xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ กทม.จะเลือกใครดี?

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ปีนี้เป็นปีที่ผมหนักใจมากในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.บอกตรงๆ ว่าถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าจะเลือกใครดี แต่ที่ผมไม่เลือกแน่ๆ ก็คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ครับ ส่วนคนอื่นจะเลือกใครนั้นถึงตอนนี้ยังตัดสินใจไม่ได้จริงๆ

ผมไม่เลือกพงศพัศ เพราะเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่มีทักษิณอยู่เบื้องหลัง บอกตรงๆ ครับว่า ทำใจไม่ได้ที่นอกจากพรรคเพื่อไทยจะบริหารประเทศแล้ว เราจะยก กทม.ไปให้พรรคเพื่อไทยบริหารอีก แล้วไม่เห็นด้วยกับแคมเปญไร้รอยต่อของพรรคนี้ เพราะเอาจริงๆ แล้วผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำงานกับ ส.ก.และ ส.ข.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำไป แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ใช้ชี้วัดการตัดสินใจ

แต่ผมก็ยังทำใจไม่ได้เช่นกันที่ถูกหาเสียงด้วยการข่มขู่ว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เพราะตัวเลือกที่เขาเสนอมาให้ผมเลือกแทนนั้น บอกตรงๆ ครับว่า ไม่น่าประทับใจเลย เพียงแต่ถึงตอนนี้ผมยังไม่ตัดใครออกไปจากลิสต์นอกจากพงศพัศคนเดียว ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ ก็ยังไม่เห็นว่ามีใครที่โดดเด่นพอ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับไม่ได้ชี้นำใคร

คิดไปแล้วอาจต้องไปตัดสินใจกันหน้าคูหาเลยทีเดียว ไปดูคะแนนกันโค้งท้ายๆผมอาจจะตัดสินใจเลือกทางเดินที่สามหรือทางเดินที่สี่หรือจำต้องตัดสินเลือกในเชิงยุทธศาสตร์ก็ได้ หรือผมอาจตัดสินใจแบบที่ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล อุปมาอุปไมยไว้ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ของเขาก็ได้ว่า

“ผมอุปมาอุปไมยให้ดู ดีกว่าผมเดินเข้าไปในตลาด มีร้านขายอาหาร 2 ร้าน ร้านหนึ่งขายอาหารแพงคุณภาพไม่สมเลย แล้วก็พูดจาหมาไม่แดก อีกร้านหนึ่งขายอาหารโคตรสกปรกเลย ถ้าผมไม่กินร้านขายอาหารแพงพูดจาหมาไม่แดกแล้ว ผมจะไปกินร้านสกปรกได้ไหม บางคนบอกว่าอย่างน้อยสกปรกหน่อย ก็ยังพูดจาเพราะ และในที่สุดก็ขายไม่แพง ยังดีกว่าร้านที่ขายแพงพูดจาหมาไม่แดก ผมบอกว่า เฮ้ยผมเดินกลับบ้านกินข้าวบ้านได้ไหม กินไข่เจียวธรรมดาๆ ก็ได้ นี่ไงผมขอกลับบ้านไปกินข้าวบ้านผม นี่ล่ะคำตอบคือผมไม่แดกแม่ง 2 ร้าน กูขอกินของกูเอง กูทำไข่เจียวของกูกินเอง กูสบายใจ เข้าใจหรือยัง”

ถ้าจะว่าไปแล้วปีนี้น่าจะเป็นปีที่การเลือกตั้งสูสีมากที่สุด พรรคเพื่อไทยได้คนที่สร้างภาพเก่งเข้ากับจริตของคนไทยและสื่อจะเห็นจากภาพดราม่าขับรถเมล์ แยกขยะ และป้อนข้าวคนแก่ แต่ภาพลักษณ์ของพรรคเป็นรองยิ่งได้แกนนำเสื้อแดงมาช่วยหาเสียงด้วยแล้วคนเขาก็ยังติดตากับเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองไม่ลืม แต่พรรคประชาธิปัตย์มีฐานของพรรคเป็นต่อ แต่เป็นคนเก่าที่คนเขาเห็นฝีไม้ลายมือมาแล้ว ซึ่งถ้ามองจากสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เกือบทุกครั้งผู้ชนะอันดับ 1 จะมีคำแนนทิ้งห่างอันดับ 2 มาก โดยเฉพาะ 4 ครั้งหลังดังต่อไปนี้

เลือกตั้งปี 2543 นายสมัคร สุนทรเวช ได้คะแนนถึง 1,016,076 คะแนน ชนะ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้ 521,184 คะแนน

เลือกตั้งปี 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้คะแนน 991,441 คะแนน ชนะ นางปวีณา หงสกุล ที่ได้ 69,039 คะแนน

เลือกตั้งปี 2551 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ 991,018 คะแนน ชนะ นายประภัสร์ จงสงวน ที่ได้ 543,488 คะแนน

และเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ 934,602 คะแนน ชนะ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่ได้ 611,669 คะแนน

จะเห็นได้ว่าจากการเลือกตั้ง 3-4 ครั้งหลังๆ ฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ที่ 9 แสนคะแนนขึ้นไป (ยกเว้นยุคที่นายสมัครลงผู้ว่าฯ ซึ่งผมมองว่า การตัดสินใจครั้งนั้นของคน กทม.เป็นลักษณะเฉพาะ) ส่วนของพรรคทักษิณ (ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย) จะอยู่ที่ประมาณ 5-6 แสนคะแนน เรียกได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนพรรคที่เหนือกว่า

พรรคประชาธิปัตย์จะรักษาฐานคะแนนของตัวเองที่ 9 แสนขึ้นได้หรือไม่ และพรรคเพื่อไทยจะใช้ความได้เปรียบเพิ่มฐานคะแนนของตนขึ้นมาหรือไม่ โดยมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นคนที่คอยเบียดเอาคะแนนไปจากสองพรรค แต่ถึงวันนี้ก็ยังเชื่อว่ายังไม่มากพอที่จะมาตีตื้นกับ 2 พรรคใหญ่ได้ นอกจากนั้น ยังไม่เห็นวี่แววครับ แม้ คุณสุหฤท สยามวาลา จะมีฐานคะแนนจากคนรุ่นใหม่ก็ตาม

แต่คะแนนที่ได้รับในช่วง 4 ครั้งนั้น คน กทม.ออกมาใช้สิทธิเพียง 50-60% เท่านั้นเอง โดยในปี 2543 มีผู้มาใช้สิทธิ 58.87% ปี 2547 ใช้สิทธิมากหน่อยถึง 62.50% ปี 2551 ใช้สิทธิ 54.18% และปีล่าสุด 2552 ใช้สิทธิเพียง 51.10%

จะเห็นว่า แม้คนกรุงเทพฯ จะเป็นจังหวัดที่มีคนชั้นกลางอยู่มาก และมีการศึกษาที่สูง มีความเข้าใจเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสูง อยู่ใกล้แหล่งข้อมูลข่าวสาร ก็ยังออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยมาก

คนกรุงเทพฯ เป็นคนที่โชคดีนะครับที่มีโอกาสเลือกผู้ว่าฯ เป็นของตัวเอง แต่ผมก็ไม่มั่นใจว่า ผู้ว่าฯ ที่มาจากนักการเมืองกับผู้ว่าฯ ที่ผ่านการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยนั้นอย่างไหนที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่ากัน เพราะนับจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แล้ว ยังไม่มีผู้ว่าฯ คนไหนที่ติดดินและใกล้ชิดกับประชาชนเลย

แต่ถ้ามองจากมุมของนักประชาธิปไตยเขาก็ต้องบอกว่า การเลือกตั้งจากประชาชนสิถึงจะได้ผู้นำของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ประชาธิปไตยของเราก็เป็นเพียงการทำพิธีกรรมแค่ 4 วินาที หลังจากรู้ผลการเลือกตั้งแล้ว คนที่ได้รับการเลือกตั้งก็ลืมประชาชน แล้วใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์เป็นเช่นนี้เสมอไป เขาถึงมีคำคมบอกว่า ถ้าจะรู้ว่าคนคนนั้นเป็นคนดีหรือไม่ ต้องให้เขามีอำนาจ

งบประมาณปีละกว่า 5 หมื่นล้านของ กทม.ทำให้นักการเมืองมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ และใช้เงินจำนวนหลายสิบล้านบาทหรือนับร้อยล้านบาท เพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่มีเงินเดือน 104,330 บาท (เงินเดือน 62,830 บาท เงินเพิ่ม 41,500 บาท) ซึ่งสะท้อนว่า การแข่งขันเพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้แข่งขันกันเพื่อไปทำงานรับใช้ประชาชน แต่แข่งขันกันเพื่อมีโอกาสเข้าไปบริหารงบประมาณจำนวนมหาศาลของ กทม.

การเลือกผู้ว่าฯ กทม.เพื่อหาคนที่คิดว่าจะอุทิศตนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ จึงเป็นเรื่องยากมาก ผมจึงคิดว่าเราทำได้แค่เลือกคนที่คิดว่า คนจะหาประโยชน์น้อยที่สุด ซึ่งบอกตรงๆ ว่าไม่รู้ว่ามีไหม เพราะไม่ว่าใครมีอำนาจผลประโยชน์ก็วิ่งเข้าหา

แต่ผมก็ยังอยากเห็นคน กทม.สัก 70-80% ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตัวเอง เราคงไม่ได้ผู้ว่าฯ ที่ดีเลิศแน่ (เพราะดูจากรายชื่อผู้สมัครแล้วก็มองไม่เห็น) อย่างน้อยก็คิดเสียว่า เรามีโอกาสดีกว่าจังหวัดอื่นที่สามารถเลือกคนมาดูแลความเป็นอยู่ของเราใน กทม.แม้ว่าผู้ว่าฯ กทม.จะไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมาย

ยังมีเวลาอีกเดือนกว่าๆ ครับว่า ยังมีเวลาที่คน กทม.จะตัดสินใจเลือกใคร แต่ช่วยกันออกมาใช้สิทธิ์เยอะๆ เถอะครับ ถ้าเราโหยหาประชาธิปไตย เราต้องไปเลือกตั้ง แม้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

สำหรับผมแล้วก็รอดูปัจจัยแวดล้อม และค่อยตัดสินใจเอาช่วงใกล้ๆ วันเลือกตั้งนั่นแหละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น