xs
xsm
sm
md
lg

เวทีสาธารณะ: กระบวนการแสวงหาทางออกจากวิกฤตสังคมไทยร่วมกัน

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การแสวงหาทางออกของวิกฤตสังคมไทยในช่วงที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองและมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยสูงขึ้นถึงแม้จะยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ในระดับของความคิดความเชื่อเกี่ยวกับเนื้อหาและรูปแบบของการเมืองการปกครองนั้นนับเป็น ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ที่ประเทศไทยต้องคว้าไว้เพื่อจะได้สามารถขจัดปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและเท่าเทียมในประชาชน โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงทรัพยากรการเมือง ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรธรรมชาติ

ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่มีประชาชนเป็น ‘กลจักรขับเคลื่อน’ นั้นไม่เพียงส่งผลสะเทือนทางโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองจนเกิดการปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจเท่านั้น ทว่ายังเกิดขบวนการทางสังคมที่มีกระบวนการแสวงหาทางออกจากวิกฤตขึ้นมากมายภายใต้ความปรารถนาเดียวกันคือความต้องการจะสถาปนาสังคมไทยที่มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมขึ้นในสังคมไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาเหล่านั้นก็มักมีที่มาจากฐานคิด ทัศนะ และอุดมการณ์มากกว่าความรู้ที่ได้จากการลงมือค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริง ยิ่งกว่านั้นยังมักยึดถือตนเองและความต้องการของตนเองเป็นศูนย์กลางของการแกไขปัญหาโดยจะอคติกับทัศนะที่แตกต่างออกไปจากตนถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ในการแก้ไขวิกฤตได้มากกว่าก็ตาม กระบวนการเช่นนี้นอกจากจะผสานคนเข้าร่วมเพื่อค้นคิดและค้นพบทางออกจากวิกฤตร่วมกันไม่ได้แล้ว ยังทำให้ตัวแปรที่เป็นปัญหาของสังคมไทยไม่ได้ถูกพูดถึงครบถ้วนด้วย

วิกฤตความไม่เป็นธรรมที่ทำสังคมไทยท่วมท้นด้วยความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่ตัวแปรต้นและตัวแปรตามหลายฝ่ายวาดภาพ โดยเฉพาะการมุ่งแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศในฐานะตัวแปรต้นที่จะทำให้ตัวแปรตามหรือปัญหาและวิกฤตสังคมไทยทุกอย่างยุติสิ้นสุดลง ด้วยข้อเท็จจริงคือแต่ละวิกฤตหรือปัญหามีตัวแปรสอดแทรกและตัวแปรแทรกซ้อนจำนวนมากที่ควบคุมไม่ได้เพราะทำไม่ได้หรือเพราะไม่รู้ว่ามีอยู่

ทางออกของสังคมไทยจากวิกฤตความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำคือการสร้างกระบวนการสาธารณะที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการระบุตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ตัวแปรสอดแทรก และตัวแปรแทรกซ้อน ตลอดจนได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างอิสระจนเกิดเป็นตลาดนโยบายสาธารณะ (public policy market) ที่มีสินค้าเป็นนโยบายสาธารณะให้เลือกสรรจำนวนมากจากเดิมที่เคยคับแคบอยู่แต่ในกลุ่มกุมอำนาจกำหนดนโยบายแบบทางการของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมถึงนักเทคโนแครต นักวิชาการ และเอ็นจีโอบางส่วนที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับการเมือง

กระบวนการแสวงหาทางออกจากวิกฤตสังคมไทยจึงจำเป็นต้องสร้างเวทีสาธารณะ (public sphere) ขึ้นจำนวนมากเท่าที่จะมากได้เพื่อให้เสียงที่ไม่เคยส่งเสียงและเสียงที่ไม่มีเสียง (voiceless) ได้เปล่งออกมาเพื่อที่จะสามารถลดพลังเสียงที่ครอบงำทิศทางและกำหนดทางออกของสังคมไทยให้ไปผิดทิศทางหรือวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะเมื่อวิกฤตนั้นเกี่ยวเนื่องกับอำนาจที่สร้างความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมที่ถูกผูกขาดอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มักเสนอแนวทางการแก้ไขวิกฤตบนฐานคิดเรื่องการธำรงรักษาสถานภาพทางสังคม (status quo) ของกลุ่มตนเองไว้ ดังเช่นเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่ไม่เพียงมุ่งปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ทางสังคมให้เท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ยังผลิตมติปฏิรูปประเทศไทยแบบมีส่วนร่วมมานานต่อเนื่องถึงปีที่ 3 แล้ว โดยปีนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยดังนี้

1) ธรรมนูญภาคประชาชน 2) การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 3) การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน : ความเป็นธรรม สิทธิ และการเข้าถึง 4) การปฏิรูปสื่อ 5) การพัฒนาศักยภาพ : กลไกการทำงานขับเคลื่อนให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทย และ 6) การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมีส่วนร่วมและบูรณาการ ซึ่งทั้ง 6 ประเด็นล้วนแล้วแต่เป็นทางออกของสังคมไทยที่ถูกความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมถาโถมได้ โดยแต่ละข้อเสนอต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมที่เข้มข้นของภาคประชาชน

การแสวงหาทางออกของสังคมไทยโดยใช้กระบวนการเวทีสาธารณะที่ขยายตัวทั้งทางปริมาณและคุณภาพท่ามกลางบรรยากาศการตื่นตัวของประชาชนที่ตระหนักในพลังอำนาจของตนเอง ทั้งในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยและเจ้าของนโยบายสาธารณะจะเป็นการ ‘ท้าทาย’ ครั้งใหญ่ในสังคมไทยที่มีประเด็นเคลื่อนไหวกว้างไกลกว่าการเมืองและเศรษฐกิจ แต่รวมมิติทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายสาธารณะที่กระทบรูปแบบและคุณภาพชีวิตของประชาชน

ความเท่าเทียมเสมอภาคกันของเสียงที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถกเถียงถกแถลงกันด้วยเหตุผลและข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการปฏิรูปประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยข้อเสนอที่ได้จากกระบวนการเช่นนี้มีคุณประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยได้มากเมื่อเทียบกับข้อเสนอทางนโยบายของฝ่ายการเมืองที่มุ่งการได้มาซึ่งของเสียงประชาชนช่วงเลือกตั้งและรักษาฐานคะแนนเมื่อผ่านช่วงเลือกตั้งไปแล้วเท่านั้น ดังการปรากฏของนโยบายประชานิยม (populism) จำนวนมากที่ไม่ได้แตะต้องวิกฤตเชิงโครงสร้างสังคมไทยแต่อย่างใด

ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยนั้น จึงมีประชาชนเป็นพลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับของการกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมไปจนถึงการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

‘พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย’ จึงเป็นทั้งหัวใจของการปฏิรูปประเทศไทยและการจัดประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 ที่จะมีขึ้นกลางปีนี้ ด้วยกลไกที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนและพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (active citizen) จะทำให้แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยไม่เพียงได้รับความเป็นธรรมจากสังคมเหนืออำนาจทางการเมืองเท่านั้น ทว่าถึงที่สุดแล้วยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในผู้เล่นหลักสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างเช่นสื่อมวลชน (mass media) ด้วย โดยผลจากการแสวงหาทางออกของเวทีสาธารณะนั้นจะต้องได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนและช่องทางอื่นๆ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

มากกว่านั้นก็ต้องทำให้ตัวแปรในสังคมที่มีมากมายหลายหลากและมีความสัมพันธ์ที่ยึดโยงกันอย่างสลับซับซ้อนไม่ถูกลดทอนจนเหลือเพียงแต่แค่แก้กฎหมายสูงสุดของประเทศไทยในฐานะ ‘ตัวแปรต้น’ และเป็นทางออกเดียวของวิกฤตการณ์ที่กำลังกัดกร่อนสังคมไทยอยู่ขณะนี้ ที่สำคัญต้องทำให้เป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยในการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นวาระทางนโยบายสาธารณะ (public policy agenda) ของภาคการเมืองด้วย โดยการผลักดันและขับเคลื่อนเวทีสาธารณะแบบมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใดให้ได้มีพื้นที่เสนอปัญหาและเสนอแนะข้อเสนอเชิงนโยบาย

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยพลังประชาชนจึงเป็นพลังหลักในการสร้างวาระสาธารณะ (public agenda) อันจะนำไปสู่การกำหนดวาระทางนโยบาย (policy agenda) ที่มีแรงหนุนเสริมสำคัญจากสื่อที่นำประเด็น ‘การปฏิรูปประเทศไทย’ มาเป็นวาระสื่อ (media agenda) เพราะวาระสื่อจะสร้างวาระสาธารณะได้ ในขณะเดียวกันวาระสาธารณะก็จะผลักดันเป็นวาระทางนโยบายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น