xs
xsm
sm
md
lg

ลุยประมูลไอพีพี5,400เมกะวัตต์จับตา"ราชบุรีฯ"แนวโน้มคว้างาน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - จับตาประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีจำนวน 5,400 เมกะวัตต์คึกคัก คาด29เม.ย.นี้ เอกชนยื่นซองประมูลจำนวนมาก เผยศักยภาพของ"ราชบุรี โฮลดิ้ง" มีแนวโน้มคว้างาน

แหล่งข่าวจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้มีการยื่นซองประมูลในวันที่ 29 เมษายน 2556 ว่า เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อรองรับการเสริมสร้างด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องพลังงานอยู่ โดยคาดว่าในวันดังกล่าวจะมีเอกชนสนใจเข้ายื่นซองประมูลจำนวนมากและคาดว่าบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีแนวโน้มที่จะได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากบริษัทฯมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการที่มาจากภาคลง เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลที่ห้ามรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมประมูล หรือการควบคุมโดยรัฐวิสาหกิจไม่เกิน 50% ดังนั้น ราชบุรีฯได้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ

โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย กฟผ.45%,สำนักงานประกันสังคม 4.69 %กลุ่มNortrust Nominees limited 9.20%,กลุ่ม Littedown Nominees Limited 6.65%,Thai NVDR 4.35%,กลุ่ม American International Assurance Company 3.50% ,กองทุนบล.จัดการกองทุนกรุงศรีฯ 2.35 %,บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต 1.77%,กลุ่ม State Street Bank and Trust Company 1.68%,กลุ่ม HSBC 1.14%

“ ยอมรับว่า ราชบุรีฯ ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นมาก โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลต่างๆ เนื่องจากบอร์ดของราชบุรีก็มาจากกฟผ.,กระทรวงพลังงาน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ในการแข่งขันย่อมมีมากกว่าคู่แข่ง ที่สำคัญบอร์ดที่มาจากกฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ชนะการกระมูลไอพีพี มีทั้งที่เป็นผู้ว่ากฟผ.คนปัจจุบัน
และแคนดิเดตผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ ที่จะมาแทนผู้ว่ากฟผ.คนปัจจุบันที่จะเกษียณอายุประมาณกลางปี2556 นี้”

อนึ่ง สำหรับหลัเกณฑ์การประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ผลิตไฟฟ้าไว้ 3 ข้อ คือ 1.ผู้ยื่นจะต้องมีประสบการณ์ด้านการผลิตไฟฟ้า มีสถานะการเงินที่มั่นคง สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม 2.องค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารยื่นประมูล (อาร์เอฟพี) ไม่สามารถยื่นข้อเสนอโดยตรงหรือเข้าร่วมกับบริษัทอื่นๆ เพื่อยื่นข้อเสนอ และ 3.ผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นบริษัทหรือกลุ่มบริษัทใดๆ ที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นโดยตรง หรือโดยอ้อม จะสามารถเข้าร่วมประมูลได้ เมื่อสัดส่วนการถือหุ้น หรือการควบคุมโดยรัฐวิสาหกิจนั้นไม่เกิน 50% ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารยื่นประมูล

สำหรับประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้านั้นกำหนดให้ใช้ได้เพียง "ก๊าซธรรมชาติ" เท่านั้น รวมถึงระบุว่าคุณสมบัติ หรือประเภทเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าจะต้องเป็นประเภทไฟฟ้าพื้นฐานที่ผลิตไฟฟ้าตามที่ กฟผ.กำหนด.
กำลังโหลดความคิดเห็น