โสภณ องค์การณ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
หลังจากบ่าย 3 โมงวันอาทิตย์ บรรยากาศของคนสนใจเหตุการณ์บ้านเมืองจะหลากหลาย อารมณ์ของคนดีใจ เสียใจ สะใจ ผิดหวัง เฉยๆ รวมทั้งพวกไม่รู้สึกอินังขังขอบต่ออนาคตของกรุงเทพฯ เมื่อรับรู้ว่าใครชนะในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองหลวง
อารมณ์ของผู้อยากใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน พรรคพวก เพื่อนรัก กินข้าว เที่ยวก๊วนเดียวกันต้องแตกร้าวทางความคิด มีเยอะที่ต้องเหม็นหน้ากันเพราะคิดต่างกันในการเลือกคนที่ตัวเองจะกาเบอร์ให้ นอกจากโจมตีกันทางสื่อโซเชียลมีเดีย ยังลุกลามไปถึงการต่อว่าต่อขานทางโทรศัพท์มือถือ ผ่านเพื่อนฝูง และวิธีอื่นๆ
ความร้าวฉานระหว่างมิตร เพื่อนฝูง คนเคยคิดแนวทางเดียวกัน อยู่ในสภาพรุนแรงเกินกว่าจะเยียวยาในหลายกลุ่ม ตัดเป็นตัดตาย หลังจากคบหากันมานาน เพียงยึดมั่นในความเชื่อว่าบุคคล หรือทางเลือกของตัวเองเหนือกว่าของผู้อื่น แต่ละคนมีความเชื่อของตัวเอง แต่มีไม่น้อยเช่นที่ต้องเลือกเพราะจำเป็น หรือตามแห่กับคนอื่นๆ
ความแตกแยกในทางเลือก ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างเหลืองกับแดง หรือผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้เลือกตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งหลัก และผู้สมัครอิสระหน้าใหม่ และคนคุ้นๆ หน้า รวมทั้งไม่ประดับหน้าเดิม! ตัวแทนพรรคเพื่อไทยก็มีคนเสื้อแดง ขี้ข้าบักเหลี่ยมเป็นฐาน นอกนั้นก็เป็นพวกผู้ชื่นชอบนโยบายประชานิยมถมไม่เต็ม พวกขายสิทธิ ขายเสียง
ผมไม่เชื่อว่าคนเหม็นขี้หน้ากันในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ด่ากันอย่างไม่ยั้งปาก ครั้งนี้จะใจกว้างพอที่จะหันหน้ามามองตากันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ หลังจากใส่อารมณ์กันอย่างเต็มที่ แม้จะมีวาทกรรมหรู “ประชาธิปไตย คิดต่างได้ แต่ไม่แตกแยก” มาหลอกตัวเองก็ตาม! คงมีบ้าง ถ้าเลี่ยงกันไม่ได้ เช่นคนในครอบครัวเดียวกัน
ที่ผ่านมาคนครอบครัวเดียวกันยังมีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง! เมื่อต้องอยู่ร่วมกัน ก็หาทางออกโดยไม่พูดเรื่องการเมือง แยกกันดูทีวีคนละเครื่อง ไม่ก้าวก่ายกัน แต่ยังไม่วายเหน็บแนมกันเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ในสภาพต้องเป็นเบี้ยล่าง หรือเสียท่า
ความแตกร้าวทางความคิดและความชอบระหว่างกลุ่มคนเลือกเบอร์ 16 และผู้สมัครอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเคยมีแนวคิดเดียวกัน ครั้งนี้กระจายเป็นวงกว้าง ไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยเห็นหน้ากัน ก็ต้องมาตั้งป้อมเป็นปฏิปักษ์ กล่าวหากันทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทางเฟซบุ๊ก ถึงขั้นลามปาม เลยเถิดข้ามเส้นแบ่งของความเป็นเพื่อน
ที่น่าสังเกตคือ เมื่อฝ่ายหนึ่งเลือกเบอร์ 16 กลุ่มคนเลือกผู้สมัครอิสระจะยกเรื่องในอดีตมาโจมตี บางรายกล่าวหาแบบครอบจักรวาล เช่นน้ำมันพืชขาดแคลนก็โทษคุณชาย สุขุมพันธุ์! ฝ่ายเลือกผู้สมัครอิสระก็ชี้ชวนให้เลือกคนที่ตัวเองชอบ แต่มีไม่กี่รายที่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองจะเลือกผู้สมัครอิสระเบอร์อะไร!
ชัดเจนกว่ากลุ่มอื่นๆ คือพวกที่ชี้ชวนให้เลือกเบอร์ 17 มีน้อยรายที่เสนอเบอร์ 11 เป็นทางเลือก แต่ส่วนใหญ่ไม่กล้าบอกว่าเบอร์อะไร เพียงแต่สุ่มๆ ว่าต้องกล้าเลือกผู้สมัครอิสระ ไม่เอาทั้งควายแดงและแมลงสาบ! ทั้งๆ ที่ผู้สมัครรายอื่นๆ ก็มี เช่นคุณโฆษิต วรัญชัย เมตตา เต็มชำนาญ และรายย่อย รวมทั้งผู้ที่ประกาศหาเสียงแนวท้าทายอย่างอหังการว่า “ถ้าคุณไม่ดีพอ อย่ามาเลือกผม” รายนี้ต้องดูว่ามีคนดีเลือกสักกี่ราย
การพูดชี้ชวนให้ผู้อื่นเลือกตามตัวเองมีหลากหลาย พวกรักกันชอบกันก็ว่าตามกัน บางครอบครัวก็เทยกคะแนนให้เบอร์เดียว! แบบนี้ไม่มีปัญหาข้อขัดแย้ง แต่ครั้งนี้ผู้ประกาศชี้ชวนให้เลือกผู้สมัครอิสระส่วนใหญ่ยังเหนียม ไม่กล้าบอกเบอร์ชัดเจน ไม่สาธยายคุณสมบัติว่าทำไมต้องเลือกคนนั้น บางรายก็เป็นหน้าใหม่ นโยบายฟังแล้วดูดี
ผมได้ยกหลายกรณีในความเห็นเฟซบุ๊คของผมว่า ไม่ว่าจะเลือกใคร มีเหตุผลสำหรับตัวเองอย่างไร แต่ก็หนีจิตสำนึกของตัวเองไม่พ้น และหนีความรับผิดชอบต่อตัวเองไม่ได้! ถ้าไม่รู้สึกรับผิดชอบต่อตัวเอง จะมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมได้หรือ
ผมพูดถึงกรณี The necessary evil (ความชั่วร้ายที่จำเป็น) The lesser of the two evils (ทางเลือกที่เลวน้อยกว่า) และ “บางครั้งต้องยอมทำความเลวเล็กน้อยเพื่อหวังผลดีโดยรวมที่ยิ่งใหญ่กว่า” และ “บางครั้งทำความดีตามความคิดของตัวเอง แต่ส่งผลเลวร้ายมหาศาลต่อส่วนรวม” เป็นข้อเปรียบเทียบ! ผมเชื่อว่าฐานเสียงของพรรคใหญ่ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนไปเลือกผู้สมัครอิสระ และฐานเสียงคือบุคคลต่างจิตต่างใจ
แต่ละคนก็มีความเชื่อ ความคิดของตัวเอง ไม่มีวันจะให้คนอื่นมาชักจูงได้ง่ายๆ เช่นกัน เว้นแต่พวกเลือกเพราะตามแห่แฟชั่น หรือพวกขายเสียงให้นักซื้อซึ่งเสนอราคาสูงสุด เช่นซื้อยกครัว ผลสุดท้ายเลือกเบอร์ที่เสนอซื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกเช่นกัน
มาถึงจุดนี้ ผมยังเชื่อว่า แต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด คนที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ว่าจะมีข้อมูลพร้อม หรือฟังต่อๆ กันมาก็ตาม! สิทธิในคูหากาเบอร์ไม่มีใครบังคับ ยังอ้างได้อีกว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบผลของการตัดสินใจของตัวเอง
นี่แหละเป็นข้อแตกต่างระหว่างคิดตามจิต สิทธิของตัวเอง หรือมีจิตอิสระเพื่อสาธารณะ! ผมเชื่อว่าทุกคนมีความคิดอิสระเพื่อตัวเอง ปลดแอกจากความกลัว การชี้ชวน ชักนำ หรือติดอยู่ในกับดัก! ถ้าสังคมมีแนวคิดการเมืองแบบนี้คงไร้การซื้อเสียงแน่
ผมก็เชื่อเช่นกันว่ามีคนคิดอิสระ แต่มองไกลออกไปเพื่อประเมินผลดีหรือร้ายต่อสาธารณะ นั่นคือการใช้ชีวิต มีจิตร่วม ใช้ทางเลือกเพื่อผู้อื่น แทนการติดกับอยู่กับความอิสระในวงล้อมของความคิดของตัวเอง! เราไม่โทษกัน ถึงจุดสุดท้าย คนส่วนใหญ่มักคิดถึงแต่ตัวเองเสมอ แม้แต่การไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสังคมการเมืองไทย
ผมหวังว่าหลังจากรับรู้ผลเลือกตั้ง จะมีเพียงคำพูดแซวกันเล็กน้อย ยิ้มเจื่อนๆ เฝื่อนๆ อย่าลืมตัว ชี้หน้าด่ากันว่า “เพราะเอ็งนั่นแหละ ทำให้บักเหลี่ยมยึดเมืองหลวงสำเร็จ” ดังนั้น อยากจะฝากคำพูดคุ้นๆ “เราจะเลือกปีศาจที่เรารู้จัก เลือกปีศาจที่เราไม่รู้จัก หรือชื่นชมเลือกไปโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือปีศาจ”
นั่นเพราะ “คนดีไร้รอยตำหนิ” ในการเมืองน้ำเน่านั้น ยังไม่กล้าเสนอตัวครับ! ผู้สมัครทุกราย จาก 2 พรรค และผู้สมัครอิสระ ก็ยังไม่มีใครกล้าประกาศว่าเป็น “คนดี”
ท่านไปรับรองแทนตัวเขาว่าเป็น “คนดี” และชี้ชวนหรือคนอื่นเลือกได้อย่างไร?
ในคูหากาเบอร์ มีแต่ตัวท่านเท่านั้นที่รู้ว่าท่านเลือกใคร! คนที่ต้องรับผลพวงของการตัดสินใจของท่านไม่ใช่เพียงเฉพาะตัวท่าน พวกไม่ไปใช้สิทธิ หรือพวกไร้สิทธิเท่านั้น แต่เป็นผลกระทบทั้งดีและร้ายต่อประชาชนคนร่วมแผ่นดินทั้งประเทศครับ!