xs
xsm
sm
md
lg

สังคมไทยกับการจัดการศึกษาผ่านคำว่า “บวร”

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

อาจจำกันได้ว่า ย้อนไปไม่นาน มีผู้ผูกคำย่อขึ้นมาจากอุดมการณ์ของการจัดการศึกษาว่า “บวร” คำนี้มีความหมายว่า การจัดการศึกษาของเยาวชนไทยจะได้ผลดีตามที่สังคมไทยต้องการก็ต่อเมื่อ บ้าน (บ) วัด (ว) และโรงเรียน (ร) เข้าใจในจุดมุ่งหมายและกระบวนการของการจัดการศึกษาพร้อมกับเข้ามาร่วมมือกันอย่างแข็งขันในกระบวนการจัดการศึกษา

ขอนำข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับ “บวร” มาเล่า ข้อสังเกตเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการได้เข้าไปคลุกคลีกับชีวิตของประชาชนและการจัดการศึกษาของโรงเรียนชั้นประถมในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกันระหว่างโรงเรียนรัฐบาลที่นั่นกับ “มูลนิธินักอ่านบ้านนา” ซึ่งผมร่วมก่อตั้งขึ้นมาจากรายได้ในการเขียนหนังสือและบทความตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

ประการแรก บ้านในชุมชนรอบวัดและโรงเรียนมีหลากหลายมาก จากบ้านขนาดแบบแทบแมวดิ้นตายไปจนถึงคฤหาสน์ขนาดใหญ่อันโอ่อ่าสง่างาม หากใช้ขนาดและสภาพของบ้านในชุมชนเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ของคนในชุมชนน่าจะสรุปได้ว่ามีทั้งผู้มีรายได้ไม่สูงนัก คนชั้นกลางและผู้มั่งคั่งสูงคละเคล้ากัน การทำมาหากินของผู้คนในชุมชนมีหลากหลายจากเกษตรกรรมจำพวกทำนาและทำสวน รับราชการ ไปจนถึงการค้าขายและบริการด้านต่างๆ อาชีพที่เพิ่มขึ้นจากในสมัยก่อนได้แก่การออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนสว่างเพื่อเดินทางไปทำงานตามโรงงานในย่านอื่นและงานบริการด้านประชุมสัมมนาพร้อมพักผ่อนหย่อนใจที่มักเรียกทับศัพท์ว่ารีสอร์ต อาชีพเหล่านี้ไม่มีในสมัยก่อนหากย้อนไปดูเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

การออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนสว่างและกลับถึงบ้านมืดค่ำทำให้พ่อแม่ต้องปล่อยลูกไว้ให้อยู่กับปู่ย่าตายาย หรือผู้สูงวัยภายในบ้าน ฉะนั้น การที่พ่อแม่จะมีเวลาให้ความใส่ใจในการศึกษาของลูกจึงมักมีจำกัดมาก

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ใหญ่ใส่ใจในการศึกษาของเยาวชนเพียงจำกัดได้แก่โทรทัศน์ซึ่งทุกบ้านมีใช้เนื่องจากไฟฟ้าเข้าไปในชนบทของอำเภอบ้านนาอย่างทั่วถึงแล้ว

นอกจากนั้น บางบ้านยังนิยมส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนนอกชุมชนโดยให้โดยสารไปกับรถยนต์รับจ้างซึ่งมักเป็นรถกระบะที่ใส่หลังคาและม้านั่งเข้าไป ทั้งนี้เพราะพวกเขามองว่าโรงเรียนอื่นดีกว่าโรงเรียนในชุมชนของตน การส่งลูกไปเรียนไกลๆ ทำให้พ่อแม่ไม่รู้จักครูและผู้ที่มีส่วนให้การศึกษาแก่ของลูกของตน การขาดการปฏิสัมพันธ์กันเช่นนี้มีผลกระทบในทางลบต่อการร่วมมือกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน
บ้านของชนชั้นกลางซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จ
ประการที่สอง ความแตกต่างระหว่างอาคารของวัดและของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ มองเห็นได้อย่างแจ้งชัด อาคารของวัดมักมีขนาดใหญ่โต โอ่อ่าและประดับประดาด้วยลวดลายตระการตาซึ่งสร้างด้วยงบประมาณนับสิบล้านบาท นอกจากกุฏิบางส่วนซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของพระไม่กี่รูปแล้ว อาคารของวัดมักปิดไว้และเปิดใช้นานๆ ครั้งในงานเทศกาลและพิธีกรรม ตามริมหลังคาและหน้าจั่วมักมีนกเข้าไปใช้ทำรัง ส่วนอาคารของโรงเรียนมักมีลักษณะตรงข้าม นั่นคือ สร้างแบบแทบจะเรียกว่าขอไปทีและในหลายๆ กรณีตกอยู่ในสภาพรอการซ่อมแซมทั้งที่เด็กนับสิบนับร้อยต้องใช้ทุกวันในช่วงที่โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน

เงินจำนวนมากที่ใช้ไปในการสร้างอาคารวัดมาจากการทอดกฐิน การทอดผ้าป่าและการเรี่ยไร หรือไม่ก็ได้จากการบริจาควันละมากๆ หากวัดใดมีเกจิอาจารย์เป็นสมภารของวัด ส่วนเงินที่ใช้ในการสร้างอาคารเรียนมาจากงบประมาณของรัฐบาล ชาวบ้านมักเมินหน้าหนีหากมีการเรี่ยไรเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนเนื่องจากพวกเขามองว่าการบริจาคให้วัดเท่านั้นจึงจะได้บุญซึ่งจะเป็นปัจจัยในการส่งพวกเขาสู่สวรรค์ หรือไม่ก็ไปเกิดในภพหน้าซึ่งมีกินมีใช้มากกว่าในภพปัจจุบัน

ฉะนั้น ในช่วงเวลากว่า 8 ปีที่มูลนิธินักอ่านบ้านนาเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน ประชาชนในท้องถิ่นโดยทั่วไปไม่สนใจที่จะบริจาคเงินให้มูลนิธิฯ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจนนอกจากกัลยาณมิตรใกล้ชิดของมูลนิธิฯ บางคนเท่านั้นซึ่งร่วมบริจาครวมกันเป็นเงินหลักพันบาททั้งที่มูลนิธิฯ ใช้งบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนปีละกว่าแสนบาท
อาคารของวัดในชนบทกลางทุ่งนา ถ่ายจากสนามหน้าโรงเรียนเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2556
ประการที่สาม ในงานจัดการประกวดการอ่านรายปีที่มูลนิธินักอ่านบ้านนาสนับสนุนให้โรงเรียนในอำเภอบ้านนา 35 แห่งจัดขึ้น 7 ครั้งซึ่งโรงเรียน 7 แห่งผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เราเชิญกรรมการโรงเรียนมาร่วมทุกครั้ง ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจมาร่วมยกเว้นในกรณีที่กรรมการโรงเรียนเป็นกรรมการของมูลนิธิฯ ด้วย

ประการที่สี่ โรงเรียนขนาดเล็กตกอยู่ในสภาพปากกัดเท้าถีบเนื่องจากมีนักเรียนน้อย เมื่อมีนักเรียนน้อยก็ได้งบประมาณน้อยเนื่องจากรัฐบาลให้งบประมาณดำเนินการเป็นรายหัวเด็ก หลายๆ โรงเรียนมีครูแค่ 4 คนซึ่งต้องสอน 8 ชั้นเรียนจากชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่ 6 เมื่อมีครูไม่ครบชั้น ผู้ปกครองก็มักส่งลูกหลานไปเรียนยังโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองเนื่องจากมีรถยนต์รับส่ง การกระทำเช่นนั้นเป็นการซ้ำเติมทั้งโรงเรียนขนาดเล็กให้ไม่มีโอกาสโตและได้ครูเพิ่มและโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีสถานที่จำกัดทำให้เกิดสภาพแออัดเกินกว่าควรจะเป็น

ประการที่ห้า พระแทบไม่มีบทบาทอะไรในด้านการจัดการศึกษานอกจากวัดที่มีเกจิอาจารย์เป็นสมภารซึ่งมักมีรายได้เป็นหลักล้านบาทเป็นประจำ ท่านที่มีเมตตาก็จะแบ่งปันเงินนั้นมาสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนบ้าง ส่วนทางด้านพระทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่มีความแตกฉานด้านหลักพระธรรมเนื่องจากบวชไม่นานหรือไม่ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง ฉะนั้น ท่านจึงไม่สามารถมีบทบาททางการถ่ายทอดหลักธรรมให้เยาวชนได้ กิจส่วนใหญ่ของท่านเป็นการทำพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาตามประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่เก่าก่อน พระบางรูปมีชื่อเสียงในด้านวิชาไสยศาสตร์ส่งผลให้ผู้คนสนใจไปทำบุญและแสวงหาวัตถุมงคลจำนวนมาก พระได้เงินบริจาค หากท่านสนใจในการศึกษา เงินนั้นก็ผ่านมาถึงโรงเรียนบ้าง แต่บางท่านไม่สนใจ เงินจึงถูกนำไปใช้ในทางอื่น
อาคารโรงเรียนถ่ายจากสนามเดียวกัน
อาคารเดียวกันถ่ายจากด้านหลังและบ้านพักครูที่หมดสภาพแล้ว
ประการที่หก โรงเรียนส่วนใหญ่ดูจะไม่ต่างกับวัดในด้านการเน้นพิธีกรรมและภาพลักษณ์ที่จะปรากฏออกมามากกว่าเนื้อหาของการเรียนการสอน ในบางกรณี โรงเรียนอาจไม่เต็มใจที่จะทำพิธีกรรมมากนัก แต่ด้วยความที่สังคมและผู้บริหารการศึกษามองว่ามันสำคัญ โรงเรียนจำเป็นต้องทำแม้จะต้องเสียทั้งเวลาและงบประมาณซึ่งจะมีค่ามากกว่าถ้านำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

ประการที่เจ็ด บริษัทห้างร้านที่มีกิจการมั่นคงและสนใจในการทำกิจกรรมช่วยสังคมที่เรียกกันว่า CSR นั้นยังสนใจเข้าไปช่วยการศึกษาของเยาวชนเพียงจำกัดโดยเฉพาะในชนบทที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าในเมือง ส่วนทางโรงเรียนเองก็ไม่รู้ลู่ทางว่าจะไปขอความช่วยเหลืออย่างไรจากบริษัทห้างร้านที่มีงบประมาณช่วยสังคม

โดยสรุป การผูกคำว่า “บวร” ก็เหมือนการผูกคำขวัญอันโก้หรูอื่นๆ และการดำเนินชีวิตของสังคมไทยโดยทั่วไป นั่นคือ เน้นคำขวัญและด้านพิธีกรรมมากกว่าความใส่ใจในด้านเนื้อหาที่มีค่าจริงๆ การใช้หลัก “บวร” ไม่มีความคืบหน้าซึ่งยืนยันข้อสังเกตที่ว่าสังคมไทยนั้นทันสมัยแต่แทบไม่พัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น