xs
xsm
sm
md
lg

วิธีชนะมิตรและจูงใจคน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อผมเป็นเด็ก หนังสือที่มีคนนิยมอ่านกันมากคือ หนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ เกี่ยวกับการสร้างตนเองและสร้างอนาคต ในยุคนั้นมีหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองออกมามากมาย หนังสือฝรั่งที่มีชื่อและคุณอาษา ขอจิตเมตต์ แปลเป็นไทย เป็นหนังสือเกี่ยวกับการผูกมิตร และความสามารถในการชักจูงใจของ Dale Carnegie

Dale Carnegie เกิดเมื่อ ค.ศ. 1888 ในครอบครัวชาวนาที่ยากจน แต่เขาก็สามารถเรียนจนจบวิทยาลัยครู หลังจากนั้นก็สนใจในการฝึกการพูด และได้เข้าแข่งขันประกวดสุนทรพจน์ จนได้รับรางวัลมากมาย ทีแรกเขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับการพูดในที่สาธารณะก่อน ต่อมาจึงเขียนหนังสือที่มียอดขายอันดับหนึ่งคือ เรื่อง How to Win Friends and Influence People ในปี ค.ศ. 1936

Carnegie เห็นว่า การวิจารณ์เป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ ที่จริงการวิจารณ์ถือว่าเป็นวิธีการที่แสวงหาข้อยุติที่ดีในทัศนะของนักคิดกรีก ดังจะเห็นได้จากงานเขียนของโสกราตีสที่ค้นหาข้อยุติด้วยการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดอารยธรรมตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลจากนักคิดกรีกโบราณ จึงเห็นว่าการโต้เถียง และการวิพากษ์วิจารณ์เป็นของดี และเป็นสิ่งจำเป็นในการคิดและการทำงาน สำหรับ Carnegie แล้วเขาเห็นว่าการวิจารณ์ติฉินผู้อื่น ไม่ควรนำมาใช้ เพราะไม่ใช่วิธีการที่ดีในการชักจูงใจคนให้คล้อยตาม Carnegie แนะนำให้ใช้การควบคุมตนเอง ความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัย ที่สำคัญก็คือ เราควรพยายามเข้าใจความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ

ในการชักจูงใจผู้อื่น (Carnegie เคยเป็นคนขายของมาก่อน) และบรรลุถึงเป้าหมายที่เราต้องการ เขาเห็นว่าคนเราส่วนใหญ่มักสนใจในเรื่องของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้คนเกิดแรงขับดันในด้านดีหรือด้านร้ายก็ได้

Carnegie แนะว่า หากเราต้องการสร้างมิตร และหว่านล้อมจูงใจคนได้นั้น เราจะต้องทำ 6 อย่างคือ

1. แสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราสนใจเขาจริงๆ

2. มีความสุขและมีความคิดด้านบวกเสมอ

3. จำไว้ว่าคนเราชอบฟังเรื่องของตัวเขาเอง

4. ฟังผู้อื่น และฝึกทักษะการฟัง

5. พูดถึงความสนใจ (และผลประโยชน์) ของผู้อื่นมากกว่าของเรา

6. ให้ผู้อื่นเห็นว่าเรามีความจริงใจ และเขามีความสำคัญ

นอกจากนี้ก็มีวิธีการ 12 วิธีที่จะทำให้คนชอบพอเราคือ

1. พยายามทำให้เกิดสภาพการณ์ที่ดีที่สุด โดยหลีกเลี่ยงการถกเถียง

2. ฟังผู้อื่นเสมอ และอย่าบอกว่าเขาผิด

3. หากเราผิด ก็ยอมรับว่าผิด

4. แสดงความเป็นมิตร

5. พูดในสิ่งที่คนอื่นเห็นด้วย

6. ปล่อยให้ผู้อื่นพูดแทนที่เราจะเป็นฝ่ายพูด

7. แสดงให้คนอื่นเห็นว่า ความคิดนั้นเป็นของเขา

8. เห็นประเด็นของผู้อื่น

9. แสดงความเข้าอกเข้าใจในความคิด และความปรารถนาของผู้อื่น

10. พยายามทำให้ความคิดของเรามีความตื่นเต้นเร้าใจ

11. เรียกร้องให้เห็นความดีงามของผู้อื่น

12. สิ้นสุดการสนทนาด้วยการท้าทาย

นอกจากนี้ยังมีวิธีการเปลี่ยนใจคนโดยไม่ให้เขารู้สึกต่อต้านอีก 9 วิธีคือ

1. เริ่มด้วยการสรรเสริญ และแสดงความพึงพอใจ

2. ดึงความสนใจในความผิดพลาดของเขาอย่างช้าๆ

3. ยอมรับว่าตัวเราก็ผิดพลาด และคุยกับผู้อื่นถึงความผิดพลาดของตน

4. อย่าออกคำสั่งตรงๆ แต่ควรตั้งคำถาม

5. อย่าดูแคลนผู้อื่น และทำให้ผู้อื่นมีความภาคภูมิใจ

6. พยายามชมเชยมากๆ และกระตุ้นส่งเสริมเมื่อมีการปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น

7. ให้คนมีชื่อเสียงหรือรักษาชื่อเสียงไว้

8. ส่งเสริมสนับสนุนแสดงให้เขาเห็นว่า งานของเขาแก้ไขได้ไม่ยาก

9. แนะนำในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ และให้เขามีความสุข

Carnegie ยังแนะนำให้คนเราเป็นนักพูดที่ดีอีกด้วย ข้อแนะนำของเขาก็ยังคงเป็นหลักการพูดที่ใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ กล่าวคือ

1. เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์หรือตัวอย่างที่น่าสนใจ

2. แสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏ

3. ถามผู้ฟัง

4. มีการแสดงตัวอย่าง

5. ก่อให้เกิดความฉงนในหมู่ผู้ฟัง

6. สัญญาว่าจะเล่าเรื่องที่ผู้ฟังอยากฟัง

Carnegie บอกว่าอย่าเริ่มต้นการพูดด้วยการออกตัวขอโทษ หรือเล่าเรื่องตลก ในการพูดควรมีการอ้างสถิติข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่าใช้ศัพท์แสงทางเทคนิค หากเป็นการพูดให้คนทั่วไปฟัง ในการพูดพยายามพูดให้เข้าใจ และถ้าจะมีการใส่อารมณ์ด้วยก็ได้ เน้นคำที่สำคัญ และสรุปสิ่งที่พูดไปแล้ว

ฟังดูแล้วคำแนะนำของเขาก็เป็นเรื่องพื้นๆ แต่ถ้าคิดดูให้ดีแล้วก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความปรองดอง และการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ ใครจะนำไปใช้บ้างก็ลองดูนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น