xs
xsm
sm
md
lg

6วันสงกรานต์ตาย285ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17 เม.ย.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พล.ต.ท. เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย.56 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรมพบว่าเกิดอุบัติเหตุ 291 ครั้ง ซึ่งเท่ากันกับปี 2555 ที่เกิด 291 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 30 ราย (ปี 2555 เสียชีวิต 29 ราย) เพิ่มขึ้น 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 344 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 308 คน) เท่ากับเพิ่มขึ้น 36 คน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 34.71 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.05 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 75.59 รถปิคอัพ ร้อยละ 13.71 ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 19.79 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครปฐม แพร่ คือ12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นนทบุรี เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด คือ3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี 19 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 6 วัน คือในช่วง 11 – 16 เม.ย. 56 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,581 ครั้ง ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2555 พบว่าเกิด 2,872 ครั้งเท่ากับ ลดลง 291 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 10.13 ผู้เสียชีวิตรวม 285 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,783 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด ปัตตานี ภูเก็ต ยะลา ระนอง และอำนาจเจริญ
“จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ คือ 94 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 95 คน”
พล.ต.ท. เรืองศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว และการขับรถโดยประมาท
ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผลการออกตรวจจับผู้กระทำผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่า ในรอบ 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 -16 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสรรพสามิตตรวจ 3 ภาค คือภาคเหนือ กลาง และใต้ ตรวจรวม 415 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดีรวม 208 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 โดยภาคกลาง 4 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ชลบุรี และระยอง ตรวจ 104 ราย ดำเนินมีผู้กระทำผิด 90 ราย ภาคเหนือ 5 จังหวัด คือสุโขทัย พิจิตร ลำพูน อุตรดิตถ์ และเชียงใหม่ตรวจ 158 ราย ดำเนินคดี 33 ราย และภาคใต้ที่ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ตรวจ 153 ราย ดำเนินคดี 85 ราย การฝ่าฝืนที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่การโฆษณา พบเกือบร้อยละ 70 ของการกระทำผิดทั้งหมด
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีประเด็นที่น่าสนใจที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ผลการตรวจที่อำเภอปราณบุรี พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเองที่เป็นราชการส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกับบริษัทน้ำเมารายใหญ่ จัดลานเบียร์ในสถานที่สาธารณะของราชการที่จัดไว้ให้ประชาชนทั่วไปพักผ่อนหย่อนใจหรือสวนสาธารณะของทางราชการนั่นเอง ซึ่งผิดทั้งผู้ขาย ผู้ดื่ม และผู้อนุญาตให้จัด ถือเป็นความผิดทั้งตามกฎหมายและจริยธรรม
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย ทั้งผู้ขายและดื่มในสวนสาธารณะของทางราชการ มีโทษ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ การจัดลานเบียร์ในลักษณะนี้ถือว่าเข้าข่ายการโฆษณาสื่อสารการตลาด ประเภทการจัดหรือสนับสนุนให้จัดกิจกรรมพิเศษ ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ราชการส่วนท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบ ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษจำคุก 1-10 ปี สำหรับทางจริยธรรม ถือได้ว่าเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การเสียชีวิตของประชาชนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการเสียชีวิตสูงสุดในประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น