xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกการรักษาเนื้องอกในลำไส้และตับอักเสบ ของหมอชีวกฯ ตามพระไตรปิฎก !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ตามพระไตรปิฎกในส่วนของ พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 ลำดับที่ 133 ได้พูดถึงเรื่องการผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้

ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสีผู้เล่นกีฬาหกคะเมนได้ป่วยเป็นโรคเนื้องอกที่ลำไส้ ข้ายาคูที่เธอดื่มเข้าไปก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีดเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น

ครั้งนั้นเศรษฐีชาวพระนครพาราณสีได้มีความปริวิตกด้วยโรคนั้น จึงเดินทางไปพระนครราชคฤห์เข้าเฝ้าต่อพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช แล้วกราบทูลขอพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงมีพระบรมราชโองการสั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อจะได้รักษาบุตรของเศรษฐี

พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า ไปเถิดพ่อนายชีวก เจ้าจงไปพระนครพาราณสี แล้วรักษาบุตรของเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะฯแล้วไปพระนครพาราณสี เข้าไปหาเศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี สังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี

นายแพทย์ชีวกโกมาภัจจ์ ได้เชิญประชาชนออกไปเสีย ขึงม่านมัดเศรษฐีบุตรไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ข้างหน้า ผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้แสดงแก่ภรรยาว่า เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวยาคูที่สามีเธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่สามีเธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนี้ สามีเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นดังนี้ แล้วตัดเนื้องอกในลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับดังเดิม แล้วเย็บหนังท้องทายาสมานแผล ต่อมาไม่นานเท่าไรนัก เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสีได้หายโรคแล้ว

จากบันทึกตามพระไตรปิฎกในส่วนนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าการผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้นั้นมีตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความน่าสนใจเพราะปัจจุบันเป็นที่ยุคการล้างพิษตับมีกระแสมาแรง โดยใช้ "น้ำมันมะกอก" เพื่อล่อให้ตับผลิตน้ำดีจำนวนมากเพื่อนำเอนไซม์ไลเปสมาย่อยน้ำมันมะกอก จึงพร้อมกับนำของเสียจากตับออกมาพร้อมกับน้ำดีที่ผลิตออกนั้น ผลปรากฏว่าสามารถทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบหายป่วยไปได้หลายคนแล้ว ก็ดูเหมือนจะมีความคล้ายคลึงกันกับ "โรคผอมเหลือง" ซึ่งเป็นอาการคล้ายโรคตับอักเสบในปัจจุบันนั้น ตามพระไตรปิฎกก็มีการใช้น้ำมันทีเรียกว่า "เนยใส" เช่นกัน

"เนยใส"
หรือ เนยเหลว เป็นเนยที่ได้จากการสกัดก้อนนมและน้ำออกจากไขมันเนย ผลิตจากการละลายเนยธรรมดา แล้วปล่อยให้ส่วนประกอบตกตะกอนแยกชั้นตามความหนาแน่น น้ำจะระเหยไป ของแข็งที่ลอยอยู่จะถูกตักออก ก้อนนมจะเหลือที่จมอยู่ที่ก้น ไขมันเนยตรงกลางจะถูกเทออกมาใช้เป็นเนยใส ส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไขมันเนยไม่มีประโยชน์อะไรและมักจะเททิ้งไป เนยใสหรือฆี (ghee ออกเสียง กี) ของอินเดีย ทำจากนมวัวและนมควาย ชาวฮินดูเชื่อว่าบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ นิยมใช้ในพิธีกรรมต่างๆอย่างใช้แทนเชื้อเพลิงใการจุดบูชาเทพเจ้า นิยมนำมาทำขนมและอาหาร เชื่อว่าสามารถรักษาอาหารท้องผูก โรคกระเพาะ รวมถึงทำให้ผิวพรรณดีได้

ทั้งนี้ "เนยใส" เป็นหนึ่งในเภสัช 5 ในทางพุทธศาสนาจัดว่าเป็น "สัตตาหกาลิก" คือของที่ภิกษุเก็บไว้ฉันได้ภายใน 7 วัน อีกด้วย

และเรื่องเนยใส และ โรคผอมเหลือง (ตับอักเสบ) นั้น ได้ปรากฏการรักษาของหมอชีวก โกมาภัจจ์ อยู่ในพระไตรปิฎก ในส่วนของพระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 ลำดับที่ 134 เรื่องพระเจ้าจันฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง ความว่า:

"ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรโรคผอมเหลือง นายแพทย์ที่ใหญ่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนมารักษา ก็ไม่อาจทำให้โรคหลาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชตได้ส่งราชทูตถือพระราชสาสน์ ไปในพระราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคราช มีใจความว่า หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นอย่างนัน ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์ได้โปรดสั่งหมอชีวก เขาจักรักษาหม่อมฉัน พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ดำรัสสั่งชีวกโกมาภัจจ์ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี รักษาพระเจ้าปัชโชต

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าไปในพระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต ได้ตรวจอาการที่ผิดแปลกของพระเจ้าปัชโชตแล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า "ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจักหุงเนยใส พระองค์จักเสวยเนยในนั้น"

พระเจ้าปัชโชตรับสั่งห้ามว่า "อย่าเลย พ่อนายชีวก ท่านเว้นเนยใสเสีย อาจรักษาเราให้หายโรคได้ด้วยวิธีใด ท่านจงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน สำหนับฉัน"

ขณะนั้น ชีวโกมาภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล ทรงประชวนเช่นนี้ เราเว้นเนยใสเสีย ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้ เอาละเราควรหุงเนายใสให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด ดังนี้ แล้วได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิด ให้มี สี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด

ครั้นแล้วฉุกคิดได้ว่า เนยใสที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เสวยแล้ว เมื่อย่อยจักทำหื้เรอ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ ถ้ากระไรเราพึงทูลาไว้ก่อน

วันต่อมาจึงไปในพระราชสำนัก เข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า

"ขอเดชะฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นนายแพทย์ จักถอนรากไม้มาผสมยาชั่วเวลาครู่หนึ่งเช่นที่ประสงค์นั้น ขอประทานพระบรมราชวโรกาส ขอฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงมีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลายว่า หมอชีวกต้องการไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการไปเวลานั้น จงไปเวลานั้น ปรารถนาใด จงเข้ามาเวลานั้น"

พระเจ้าปัชโชตจึงได้มีพระราชดำรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลาย ตามที่หมอชีวกกราบทูลขอบรมราชานุญาตไว้ทุกประการ

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ 50 โยชน์ หมอชีวกโกมาภัจจ์จึงได้ทูลถวายเนยใสนั้นแด่พระเจ้าปัชโชตด้วยกราบทูลว่า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงเสวยน้ำฝาด ครั้งให้พระเจ้าปัชโชตเสวยเนยใสแล้วก็ไปโรงช้างหนีออกจากพระนครโดยช้างพังภัททวดี ขณะเดียวกันนั้นเนยใสที่พระเจ้าปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้น พระเจ้าปัชโชตจึงได้รับสั่งแก่พวกมหาดเล็กว่า เราถูกหมอชีวกชั่วลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจึงค้นจับหมอชีวกโดยเร็ว

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีมหาดเล็กชื่อกากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทางไปวันละ 60 โยชน์ พระเจ้าปัชโชตดำรัสสั่งกากะมหาดเล็กว่า พ่อนายกากะ เจ้าจงไปเชิญหมอชีวกกลับมาก ด้วยอ้างว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้มีมารมาก เจ้าอย่างรับวัตถุอะไรๆของเขา

ครั้นนั้น กากะมหาดเล็กได้เดินทางไปทันชีวกโกมาภัจจ์ ผู้กำลังรับประทานอาหารมื้อเช้า ในระหว่างทางเขตพระนครโกสัมพี จึงได้เรียนแก่ชีวกโกมาภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป

ชีวกโกมาภัจจ์ กล่าวว่า พ่อนายกากะ ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่านรับประทานอาหารด้วยกันเถิด

กากะมหาดเล็ก กล่าวตอบว่า ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า พ่อนายกากะ ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้มีมารมาก อย่ารับวัตถุอะไรของเขา

ทันใดนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้แซกยาทางเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำรับประทาน แล้วได้ร้องเชื้อเชิญมหาดเล็กว่า เชิญพ่อนายกากะมาเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำรับประทานด้วยกัน กากะมหาดเล็กจึงคิดว่า หมอคนนี้แลกำลังเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำรับประทาน คงไม่มีอะไรจะให้โทษ แล้วเคี้ยวมะขามป้อมครึ่งผล และดื่มน้ำรับประทานมะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้นได้ระบายอุจจาระออกมาในที่นั้นเอง

ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เรียนถามชีวกโกมาภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ชีวิตของข้าพเจ้าจะรอดไปได้หรือ?

ชีวกโกมารภัจจ์ ตอบว่า อย่ากลัวเลย พ่อนายกากะ ท่านจักไม่มีอันตราย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราไม่กลับละ แล้วมอบช้างพังภัททวดีแก่นายกากะ เดินทางไปพระนครราชคฤห์ รอนแรมไปโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์แล้วเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ

พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า พ่อนายชีวก เจ้าไม่กลับไปนั้นชื่อว่าได้ทำถูกแล้ว เพราะพระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด จะพึงสั่งให้สำเร็จโทษก็ได้

ครั้นพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวร ทรงส่งราชทูตไปที่สำนักชีวกโกมาภัจจ์ว่า เชิญหมอชีวกมา เราจักให้พร

ชีวกกราบทูตตอบไปว่า ไม่ต้องไปก็ได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงโปรดอนุสรณ์ถึงความดีของข้าพระพุทธเจ้า

ที่น่าสนใจก็คือโรคผอมเหลือง ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลนั้น "หมอชีวกโกมารภัจจ์" รักษาด้วยการใช้ "ไขมัน"จาก "เนยใส" ได้สำเร็จเหมือนกัน !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น