xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตรใหม่ควรมีเรื่องทักษะการคิด

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ได้ข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการ กำลังจะปรับปรุงหลักสูตรอีก นัยว่าจะให้เหลือแค่ 6 วิชา ในต่างประเทศนักเรียนเรียนไม่กี่วิชา แต่จะมีวิชาที่สอนในระดับมหาวิทยาลัยด้วย เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น เมื่อเข้ายุคไอที โรงเรียนมัธยมในอังกฤษก็มีวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี เข้าใจว่าวิชานี้เป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็กอังกฤษไปต่อยอดเรียนวิชาการออกแบบ จนเวลานี้บริษัทอังกฤษเป็นกิจการที่ใหญ่ที่สุดในโลกทางด้านวิชาการออกแบบ

การกลับไปมีแค่ 6 วิชาเท่ากับเป็นการกลับไปสู่อดีต สมัยที่ผมเรียนหนังสือก็มีเท่านี้เหมือนกัน การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ก็เหมือนเดิม แต่ถ้าดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์แล้ว เขามีการเตรียมเด็กให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ดังนั้น จึงมีแผนกวิชาทักษะการคิดอยู่ด้วย และวิชาที่เป็นหลักก็คือวิชา Future Problem solving ซึ่งเด็กจะถูกฝึกให้คิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในอนาคต

นักการศึกษาของเรามักจะคิดว่าในแต่ละวิชา เด็กจะต้องคิดและวิเคราะห์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีแบบฝึกหัดท้ายบท แต่เด็กก็ต้องคิดตามกรอบ ไม่ได้ใช้จินตนาการซึ่งบางครั้งเป็นการคิดนอกกรอบ ตัวอย่างการคิดในกรอบก็คือ การที่คนอเมริกันคิดแก้ปัญหาการเอาปากกาหมึกแห้งไปใช้ตอนอยู่ในอวกาศหมึกไหลออกมา จึงลงทุนเสียเงินไปมากมายเพื่อทำปากกาที่หมึกไม่ไหลเลอะเทอะ แต่คนรัสเซียแก้ปัญหาด้วยการใช้ดินสอแทน

เมื่อเด็กไม่ได้รับการฝึกให้คิดตั้งแต่เด็ก โตขึ้นก็คิดไม่เป็น ใครพูดอะไร ฟังอะไรมาก็ไม่รู้จักคิด เชื่อไปหมด Edward de Bono เห็นว่าการคิดเป็นทักษะประเภทหนึ่ง จึงต้องมีการฝึกฝน เราจะสังเกตว่านักศึกษาวิชาการออกแบบหรือสถาปัตย์ต้องคิด ดังนั้นพวกเขาจึงมีความคิดสร้างสรรค์ ที่จุฬาฯ พวกสถาปัตย์จะจัดแสดงละครทุกปี ทั้งๆ ที่สมัยก่อนไม่มีการสอนศิลปะการแสดง นักแสดงสมัครเล่นหลายคนก็กลายเป็นนักแสดงในเวลาต่อมา

ในต่างประเทศเขาจะไม่ให้เรียนตามตำราอย่างเดียว แต่จะมีวิชาที่เป็นการทำกิจกรรมด้วย พวก Constructionism เห็นว่า ความรู้นั้นเกิดจากการทำหรือการปฏิบัติ ที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนสอน เช่น พุทธศาสนามีเรื่องปริยัติกับปฏิบัติ เหมา เจ๋อตุง เน้นการปฏิบัติว่าสำคัญเหนือกว่าทฤษฎี เป็นต้น ในหลายประเทศจึงมีการเรียนทำอาหารด้วย ซึ่งเด็กจะสนุกสนานมาก เพราะทำแล้วก็ชิมกันเอง

ผมชื่นชมรายการจูเนียร์เชฟมากที่เขาให้เด็กอายุ 10-12 ปีมาทำอาหารแข่งกัน การทำอาหารเป็นการเรียนรู้ที่ดีมากเพราะมีส่วนประกอบ มีอุปกรณ์ มีการใช้ความร้อน ความเย็น การผสมส่วนต่างๆ ให้เหมาะสม ที่สำคัญคือการมีจินตนาการว่าจะทำอะไร รายการนี้เด็กๆ ทุกคนเก่งมากแม้อายุจะน้อยแต่ก็ทำของยากๆ ได้ ทั้งอาหารไทย และอาหารฝรั่ง

การสอนทักษะการคิดทำให้เด็กมีโอกาสได้ฝึกการคิด เพราะในวันหนึ่งๆ นั้น เราใช้ความคิดน้อยมาก เพราะสมองเราทำงานตามปกติ ด้วยการจัดระเบียบเป็นแบบแผนที่ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาคิดมาก ดังนั้นเราจึงทำอะไรตามแบบฉบับที่เคยทำทุกวัน แม้แต่การเรียนหนังสือก็มีแบบฉบับ มีไวยากรณ์ มีสูตรเลขที่เราใช้เพื่อให้จัดการความรู้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้ความคิดหรือจินตนาการมาก

เวลานี้เรามีคนไทยที่ไปเรียนรู้เรื่องทักษะการคิดและการสอน Future Problems Solving หลายคนแล้ว อดีตครูวชิราวุธที่ผมส่งไปฝึกที่นิวซีแลนด์ ต่อมาก็ติดต่อกับทางผู้จัด Future Problems Solving ที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และอเมริกาได้เอกสารมาเยอะแยะ พวกนี้ทำการสอนมา 10 ปีแล้ว และได้ไปทำโครงการให้โรงเรียนของ อบจ.ที่อุดรธานี และที่เชียงราย ตลอดจนได้ทำการฝึกอบรมครูของกระทรวงศึกษาธิการด้วย แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมเห็นว่าในการปรับปรุงหลักสูตรใหม่นี้ หากมีการนำวิชาทักษะการคิด โดยสอนการคิดแก้ปัญหาในอนาคตมาไว้ด้วยก็จะดีมาก

นอกจากนั้น ส่วนที่เป็นกิจกรรมก็จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา การทำงานเพื่อสาธารณะ และละคร โรงเรียนของมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นโรงเรียนสองภาษามีการจัดแสดงละครภาษาอังกฤษทุกปี เด็กๆ เล่นเก่งมาก โรงเรียนไทยเราเองก็ควรส่งเสริม มีบางโรงเรียนที่เล่นละครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6

ไม่ว่าหลักสูตรจะเป็นอย่างไร แต่การเรียนควรเป็นสิ่งที่สนุกและเพลิดเพลินสำหรับเด็กๆ แทนที่จะเป็นสิ่งน่าเบื่อ เพราะเด็กต้องใช้เวลาสิบกว่าปีในระบบโรงเรียน เขาควรเติบโตขึ้นโดยมีความทรงจำที่ดีต่อการเรียนการสอนในโรงเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น