xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรงขั้นต่ำฉุดการเพิ่มค่าจ้างปริญญาตรีต่ำกว่า ปวส.-ปวช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.จับมือ ม.ศรีปทุม เผยผลสำรวจค่าจ้างฯ ปี 55/56 พบหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันล็อตแรก 1 เม.ย. 55 ทำให้โครงสร้างค่าจ้างขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นเปลี่ยนไปจากเดิมที่ปริญญาตรีจะขึ้นสูงกว่ากลับเป็น ปวช.และ ปวส.สูงกว่า แถมแรงงานต่างด้าวเข้าไทยเพิ่ม ส่วนการจ่ายเงินค่าจ้างที่ยังไม่มีประสบการณ์ พบระดับ ปวช.สาขาคหกรรมศาสตร์จ่ายสูงสุด ปวส.สาขาออกแบบและสถาปัตย์ ปริญญาตรีและโทเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ปริญญาเอกเทคโนโลยีอาหาร

ผศ.ดร.ประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงโครงการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ประจำปี 2555/56 ซึ่งร่วมกับสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งนี้มีสถานประกอบการ 343 แห่งจาก 23 กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นก่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในวันที่ 1 เม.ย. 55 ทิศทางการปรับค่าจ้างขั้นต้นเพิ่มขึ้น ปริญญาตรีจะสูงกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แต่หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กลับพบว่าระดับ ปวส.และ ปวส.จะสูงกว่าระดับปริญญาตรี

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบปี 2554/55 การปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ปวช.28.49% ปวส.21.41% ปริญญาตรี 4.55% เป็นต้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการปรับตามผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยและอาเซียนจะพบว่า การจ้าง 1 คนไทยจะเท่ากับ 2 คนอินโดนีเซีย เท่ากับ 3 คนลาว 4 คนเวียดนาม 5 คนกัมพูชา และ 6 คนพม่า ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรือจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากอาจต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียนที่มีค่าจ้างถูก

เวียดนามถูกมองว่ามีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตภูมิภาค ส่วนอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังต้องการใช้แรงงาน (Unskilled Workers) จะทำให้เกิดการทะลักของแรงงานต่างด้าวมากกว่าเดิม โดยจะเป็นแรงงานชาวกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นทดแทนแรงงานพม่าที่ลดลงสืบเนื่องจากพม่ามีการเปิดประเทศทำให้แรงงานพม่าส่วนหนึ่งกลับประเทศ ดังนั้น ทิศทางอุตสาหกรรมของประเทศจะถูกปรับไปสู่อุตสาหกรรมที่เน้นใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคตอันใกล้

นางวีณา ตันตยานนท์กุล ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ส.อ.ท.กล่าวว่า ผลสำรวจค่าจ้างปี 55/56 ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามคุณวุฒิต่อเดือน โดยเฉลี่ยรวมพบว่า วุฒิ ปวช.จ่ายเฉลี่ย 8,934 บาท ปวส.จ่าย 9,718 บาทปริญญาตรีจ่าย 12,863 บาท ปริญญาโท 18,560 บาท ปริญญาเอกเฉลี่ย 28,468 บาท เมื่อจำแนกตามสาขาวิชาพบว่า วุฒิ ปวช.สาขาคหกรรมศาสตร์จ่ายสูงสุด 9,372 บาท วุฒิ ปวส.สาขาออกแบบและสถาปัตย์จ่ายสูงสุด 10,220 บาท ปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จ่ายสูงสุด 15,588 บาท ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมศาสตร์จ่ายสูงสุด 20,030 บาท และปริญญาเอกเทคโนโลยีอาหาร 35,808 บาท

“จะเห็นว่าคนที่เรียนคหกรรมศาสตร์ตอนนี้จบมาไม่มีประสบการณ์จะได้รับเงินเดือนสูง เช่นเดียวกับปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีอาหารเนื่องจากสาขานี้คนเรียนยังน้อยอยู่ และถ้าลงลึกจะพบว่าเด็กที่จบ ปวช.และ ปวส.เองก็หายากมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้เด็กๆ ก็จะเรียนสูงขึ้นไปถึงระดับปริญญาตรีต่อโทและปริญญาเอก เห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้เด็กๆ เป็นดอกเตอร์เยอะขึ้นมาก” นางวีณากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น