เมื่อพูดถึงการทำความดี การมีจิตอาสา หรือมีจิตสาธารณะ คนทั่วไปมักจะนึกถึงการไปออกค่ายต่างจังหวัด หรือต้องไปลุยสมบุกสมบันเพื่อทำประโยชน์อะไรสักอย่างแก่สังคมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ แม้ใจจะอยากร่วมด้วยช่วยกันขนาดไหน ก็คงต้องโบกมือบ๊ายบาย เพราะไม่มีเวลาว่างพอจะไปร่วมกิจกรรม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรมากมายถึงขนาดนั้น แต่หลายคนคงยังคิดไม่ออกว่า เวลาว่างของฉันเพียง 1-2 ชั่วโมงจะไปทำอะไรเพื่อใครให้เป็นประโยชน์ในสังคมได้ หากใครหลายๆ คนที่ต้องการไอเดียไปทำประโยชน์เพื่อสังคม งาน “คนไทยขอมือหน่อย คนละไม้ คนละมือ เพื่อสังคมน่าอยู่” มีคำตอบสำหรับทุกคน
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้คนจำนวนมากอยากทำอะไรเพื่อสังคมแต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร งานคนไทยขอมือหน่อยฯ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยากทำงานเพื่อสังคมได้มาเรียนรู้แนวคิดจากองค์กรพัฒนาสังคมต่างๆ ถึง 200 องค์กร เพื่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจ ว่า ทุกคนก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องออกไปทำที่ต่างจังหวัดก็สามารถทำได้
“ภายในงานจะมีการเปิดรับอาสาสมัคร ทั้งสำหรับผู้ที่มีเวลาว่างตั้งแต่ 1-2 ชั่วโมง ไปจนถึงมีเวลาเป็นเดือนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งผู้ที่มีเวลาน้อยแต่อยากทำงานเพื่อสังคม สสส.ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการเข้าถึงงานอาสาด้วยการเปิด “ธนาคารจิตอาสา (TIMEBANK)” เพื่อเพิ่มช่องทางให้แก่ประชาชนที่สนใจทำงานช่วยเหลือสังคม โดย สสส.จะแมทช์ให้ผู้มีจิตอาสาได้เจอกับองค์กรพัฒนาสังคมที่เป็นเครือข่าย”
นับว่างานคนไทยขอมือหน่อยฯ เป็นเทศกาลรวบรวมองค์กรพัฒนาสังคมครั้งแรกที่ใหญ่ที่สุดของไทย สอดคล้องกับผลสำรวจคุณสมบัติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย คือ มีน้ำใจ ใจกว้าง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่ง ทพ.กฤษดา บอกว่า สสส.เองก็พยายามจะผลักดันและปลูกฝังสังคมไทยให้เป็นสังคมจิตอาสา โดยการปลูกฝังแนวคิด “พลเมืองอาสา (Active Citizen)” ให้แก่ประชาชน อย่างการเปิดธนาคารจิตอาสา ล่าสุดพบว่า มีประชาชนมาร่วมลงทะเบียนฝากจำนวนเวลาที่อยากทำงานอาสาสมัครเกือบ 60,000 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีประชาชนมาร่วมโครงการกว่า 100,000 คน และร่วมเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม
ทพ.กฤษดา กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญ งานดังกล่าวต้องจัดทำต่อเนื่องทุกปี จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นจิตอาสาในประชาชน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมไทยไปสู่ทางที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้เพื่อให้สังคมดีขึ้นก็ถือว่าได้ทำเพื่อสังคมแล้ว
สอดคล้องกับ นายธวัชชัย แสงธรรมชัย ครีเอทีฟภาคสังคมที่รู้จักกันดีในการทำการ์ตูนแอนิเมชัน “รู้ สู้ Flood” กลุ่มอาสาสมัครสู้น้ำท่วม ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมแบบเข้าใจง่าย น่าสนใจ และน่ารัก จนมีผู้ติดตามมากกว่าแสนคน ได้สะท้อนมุมมองการทำงานเพื่อสังคม ว่า ทุกคนสามารถทำงานเพื่อสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ที่ไหนก็ตาม ขอเพียงรู้ความสามารถของตนเอง รู้ว่าสังคมของตนเองกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร แล้วลงมือช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ก็ถือว่าเป็นการทำเพื่อสังคมแล้ว การทำงานเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องทำมาก แต่ขอเพียงทำด้วยความตั้งใจ จริงใจ ลงมือแก้ปัญหาอย่างเข้าใจด้วยความสามารถที่เรามี ก็ถือว่าเป็นการช่วยสังคมให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง
“อย่างช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ผมก็ไม่ได้เป็นผู้ชายที่มีเรี่ยวแรงมากขนาดไปช่วยขนกระสอบทรายกั้นน้ำ แต่ผมมีความสามารถในการทำโฆษณา เราก็นำความสามารถที่เรามีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำการ์ตูนแอนิเมชันนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมให้เข้าใจง่าย ลดความตื่นตระหนก ให้ประชาชนมีสติ พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น นี่ก็ถือเป็นการทำงานเพื่อสังคมรูปแบบหนึ่งตามความสามารถที่มี”
กรณีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคม แม้จะมีเวลาน้อยเพียงใดก็ตาม นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานการจัดงานคนไทยขอมือหน่อยฯ จึงขอเชิญชวนให้คนไทยที่มีเมล็ดพันธุ์แห่งการให้และความรัก มาร่วมชอปปิ้งในตลาดนัดจิตอาสาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดขึ้นที่ลานศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 2-3 มี.ค.2556 เชื่อว่าผู้ที่อยากทำงานเพื่อสังคมแต่ขาดไอเดีย จะได้แรงบันดาลใจกลับไปประยุกต์ใช้อย่างแน่นอน!