ก่อนวันสงกรานต์ 4-5 วันผมติดธุระอยู่ที่ต่างจังหวัด มีโทรศัพท์จากพี่น้องประมงชายฝั่ง ที่ออกทำการประมงในบริเวณชายฝั่งอำเภอสทิงพระ สิงหนคร จังหวัดสงขลาอย่างน้อย 3 ท่านโทร.มาบอกให้ช่วยประสานนักข่าวให้ลงไปดูน้ำมันที่ลอยแผ่เป็นวงกว้างใกล้ๆ แท่นเจาะน้ำมันของบริษัทบริษัท CEC International, Ltd หรือนิวคอสตอล ใกล้ฝั่งสทิงพระ หลังสงกรานต์ผมลงไปที่หาดมหาราช ในเขตอำเภอสทิงพระพบว่าตอนเหนือและตอนใต้ของหาดมหาราช ชายฝั่งเกลื่อนไปด้วยคราบน้ำมัน ในส่วนของชายหาดมหาราชทราบว่าทางบริษัทได้ว่าจ้างให้คนมาเก็บกวาดไปหมดแล้ว เพราะเกรงว่าช่วงสงกรานต์จะมีผู้คนมาเที่ยวชายหาดกันมาก ที่ร้ายไปกว่านั้นมีภาพถ่ายที่ชาวบ้านหาดมหาราชเอามาให้ผมดู พบว่าการเก็บกวาดคราบน้ำมันที่ชายหาด เก็บกวาดใส่ถุงดำและฝังไว้ใต้หาดทรายชายหาด ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทขุดเจาะน้ำมันบ้านเราแก้ปัญหากันง่ายจริงๆ มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสทิงพระ เพื่อกล่าวโทษผู้ที่ทำให้มีคราบน้ำมันขึ้นมาสร้างความสกปรกให้กับพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ข้อสรุปว่าอย่างไร
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีปรากฏการณ์ของคราบน้ำมันขึ้นกระจายตามชายหาดของสงขลา โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสิงหนครและสทิงพระ แต่ทุกครั้งเรื่องดังกล่าวก็หายไปในสายลม ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทางบริษัทเองก็ออกมาตอบโต้ท้าทายตลอดว่านั่นเป็นเรื่องปกติ ที่แต่ละปีมักจะมีคราบน้ำมันปรากฏบนชายหาด ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการถ่ายน้ำมันของเรือประมงซึ่งมีอยู่จำนวนมากในจังหวัดสงขลา โดยยกเอาคำพูดของชาวประมงมาพิมพ์ในเอกสารเผยแพร่ว่า “ชาวประมงวัย 70 ปี ในอำเภอสทิงพระ กล่าวว่า ตั้งแต่จำความได้ ชายหาดใกล้บ้านพบก้อนสีดำคล้ายยางมะตอย ปรากฏช่วงต้นปีของทุกปี แต่เมื่อถูกความร้อนจากแสงแดดจะละลาย และส่วนใหญ่หายไปเองในช่วงเดือนเมษายนความยาวตลอดชายฝั่ง 40 กิโลเมตร ตั้งแต่อำเภอระโนด สทิงพระ สิงหนคร และอำเภอเมืองตลอดแนว”
แต่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 และกำนันตำบลปากแตระให้ข้อมูลว่า หลายครั้งที่หน่วยงานราชการเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ แต่ไม่เคยนำข้อมูลกลับมาชี้แจงกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านคาดเดาสาเหตุไปต่างๆ นานา มีข้อสังเกตว่า วัตถุที่พบปีนี้ (2556) มีเฉพาะก้อนสีดำคล้ายน้ำมัน ต่างจากปี 2553” นี่คือความคลุมเครือของข้อมูลจากปรากฏการณ์คราบน้ำมันบนชายหาด หน่วยงานของราชการไม่เคยออกมาทำหน้าที่สร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นแม้แต่น้อย
ถ้าเรามาดูบทเรียนเดียวกันนี้จากต่างประเทศ กรณีบริษัทน้ำมันเชฟรอนของสหรัฐอมริกา ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่จากบ่อสำรวจน้ำมัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 จากแหล่งขุดเจาะน้ำมันเฟรด นอกชายฝั่งนครริโอ เดอ จาเนโร ระยะทางประมาณ 370 กม. บริษัทเชฟรอนได้ให้ข้อมูลว่าน้ำมันเริ่มรั่วไหลเกิดจากการที่วิศวกรประเมินแรงดันของน้ำมันในบ่อต่ำเกินไปภายหลังการขุดเจาะ ทำให้ทางรัฐบราซิลสั่งระงับการขุดเจาะน้ำมันทั้งหมดของบริษัทเชฟรอน นอกจากนั้นสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบราซิลมีคำสั่งปรับเงินบริษัทเชฟรอน 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาอิบามา (Ibama) ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของบราซิล ได้สั่งปรับเพิ่มอีกเป็นเงิน 5.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐโทษฐานขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือเหตุน้ำมันรั่วไหลนอกชายฝั่งนครริโอ เดอ จาเนโร เพราะตรวจสอบพบว่าบริษัทขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นในเรื่องฉุกเฉิน และตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช้ามาก หากหน่วยงานราชการของเราฉับไวต่อการดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม วันที่ 9 เมษายน 2556 ขณะที่ชาวประมงแจ้งไปว่าน้ำมันรั่วที่แท่นเจาะ เห็นพนักงานบริษัทกำลังฉีดสารเคมีทำลายคราบน้ำมันอยู่นั้น ป่านนี้เราคงได้ให้ให้บทเรียนแก่บริษัทขุดเจาะน้ำมันเหมือนกับที่บราซิลกระทำบ้างก็ได้
อีกกรณีก็คือจากการศึกษางานสำรวจและวิจัยกรณีน้ำมันรั่วลงทะเลทั้งจากกรณีของเรือขนส่งน้ำมันดิบแอมโมโกคาดิซ (Amoco Cadiz) ล่มแถบชายฝั่งทะเลของฝรั่งเศสในปี 2521 ปล่อยน้ำมัน 257,040,000 ลิตรและปี 2532 เรือขนส่งน้ำมันดิบเอกซอน วาลเดซ (Exxon Valdez) ชนหินโสโครกจึงต้องระบายน้ำมันออก 415,80,000 ลิตร ลงอ่าวในมลรัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา น้ำมันลอยแผ่กระจายปกคลุมผิวหน้า แต่บางส่วนละลายหรือจมลงสู่ท้องน้ำ ร้อยละ 25 ของปริมาณทั้งหมดระเหยเป็นไอ แต่เมื่อมีเศษเล็กเศษน้อยเข้าปะปนฟองน้ำมันจะจมลงสู่พื้นแล้วคงตัวเช่นนั้นอยู่นานนับปีก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อน้ำมันได้จมลง มีผลต่อการกระจายการปนเปื้อน
ส่วนน้ำมันที่ไม่จมกระแสลมจะพัดพาเข้าฝั่ง คาดว่าในรัฐอลาสก้า น้ำมันดิบจากเรือเอกซอน วาลเดซ ทำความเสียหายให้แก่ชายฝั่งทะเลยาว 1,200 ไมล์ นกตาย 100,000 ตัว รวมทั้งนกอินทรีที่หาได้ยาก 150 ตัว และนากทะเลไม่น้อย 1,000 ตัว มีผลให้อุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะปลาแซลมอนตกอยู่ในภาวะซบเซา การตรวจพบโลหะและโลหะหนักตกค้างในตะกอน สัตว์ทะเล ที่นำมาจากแหล่งน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ตรวจพบโลหะหนักจำนวนมาก บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โลหะบางชนิดไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็งแต่ทำลายระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น สารปรอททำลายระบบประสาท โดยเฉพาะทารกในครรภ์ถ้าได้รับสารปรอทจะทำให้มีสติปัญญาต่ำ มีพัฒนาการต่ำกว่าอายุจริง
สิ่งที่ชาวประมงเห็นเหตุการณ์และบอกว่าเห็นพนักงานบริษัทกำลังฉีดสารเคมีทำลายคราบน้ำมันนั้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา น่าจะสันนิษฐานว่าบริษัทกำลังดำเนินการขจัดน้ำมันด้วยวิธีการที่ใช้ทางกายภาพ ได้แก่ใช้ทุ่น (Boom) เพื่อเก็บกักน้ำมันที่รั่วไหลไว้ให้มากที่สุดแล้วดูดเก็บน้ำมันด้วยเครื่องดูดซับน้ำมัน (Skimmer) หลังจากนั้นก็ใช้วิธีทางเคมีโดยพ่นสารเคมีลงบนผิวน้ำมันให้น้ำมันแตกตัว กระจายเป็นหยดเล็กๆ ซึ่งในทางวิชาการหลังจากนั้นก็ปล่อยให้จุลินทรีย์เพื่อให้เกิดการย่อยในธรรมชาติซึ่งต้องใช้เวลานาน และที่เป็นตลกร้ายจนหัวเราะไม่ออกของสังคมไทยก็คือว่ารัฐบาลยังเดินหน้าอนุมัติให้มีการสัมปทานขุดเจาะน้ำมันทั้งบนบกและในทะเลกันโครมๆ โดยปล่อยให้ชุมชนและชาวบ้านตาดำๆ ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยลำพัง.