในกิจการของไทย ต้องไปให้คนนอกมาเกี่ยวข้อง กระทบถึงอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงในหลายเรื่องที่จะตามมา ซึ่งวันนี้ก็เป็นจริงอย่างที่ตนเคยเตือนรัฐบาล ปัญหานี้ถูกยกระดับผ่านการคิดร่วมให้เป็นเงื่อนไขของกลุ่มโจร โดยรัฐบาลที่มีอำนาจรัฐถูกต้องในมือเปิดการเจรจากับกลุ่มโจร แทนที่รัฐบาลจะตั้งเงื่อนไขให้โจรปฏิบัติ ในระหว่างเจรจาที่ควรขอให้งดเว้น หรือลดการใช้ความรุนแรงลง แต่กลับกลายเป็นว่า คุยไปฆ่าไป หนำซ้ำกลุ่มตัวแทนโจรใต้ ยังยื่นเงื่อนไขบีบหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐอีก
"ต้องบอกว่าเลขา สมช.อ่อนหัดและโง่มาก ในสิ่งที่แสดงออกมา ถามว่าเมื่อถึงขั้นนี้แล้วรัฐบาลหรือหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ จะรับผิดชอบอย่างไร วันนี้รัฐบาลเสียค่าโง่ เสียรู้ ทั้งในเวทีการเจรจาและในเวทีสื่อที่ตัวแทนผู้ก่อการรู้จักใช้สื่อมาบีบบังคับฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย ให้ต้องเดินตามเกมของเขา มีทางเดียวเท่านั้นคือ หากจะยังเดินหน้าในการเจรจาต่อคือ ต้องทบทวนวิธีการ และยุทธศาสตร์ในการเจรจาว่าจะพูดคุยอย่างไร ที่เขากล้ารุกคืบขอให้โอไอซี หรือมาเลเซีย มาร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาเสมือนเป็นการถูกแทรกแซง ทั้งที่เป็นกิจการภายในของรัฐไทย ทั้งนี้ผมไม่ได้เสนอให้ยกเลิกเจรจา แต่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์แล้ว เพราะเขาบีบเราทุกด้าน”
นายถาวร กล่าวอีกว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ตนก็ยังยืนยันในยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เคยเสนอให้รัฐบาลไป 9 ข้อ ซึ่งหากทำได้จริงทั้งหมด ครบวงจร ไม่ลักลั่น ไม่เหลื่อมล้ำก็จะดีขึ้น แต่ที่รัฐบาลนี้ใช้อยู่คือจับใครได้ แทนที่จะสืบสาวราวเรื่องแยกแยะคดีและสาเหตุออกเป็นกลุ่ม กลับตีรวมแล้วส่งฟ้องศาล จึงได้เห็นตัวเลขของชาวบ้านที่โดนคดีร่วม 70 % ที่ส่งฟ้องศาลไปแล้วถูกยกฟ้อง แสดงให้เห็นว่าไม่ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาให้ถึงแก่นของแต่ละเหตุการณ์ ส่วนคนที่มีหลักฐานไม่แน่นหนาก็ทำได้โดยใช้ มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง คือการเข้าฝึกอบรมเปลี่ยนแนวคิดกลีบตัวมาร่วมพัฒนา ซึ่งหากมีการยกระดับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สำเร็จ ก็จะเป็นเรื่องของระดับนานาชาติได้ และคาดว่าประเทศไทยจะถูกบีบหนักกว่านี้อีก ทั้งนี้ตนเคยเตือนแล้วว่าเรื่องของบ้านเมืองความมั่นคงไม่ใช่เรื่องการทดลองงานทั้งเลขาฯ สมช. หรือเลขาฯ ศอ.บต. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ล้วนไม่เข้าใจถึงปัญหานี้ ทั้งหมดจึงอยู่ที่ความโง่ของรัฐบาลนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงหากยังเดินหน้าต่อโดยไม่ทบทวนวิธีการทำงานแก้ไขปัญหานี้
**แนะ 3 แนวทางคุยบีอาร์เอ็น
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า การเจรจาพูดคุยเป็นวิธีการหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า หลังการเจรจาที่ผ่านมาความรุนแรงมีนัยยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการ วิธีการและจุดยืนเป็นเรื่องที่จำเป็น ตนจึงมีข้อเสนอ 3 ประการ เพื่อให้การเจรจาในวันที่ 29 เม.ย.สำเร็จด้วยดี คือ 1.คณะผู้เจรจาต้องมีจุดยืนบนผลประโยชน์ของประเทศชาติ 2.ข้อเสนอใดๆ ของคู่เจรจาควรจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3.ไม่ควรให้การเจรจาครั้งนี้ กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง คณะบุคคลใดๆ เป็นอันขาด ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีจุดยืน 3 ประการนี้ ก็จะทำให้การเจรจาพูดคุยเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้.