xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดนโยบายสาธารณะ : การปฏิรูปทางเลือกทางนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

วิกฤตหนึ่งซึ่งทำสังคมไทยไม่อาจขยับเข้าใกล้ความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางสังคมคือการขาดนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ อันเนื่องมาจากที่ผ่านมา อำนาจการกำหนดนโยบายสาธารณะกระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มเทคโนแครต แม้ต่อมาจะเคลื่อนย้ายมาสู่กลุ่มนักการเมืองซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชนในช่วงหลังรัฐธรรมนูญ 2540 หากแต่ถึงที่สุดแล้วแนวนโยบายสาธารณะก็ยังคงเป็นแบบบนลงล่างและขาดข้อมูลหลักฐานสนับสนุนในการตัดสินใจที่ทำให้นโยบายต่างๆ มีความสมเหตุสมผลทั้งทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคม

สภาวการณ์ที่ประเทศชาติขาดความริเริ่มและต่อเนื่องในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นธรรมทั้งจากสาเหตุของการขาดกระบวนการมีส่วนร่วม (participation) ของประชาชน และขาดข้อมูลสนับสนุนเชิงประจักษ์ (evidence-based) ในการตัดสินใจทำให้มาตรการทางกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ออกมาโดยรัฐตอกย้ำและสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม แม้กระทั่งในนโยบายประชานิยม (populism) ที่ผุดราวดอกเห็ดหน้าฝนทั้งในช่วงก่อนละหลังการเลือกตั้งก็มีเป้าหมายเพียงเพื่อกอบโกยคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าจะขยับช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างระหว่างคนรวยและจน ตลอดจนปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่นำไปสู่ความได้เปรียบทางสังคมจากการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากกว่า ซึ่งส่งผลอย่างชัดแจ้งเป็นรูปธรรมผ่านรายได้ที่แตกต่างกัน โดยความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะสัมพันธ์กับความไม่เป็นธรรมทางด้านต่างๆ ตั้งแต่ระบบสุขภาพ ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการ ไปจนถึงระบบการเมืองการปกครอง

กระบวนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคมที่อย่างน้อยสุดประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย (everyone equal before the law) และสามารถเข้าถึงสิทธิทางอาหาร (right to food) และสิทธิทางสุขภาพ (right to health) ได้ไม่เหลื่อมล้ำกันตามหลักการสิทธิมนุษยชน (human rights) ก็คือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะนับแต่ขั้นตอนของการกำหนดประเด็นปัญหา การริเริ่ม การวิเคราะห์ การสร้างทางเลือก ไปจนถึงการประเมินผลเพื่อจะดำเนินการต่อหรือยุตินโยบาย ภายในขณะเดียวกันก็ต้องใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาเป็นฐานข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในเชิงนโยบายมากขึ้นด้วย

การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายควบคู่กับการเปิดกว้างทางนโยบายโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางนอกจากจะสามารถสร้างนโยบายสาธารณะที่มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยไม่มีผลลัพธ์สุดท้ายคล้ายกับนโยบายประชานิยมได้แล้ว ยังจะทำให้ตลาดนโยบายสาธารณะ (public policy market) ที่เคยเงียบเหงาคับแคบเพราะถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำทางการเมือง เศรษฐกิจ และวิชาการ กลับมาคึกคักจากการเข้าร่วมของประชาชนจนได้ผลผลิต (outcome) ออกมาเป็นนโยบายสาธารณะมากมายให้เลือกสรรที่ถึงแม้จะมีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็คงเป้าหมายเดียวกันคือสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม อีกทั้งยังถมช่องว่างระหว่างผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) กับปัญญาชนนักวิชาการ นักวิจัย และนักกิจกรรมทางสังคมได้อีกด้วย

ตลาดนโยบายสาธารณะจึงเป็นแหล่งรวมของนโยบายทางเลือก (alternative public policy) ที่ถูกใจประชาชน โดยเฉพาะคนข้นแค้นยากจนได้ ไม่ใช่เฉพาะนโยบายประชานิยมที่เป็นสูตรสำเร็จของการสร้างคะแนนเสียงทางการเมืองของพรรคการเมือง เหมือนดังกรณีข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่เสนอให้มีการปฏิรูปการถือครองที่ดินอย่างเร่งด่วนด้วยถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งกร่อนกัดสังคมไทยให้ไม่มีวันเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งถึงที่สุดแล้วถ้าปฏิรูปที่ดินได้ในแนวทางของ คปร.จะทำให้ภาวะ ‘กระจุกตัว’ ของที่ดินที่อยู่ในมือของเจ้าที่ดิน (landlord) ทั้งหลาย ‘กระจาย’ ออกมาสู่สังคมมากขึ้น และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอก็จะได้มีที่ดินไว้ทำมาหากินได้จากการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร การคุ้มครองพื้นที่การเกษตร และการกำหนดการถือครองที่ดินที่เหมาะสม

หรือกระทั่งในนโยบายว่าด้วยการปฏิรูประบบกำกับและควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศไทยในภาพรวมทั้งตลาดส่งออกสินค้าเกษตร และตลาดภายในประเทศทั้งที่เป็นตลาดสดและโมเดิร์นเทรดจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการมีพืชผักปลอดภัยจำหน่าย ภายในเวลาเดียวกันผู้บริโภคไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของโลกเพราะ ‘ของดีมีแต่ส่งออกให้คนต่างชาติบริโภค’ ก็จะได้มีโอกาสได้บริโภคพืชผักที่ไม่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงพิษร้ายแรง เช่น คาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN) เหมือนดังปัจจุบันนี้ที่มีความปลอดภัยน้อยมาก เนื่องจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับนโยบายการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

รวมถึงข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วย 1) การปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 2) การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง 3) การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในกรณีที่ดินและทรัพยากร 4) การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม 5) การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ 6) การสร้างสังคมไทยที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 7) การปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น และ 8) ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม

ครั้งที่สองว่าด้วยข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม คือ 1) การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ : การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้างและการคุ้มครองแรงงาน 2) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ : สู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกลางกับชุมชนท้องถิ่น 3) การปฏิรูประบบเกษตรกรรม : ความมั่นคงเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 4) การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย 5) การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน : การบริหารจัดการที่ดิน และ 6) การปฏิรูปการศึกษา : ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพ

และครั้งที่สามที่จะจัดขึ้นกลางปีนี้ที่จะมีข้อเสนอหลักจากกระบวนฉันทามติ คือ 1) ธรรมนูญภาคประชาชน 2) การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 3) การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน : ความเป็นธรรม สิทธิ และการเข้าถึง 4) การปฏิรูปสื่อ 5) การพัฒนาศักยภาพ : กลไกการทำงานขับเคลื่อนให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทย และ 6) การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมีส่วนร่วมและบูรณาการ

ทั้งนี้ที่สุดแล้วจะประจักษ์ว่าข้อเสนอทางนโยบายในการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมดังที่กล่าวมาข้างต้น จักไม่สามารถพบเจอได้ในนโยบายของพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง อีกทั้งยังไม่อาจคาดหวังว่าพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะรับนำไปพิจารณาหรือนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมถ้าประชาชนไม่เข้าร่วมขบวนขับเคลื่อนด้วยตนเองหรือผลักดันจนเกิดเป็นวาระสาธารณะ (public agenda) ที่รัฐบาลนำไปกำหนดเป็นวาระทางนโยบาย (public agenda) และสื่อมวลชนขานรับเป็นวาระสื่อ (media agenda) ด้วยเห็นคุณประโยชน์ของข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านั้น

กล่าวถึงที่สุดตลาดนโยบายสาธารณะจะเป็นเครื่องมือและกลไกในการสร้าง ‘ทางเลือกทางนโยบายที่มีความเป็นธรรม’ ที่ภายใต้การกำหนดนโยบายแบบเดิมๆ โดยชนชั้นนำหรือกลุ่มทางการที่กอปรด้วยนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไม่สามารถทำได้ ขอเพียงแต่เวลานี้ที่กำลังเกิดความสูญเสียทางการคลังและสังคมจากนโยบายประชานิยม ประชาชนกล้าจะเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นพลเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศไทยร่วมกันโดยเข้าร่วม ‘ซื้อ-ขาย’ นโยบายภายในตลาดนโยบายสาธารณะอย่างคึกคักเพื่อจะทำให้ตลาดนโยบายสาธารณะมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ (perfect competition) ไม่ถูกผูกขาด (monopoly) จากการมีผู้ขายนโยบายน้อยราย (oligopoly) ที่ต่างก็อยู่ภายใต้เสื้อคลุมเดียวกันคือชนชั้นนำที่มุ่งธำรงสถานภาพสังคมของตนเอง (status quo)
กำลังโหลดความคิดเห็น