xs
xsm
sm
md
lg

เหนือเมฆ 2 : คนเกินคนปนความจริงที่บางคนรับไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

อีกครั้งหนึ่งที่ทีวีศ๊ช่อง 3 ตกเป็นข่าวในทางลบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอันเนื่องมาจากได้สั่งยุติการแพร่ภาพละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ตอนมือปราบจอมขมังเวทย์ โดยอ้างว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม ขัดต่อกฎหมาย กทช. มาตรา 37

ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มีทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง และแม้กระทั่งแม่ค้าซึ่งเป็นแฟนละครเรื่องนี้ และประเด็นของการวิพากษ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ผู้บริหารช่อง 3 เอาตัวรอดจากภัยอันอาจเกิดจากนักการเมืองซึ่งมีอำนาจสั่งการอยู่ในขณะนี้ และส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าเนื้อหาของละครเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายคุกคามระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเป็นละครส่งเสริมศีลธรรม และยกระดับคุณภาพนักการเมืองด้วยซ้ำไป

อะไรน่าจะเป็นมูลเหตุอันแท้จริงของการสั่งห้ามการแพร่ภาพตอนจบของละครเรื่องนี้

เพื่อจะตอบปัญหาในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอนำท่านผู้อ่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับประเภทหรือชนิดของวรรณกรรม หรืองานเขียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นฐานในการวิเคราะห์ละครเรื่องนี้ว่าควรค่าแก่การดูหรือไม่ควรค่าแก่การดูตามทัศนะของผู้บริหารช่อง 3 หรือไม่ประการใด

งานเขียนหรืองานประพันธ์ของทุกชาติทุกภาษาจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ร้อยแก้ว คือการเขียนด้วยการใช้ภาษาพูดปกติ ไม่มีกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์มาบังคับ ดังที่นักปราชญ์ทางวรรณกรรมตะวันตกท่านหนึ่งบอกว่าเป็นเหมือนการเดิน (Prose is Walking) ส่วนจะมีจินตนาการกว้างไกลหรือสูงส่งหรือไม่นั้นมิใช่ลักษณะสำคัญของวรรณกรรมประเภทนี้ แต่ถ้ามีจินตนาการก็จะถือได้ว่ามีลักษณะพิเศษกว่าร้อยแก้วธรรมดาทั่วไป หรือมีนักประพันธ์ทางวรรณกรรมเรียกว่า ร้อยแก้วในร้อยกรอง Poetry in Prose)

แต่คุณสมบัติประการหนึ่งที่งานเขียนประเภทนี้จะต้องมี และถือว่าเป็นลักษณะสำคัญก็คือ ถ้าเป็นนวนิยายก็จะต้องมีบทสนทนาที่คมคาย สอดแทรกคติธรรมอันเป็นปรัชญาสอนใจให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับบทสันทนาการ

ในอดีตก่อนที่ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลทางวรรณกรรมจากตะวันตก วรรณกรรมส่วนใหญ่ของไทยจะเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์บ้าง อิงคำสอนทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาดกต่างๆ บ้าง ยังไม่มีนวนิยายประเภทสมจริง เช่น นวนิยายชีวิตที่เขียนจากเรื่องจริงของคนเพื่อสะท้อนความดีและความเลวอย่างตรงไปตรงมา

แต่ครั้นได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ถ้าจำไม่ผิดเริ่มขึ้นในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการนำเครื่องพิมพ์เข้ามา และนวนิยายที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในรูปสิ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเรียกว่า ลักวิทยา คือเป็นเรื่องที่แปลจากของฝรั่งมาเป็นภาษาไทย และต่อมาจึงได้เกิดนวนิยายแนวนี้ขึ้น ดังเช่นงานเขียนของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เรื่องครอบจักรวาล เป็นต้น

ไม่ว่าจะมีรูปแบบและเนื้อหาเป็นแบบใด ผลงานทางด้านวรรณกรรมในยุคใด ผู้ประพันธ์จะนำเอาภาวะแวดล้อมในยุคของตนเองมาสอดใส่เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเสมอ ดังนั้น จึงพูดได้ว่างานเขียนในยุคใดจะสะท้อนภาวะแวดล้อมทางสังคมในยุคนั้นเสมอ

2. ร้อยกรอง คือการเขียนด้วยภาษากวีที่มีกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นข้อบังคับตายตัวในแต่ละชนิดของประเภทคำประพันธ์ เช่น โคลงสี่สุภาพก็มีข้อบังคับเสียงเอก เสียงโท และเอกโทษ โทโทษ คือคำที่ไม่มีวรรณยุกต์ แต่มีเสียงเอกและโท เป็นต้น

นอกจากมีข้อบังคับเรื่องเสียงแล้ว ร้อยกรองจะต้องมีจินตนาการสูงส่งเหนือคำประพันธ์ที่เรียกว่า ร้อยแก้วด้วย ถ้าไม่มีจินตนาการ นักปราชญ์ทางวรรรณกรรมเรียกคำกวีประเภทนี้ว่า Dry Bones คือกระดูกแห้งไม่มีสีสันให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินตาม

นอกจากแบ่งประเภทงานประพันธ์เป็น 2 รูปแบบโดยอาศัยการใช้คำแล้ว ยังมีการแบ่งตามเนื้อหาดังนี้

1. เสาวรจนี คือเป็นงานเขียนแบบบรรยายโวหาร บรรยายลักษณะของสรรพสิ่งโดยการใช้ศิลปะปรุงแต่งถ้อยคำ

2. นารีปราโมทย์ ได้แก่การเขียนบทเกี้ยวพาราสีระหว่างพระเอก นางเอก

3. พิโรธวาทัง ได้แก่การแสดงความเกรี้ยวกราด หรือบทโกรธ ตีหน้ายักษ์หน้ามารเข้าใส่กัน

4. สัลลาปังคพิสัย ได้แก่บทพิไรรำพันเศร้าโศก โศกา กันแสง

นอกจากแบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามลักษณะของการแสดงออกแล้ว ยังมีการแบ่งออกตามประเภทของเนื้อหาที่นำมาเป็นโครงเรื่องอีก 4 ประเภทด้วย โดยเฉพาะกับงานประพันธ์ประเภทกวี คือ

1. สุตกวี แต่งโดยนำเรื่องที่ได้ฟังมา

2. อรรถกวี แต่งโดยนำเรื่องเก่ามาอธิบาย ขยายความ

3. ปฏิภาณกวี แต่งโดยอาศัยเหตุที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

4. จินตกวี แต่งโดยจินตนาการขึ้นมาเอง

เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านประเภทของวรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรองแล้ว ก็พอจะเปรียบเทียบเนื้อหาของละครเหนือเมฆ 2 ได้ว่าเป็นเพียงจินตนาการของผู้ประพันธ์บวกกับเหตุการณ์แวดล้อมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคดโกงของนักการเมืองที่กระทำไปด้วยความเหลิงในอำนาจ และไม่เกรงกลัวกฎหมาย และกฎแห่งกรรมแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่ทางช่อง 3 บอกว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมนั้น จะต้องถามกลับไปว่าไม่เหมาะสมสำหรับใคร และในประเด็นใดบ้าง

แต่เท่าที่ดูแล้ว ในฐานะผู้เขียนที่พอจะมีความรู้ในเรื่องวรรณกรรมก็บอกได้ว่าเป็นงานเขียนปกติทั่วไปของนักประพันธ์ที่ต้องการจรรโลงศีลธรรมอันดี และต้องการให้นักการเมืองเข้ามารับใช้สังคมด้วยการทำดี แต่มิใช่เพื่อตนเอง และครอบครัว แต่ทว่าเพื่อสังคมโดยรวม

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การสั่งยุติละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของความไม่ถูกใจเพราะเป็นคนกลัวความถูกต้องนั่นเอง ส่วนใครเป็นคนกลัวนั้นทุกคนในสังคมคงจะหาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะเพียงพลิกปูมการเมืองในระยะ 5 ปีย้อนหลังก็คงได้คำตอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น