xs
xsm
sm
md
lg

ส่อล้มเมล์เอ็นจีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "กิตติรัตน์" ส่งสัญญาณล้มกระดานรถเมล์เอ็นจีวี 3,000 คันจากประเทศจีน เหตุไม่คุ้ม เผยไอเดียหลังร่วมคณะนายกฯ ดูงานรถโดยสารสาธารณะในสวีเดน พบใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 ทั้งๆ ที่สวีเดนต้องนำเข้าเอทานอล ส่วนไทยพร้อมมีทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ประกาศเดินหน้าเอฟทีเอไทย-อียู คาด 1 ปีเสร็จ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยระหว่างร่วมคณะเดินทางเยือนประเทศสวีเดนและเบลเยียมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า หลังจากที่ได้ดูงานด้านพลังงานทดแทนของประเทศสวีเดนแล้ว มีความสนใจในเรื่องการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์โดยสารสาธารณะ โดยสวีเดนแตกต่างจากประเทศไทยที่ยังใช้ก๊าซเอ็นจีวีกันอยู่เพราะราคาถูกกว่าเนื่องจากได้รับการอุดหนุนราคา ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้นประเทศไทยน่าจะมีทางเลือกจากการใช้เครื่องยนต์โดยสารสาธารณะที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ขยับมาใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 เพราะประเทศไทยปลูกพืชพลังงานมาผลิตเป็นเอทานอลเองได้
"เราอยากลดต้นทุนลงไปก็วางแผนจะซื้อรถเมล์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีทั้งที่รู้กันดีว่า ก๊าซเอ็นจีวีเหลือน้อยและมีวันหมดไป ปริมาณมีไม่เพียงพอ และถ้ายิ่งใช้เพิ่มขึ้นก็ต้องนำเข้าอยู่ดี สวีเดนที่ปลูกพืชพลังงานเองไม่ได้ต้องนำเข้าเอทานอลจากบราซิล ขณะที่การใช้เอทานอลมาผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ ประเทศไทยมีพืชพลังงานที่ผลิตเองได้ทั้งจากอ้อยและมันสำปะหลัง"
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 ยังสามารถช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นด้วย เพราะการกำหนดราคาค่าโดยสารรถประจำทาง สามารถคำนวณกลับไปเป็นราคาพลังงานได้ สามารถบอกได้เลยว่าจะรับซื้อพืชพลังงานได้ในราคาไหนเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้

***เดินหน้าเอฟทีเอไทย-อียู 1ปีเสร็จ
นายกิตติรัตน์ยังกล่าวในเรื่องความคืบหน้าเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ว่า หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 55 มาแล้ว ครม.ก็ได้ตั้ง นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจา ส่วนประเด็นที่มีภาคประชาคมกังวลอย่างเช่นเรื่องแอลกฮอล์ หรือเรื่องยา ก็มีการทำความเข้าใจแล้วว่าทางรัฐบาลจะไม่นำเรื่องเหล่านี้แลกกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอะไรมา เพราะเรื่องสุขภาพของคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเราก็ให้คำสัญญากับภาคประชาคมไว้ว่าเราจะพบปะกับผู้แทนของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งก่อนและหลังการเจรจาแต่ละรอบ เพื่อให้ได้ทราบถึงว่าเราไปมีความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกันมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
การประชุมครั้งแรกจะเกิดขึ้นช่วงเดือน พ.ค.ที่เมืองบรัสเซล หลังจากนั้น จะมีการประชุมหารือสลับที่กัน อย่างน้อยๆ ไตรมาสละ 1 ครั้ง เพราะฉะนั้นจะมีประชุมที่ กทม.ด้วย เชื่อว่าน่าจะใช้เวลาปีเศษๆ กว่าจะได้ข้อสรุป สุดท้ายและนำกลับไปของความเห็นชอบของ ครม.ก่อนที่จะนำเข้าสู่สภาต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น